พาราสาวะถี

สุดสัปดาห์นี้ต้องรอติดตามกันว่าคณะราษฎรจะมีอะไรมาจุดพลุเรียกระดมพลอีกหรือไม่ หากไร้ซึ่งกิจกรรมก็ทำให้น่าเชื่อได้ว่าม็อบกำลังจะฝ่อเหมือนอย่างที่สภาความมั่นคงแห่งชาติรายงานในที่ประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แต่ถ้าช่วงวันหยุดไม่มีการนัดหมายชุมนุม นั่นก็หมายความว่า จะมีการไปจัดการชุมนุมในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ เป็นเวทีคู่ขนานกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับซึ่งที่ประชุมรัฐสภาจะให้ลงมติว่ารับหรือไม่รับหลักการ


อรชุน

สุดสัปดาห์นี้ต้องรอติดตามกันว่าคณะราษฎรจะมีอะไรมาจุดพลุเรียกระดมพลอีกหรือไม่ หากไร้ซึ่งกิจกรรมก็ทำให้น่าเชื่อได้ว่าม็อบกำลังจะฝ่อเหมือนอย่างที่สภาความมั่นคงแห่งชาติรายงานในที่ประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แต่ถ้าช่วงวันหยุดไม่มีการนัดหมายชุมนุม นั่นก็หมายความว่า จะมีการไปจัดการชุมนุมในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ เป็นเวทีคู่ขนานกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับซึ่งที่ประชุมรัฐสภาจะให้ลงมติว่ารับหรือไม่รับหลักการ

หากจุดนัดหมายเป็นที่รัฐสภา ก็มีความเป็นไปได้ว่า จะมีโอกาสได้เผชิญหน้ากันอีกรอบระหว่างม็อบต้านขบวนการสืบทอดอำนาจกับฝ่ายหนุนอำนาจสืบทอด และอ้างเสียงประชามติไม่ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จนถึงนาทีนี้ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า มีการรวมหัวเล่นเกมยื้อเวลาโดยส.ส.พรรคสืบทอดอำนาจกับส.ว.ลากตั้ง ต่อการเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับหรือไม่

ไม่ต้องพูดถึงเสียงของ 250 ส.ว.ลากตั้งและส.ส.พรรคสืบทอดอำนาจ แต่ให้จับตาดู 52 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่ตั้งแต่หัวหน้าพรรคไปจนถึงส.ส.ต่างแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการยื่นญัตติดังกล่าว เมื่อถึงเวลาแล้วจะโหวตสวนหรืองดออกเสียงหรือไม่ หากไปโหวตหนุนก็เท่ากับว่าที่กล่าวหา พรรคแกนนำตีสองหน้าต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคของตัวเองก็ไม่ต่างกัน ส่วน 61 เสียงของพรรคภูมิใจไทยนั้น เชื่อได้เลยว่าไม่แตกแถวไปโหวตสวนหรืองดออกเสียงแน่นอน

แม้ว่าจะมีสองส.ส.ของพรรคแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการดำเนินการดังกล่าวของส.ว.และส.ส.พรรคสืบทอดอำนาจ แต่ท้ายที่สุดผู้นำของพรรคการเมืองนี้ก็จะอ้างว่าเมื่ออยู่ร่วมกันในนามพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว หากมติเสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น นี่แหละ การเมืองว่าด้วยเรื่องของผลประโยชน์ที่จะมองกันแต่มุมของความสัมพันธ์ในการประสานผลประโยชน์ร่วมกันของพวกพ้องเท่านั้น ไม่ได้นึกถึงเสียงทักท้วงหรือฟังเสียงของประชาชนแต่อย่างใด

ไม่ต้องไปหวังว่าจะเกิดการพลิกผันในชั้นการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ต่อกรณีนี้ เพราะสิ่งที่ วิษณุ เครืองาม ที่แสดงละครอ้างไม่เห็นด้วย เพราะมองไม่เห็นว่าสิ่งที่ดำเนินการต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะการให้มีส.ส.ร.จะขัดต่อรัฐธรรมนูญตรงไหน แต่ก็อธิบายเป็นฉาก ๆ พร้อมปกป้องฝ่ายที่ยื่นให้ตีความอีกต่างหากว่า มีความประสงค์ดีและไม่ใช่ไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องการความสบายใจ ซึ่งก็ดีแล้วที่ไปยื่นตอนนี้ดีกว่ารอให้มีคนไปยื่นหลังจากที่รัฐสภาพิจารณาเสร็จไปแล้ว

เป็นอันว่าองคาพยพสืบทอดอำนาจใช้กลเกมทางกฎหมายยื้อเวลากันไปอีกกระทอก ประกอบกับความมั่นใจว่าม็อบต่อต้านเริ่มฝ่อแล้วจึงกล้าที่จะเดินกันแบบนี้ แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่าหัวร่อก็คือข้ออ้างของพรรคสืบทอดอำนาจที่บอกว่า ต้องยื่นตีความเพื่อสร้างความสบายใจและซื้อใจส.ว.เพื่อให้ร่วมโหวตรับหลักการในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ความจริงเมื่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจสั่งการผ่านที่ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญไปแล้วก็ถือว่าทุกอย่างต้องเดินกันตามนั้น

แต่ด้วยความที่ใช้แท็กติกทางกฎหมายมาโดยตลอด มันจึงหลีกเลี่ยงการตอดนิดตอดหน่อยไม่ได้ อย่างที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่กฎหมายที่ใช้ในการบริหารประเทศเวลานี้เกือบทุกฉบับที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้บริหารแบบไม่สะดุดแล้ว องค์กรต่าง ๆ ที่ผูกพันต่อกระบวนการในการตัดสินใจในทุกเรื่องของท่านผู้นำก็แทบจะไม่ติดขัดใด ๆ หากเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นความประสงค์ของผู้นำเผด็จการซ่อนรูป ไม่จำเป็นต้องมาเล่นเกมแหกตากันให้คนหมั่นไส้

ความจริงสิ่งหนึ่งที่ทำให้วิษณุเชื่อมั่นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นั่นคงเป็นเพราะบทบัญญัติมาตรา 255 ได้เขียนผูกพันต่อการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 ไว้แล้วอย่างชัดเจนนั่นเอง กล่าวคือ ได้มีการกำหนดเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยเด็ดขาดคือ การแก้ไขที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ซึ่งสอดคล้องไปกับมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญที่ว่า“ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกมิได้”

ดังนั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 นั้น จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าไม่น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ในขณะที่นอกจากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะประกาศต่อที่ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะแล้วเสร็จ 3 วาระภายในเดือนธันวาคม ซึ่งเหมือนเป็นการสั่งการไปทั้งพรรคสืบทอดอำนาจและส.ว.แล้ว การที่พรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้เสนอขอแก้ไขเองแต่พรรคแกนนำกลับยื่นตีความเอง มันจึงเป็นการย้อนแย้งกันอย่างยิ่ง

แน่นอนว่า เมื่อปล่อยให้เดินกันอย่างนี้ ไม่มีการออกมาเตือน หรือแค่สะกิดแต่เป็นในท่วงทำนองปากว่าตาขยิบ มันย่อมทำให้คนมองได้ว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าฝ่ายกุมอำนาจโดยเฉพาะผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้นมองว่า “อำนาจจะต้องเป็นของข้าแต่เพียงผู้เดียวและนานที่สุดเท่าที่จะนานได้” แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า การเบี้ยวพวกเดียวกันเองอันหมายถึงพรรคร่วมรัฐบาลอาจทำได้เพราะเกิดภาวะน้ำท่วมปากต้องจำยอมกันไปโดยปริยาย

แต่อะไรก็ตามถ้าไม่ซื่อสัตย์ต่อประชาชน โดยเฉพาะเป็นเสียงเรียกร้องจากประชาชนที่มองเห็นว่าปัญหาวิกฤติชาติบ้านเมืองที่เป็นอยู่เวลานี้ส่วนสำคัญก็มาจากกฎหมายสูงสุดที่เขียนกันมาเพื่อขบวนการสืบทอดอำนาจ การเล่นเอาล่อเอาเถิดเช่นนี้ จะด้วยเชื่อมั่นจากอะไรก็ตามแต่ ให้พึงตระหนักและท่านผู้นำก็พล่ามอยู่ตลอดเวลาว่าให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทว่ากลับไม่ยอมเรียนรู้ในประเด็นที่ว่า พฤติกรรมการสร้างเงื่อนไขไปเรื่อย ๆ แบบนี้ท้ายที่สุดมันจะจบลงอย่างไร ในอดีตมีให้เห็นแล้วว่า ใครพวกไหนก็ตามที่ทรยศหักหลังประชาชนมีแต่พังกับพังเท่านั้น

Back to top button