CBG กับกลยุทธ์ Growth Strategy
หนึ่งในความน่าสนใจและน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งของบริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG นอกเหนือ จากราคาหุ้นหรือตัวเลขผลประกอบการ แต่กลายเป็นธุรกิจค้าปลีก CJ Express ภายใต้บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ที่ กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ CBG ลงทุนมาตั้งแต่ปี 2556 และทำให้ธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ CJ Express และ CJ Supermarket มีการขยายแล้วกว่า 530 สาขาใน 27 จังหวัด
เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง
หนึ่งในความน่าสนใจและน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งของบริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG นอกเหนือ จากราคาหุ้นหรือตัวเลขผลประกอบการ แต่กลายเป็นธุรกิจค้าปลีก CJ Express ภายใต้บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ที่ กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ CBG ลงทุนมาตั้งแต่ปี 2556 และทำให้ธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ CJ Express และ CJ Supermarket มีการขยายแล้วกว่า 530 สาขาใน 27 จังหวัด
แม้บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด อาจไม่ได้ถูกถือหุ้นโดยตรงจาก CBG แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทดังกล่าว คือผู้ถือหุ้นใหญ่ CBG นั่นเอง ที่สำคัญทำให้เห็นชัดกับการลงทุนสู่ธุรกิจปลายน้ำ หรือการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ CBG มีการลงทุนธุรกิจขวดแก้วเพื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ ผ่านบริษัท เอเชียแปซิฟิกกลาส จำกัด ช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา เพื่อบริหารจัดการ “ห่วงโซ่การผลิต” ธุรกิจเครื่องดื่มในเครือคาราบาวกรุ๊ป
สำหรับแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ นั่นหมายถึง กลยุทธ์การสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ (Growth Strategy) ตามกรอบ แนวคิดของ Igor Ansoff บิดาแห่งศาสตร์ด้านกลยุทธ์สมัยใหม่ เจ้าของทฤษฎี Ansoff Matrix ที่เน้นพิจารณาสินค้าและตลาดคู่กัน เพื่อเฟ้นหากลยุทธ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจ
ช่วงปี 1957 Ansoff นำเสนอแนวคิดสำคัญไว้ว่าหลักเกณฑ์การพิจารณาเลือกกลยุทธ์เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตได้ ให้พิจารณาจาก 2 มิติคือ “มิติด้านลูกค้า” ที่แบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันกับกลุ่มลูกค้าในเป้าหมายใหม่และ “มิติด้านผลิตภัณฑ์” ที่แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันกับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกผลิตภัณฑ์ออกไป
-กลยุทธ์แรก คือ กลยุทธ์การเจาะตลาด (Market Penetration) เป็นกลยุทธ์ที่จะทำอย่างไรให้ ลูกค้ากลุ่มปัจจุบัน รู้จัก และซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น
-กลยุทธ์ที่สอง คือ กลยุทธ์การพัฒนาตลาด (Market Development) เป็นกลยุทธ์ที่จะทำอย่างไร เพื่อใช้โอกาสจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถจำหน่ายไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ได้มากยิ่งขึ้น
-กลยุทธ์ที่สาม คือ กลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) เป็นกลยุทธ์ที่จะทำอย่างไรให้ลูกค้าปัจจุบันมีโอกาสใช้ประเภทผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มาจากการแตกไลน์ได้มากขึ้น
กลยุทธ์ที่สี่ คือ กลยุทธ์การแตกไลน์ธุรกิจ (Diversification) เป็นกลยุทธ์การเติบโตด้วยสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้กับลูกค้ากลุ่มใหม่
การก้าวเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกของ “กลุ่มคาราบาวกรุ๊ป” ครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากธุรกิจต้นน้ำ คือธุรกิจการผลิต ผ่านบริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ผ่านบริษัท เอเชียแปซิฟิกกลาส จำกัด ก้าวสู่ “ธุรกิจกลางน้ำ” คือกิจการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่าง ๆ ในเครือคาราวบาวตะวันแดง ผ่านบริษัท ตะวันแดง ดีซีเอ็ม จำกัด และธุรกิจปลายน้ำ นั่นคือธุรกิจค้าปลีก ผ่านบริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ที่ไม่ใช่มีเพียงแต่ CJ Express หรือ CJ Supermarket กับการค้าปลีกจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ที่แตกแขนงไปสู่ Nine Beauty โซนเครื่องสำอาง สินค้าสุขภาพและความงามหลากหลายแบรนด์
ตามมาด้วย UNO โซนสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่น เครื่องเขียนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เน้นกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน เป็นเป้าหมายหลัก และ A-Home โซนสินค้าอุปกรณ์เครื่องมือช่าง, อุปกรณ์ทำสวน, อุปกรณ์ไฟฟ้า, อุปกรณ์ประปา อุปกรณ์ดูแลรถยนต์ต่าง ๆ เน้นที่กลุ่มเจ้าของบ้านและวัยทำงาน พร้อมเติมแต่งด้วย Bao Café ร้านกาแฟสด เพื่อความครบเครื่องธุรกิจค้าปลีกดังกล่าว
นี่ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ Growth Strategy เพื่อตอบโจทย์การเติบโตในอนาคต นั่นจึงเท่ากับว่า CBG ไม่ใช่แค่หุ้นเครื่องดื่มชูกำลัง ภายใต้สัญลักษณ์ “หัวควาย” อีกต่อไปแล้ว..!?