KTB ที่ไม่เหมือนเดิม

ชัดเจนว่าธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ได้รับหนังสือจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 55.07% กรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งผลการพิจารณาว่า กองทุนฟื้นฟูฯ และ KTB ไม่มีลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชน ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ตามบทนิยามว่า “รัฐวิสาหกิจ” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

ชัดเจนว่าธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ได้รับหนังสือจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 55.07% กรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งผลการพิจารณาว่า กองทุนฟื้นฟูฯ และ KTB ไม่มีลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชน ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ตามบทนิยามว่า รัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561

กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก กล่าวคือ เรื่องการบริหารจัดการภายใน อาจต้องมีโอกาสต้องมีการเปลี่ยนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะเป็นการเปลี่ยนเชิงบวกหรือเชิงลบ มันอาจดูเร็วเกินไปที่จะสรุปได้ ที่สำคัญไม่เหมือนเดิมแน่นอน

เริ่มจากโครงสร้างการบริหารจัดการ ถือว่า “เกิดผลกระทบเชิงบวก” เมื่อพ้นจากรัฐวิสาหกิจ ทำให้เกิดการคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องรอรายงานกระทรวงการคลัง ไม่ต้องรอพิธีและขั้นตอนระเบียบทางราชการ ทำให้เกิดศักยภาพการบริหารจัดการแท้จริงชัดเจน

ที่สำคัญไม่ต้องกังวลต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ว่าด้วย ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริตต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ..!!

แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องเสียไป นั่นคือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อันพึงได้กันมาตลอด จากเคยเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ กลายเป็นพนักงานบริษัทปกติสามัญทั่วไป…!

ส่วน “โครงสร้างธุรกิจและการลงทุน” มีโอกาสเปิดกว้างมากขึ้น ที่สำคัญ KTB จะมีความคล่องตัวเรื่องการลงทุนมากขึ้น นั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เท่าทันต่อสถานการณ์ และปีดดีลได้ง่าย-คล่อง-เร็วมากขึ้น ไม่ต้องรอขั้นตอนพิธีการต่าง ๆ ทำให้เสียโอกาสเรื่องการลงทุนและผลักดันให้มีการขยายธุรกิจรวดเร็วยิ่งขึ้น

ที่สำคัญ “ธุรกรรมสินเชื่อ” ของ KTB มากกว่า 15-20% ผูกติดกับการปล่อยสินเชื่อโครงการภาครัฐ (สนองนโยบายรัฐบาล) แม้เป็นสินเชื่อก้อนใหญ่ แต่ถูกกดันด้วย “อัตราดอกเบี้ย” ทำให้ผลตอบแทนไม่สูงนัก แต่หลังพ้นรัฐวิสาหกิจ KTB มีศักยภาพเพียงพอให้การปล่อยสินเชื่อ..ด้วยอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยสูงขึ้น

ส่วนฐานเงินฝากและบริการทางการเงินต่าง ๆ ไม่น่ามีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะด้วยความครบเครื่องทางธุรกรรมการเงิน สุดท้ายรัฐบาล มีความจำเป็นต้องใช้บริการ KTB ต่อไป เนื่องธนาคารรัฐ ที่มีอยู่ล้วนแล้วแต่เป็นธนาคารเฉพาะกิจ ตอบสนองนโยบายรัฐได้เฉพาะทางเพียงเท่านั้น

นั่นทำให้ KTB เป็นทางเลือกที่มีความจำเป็นของรัฐบาล เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ปัญหามันอยู่ที่ “เงื่อนปมธรรมสัญญา” ที่ KTB ผูกติดกับรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ตามฐานะเดิมในลักษณะ “รัฐวิสาหกิจกับรัฐวิสาหกิจ” ที่เคยได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เมื่อสถานะ KTB เปลี่ยนไป สัญญาต่าง ๆ ย่อมไม่เหมือนเดิมเช่นกัน และอาจทำให้สิทธิประโยชน์เหล่านั้นหายไปด้วย

อีกเงื่อนไขหรือปมปัญหาทางการกฎหมาย ที่ต้องขบคิดกันต่อไป นั่นคือคดีความหรือข้อพิพาทต่าง ๆ ของ KTB ทั้งในฐานะโจทก์หรือจำเลย ไม่ว่าทางแพ่งหรืออาญา..จะต้องโมฆะหรือโมฆียะ ตามสถานความเป็นรัฐวิสาหกิจของ KTB ที่หมดลงปแล้วด้วยหรือไม่..!!!

Back to top button