ซอฟต์โลน & โกดังเก็บหนี้

กลายเป็นที่ “ถกเถียงวงกว้าง” กรณีกลไกช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ว่าด้วยเรื่อง “โกดังเก็บหนี้” (Warehousing) หนึ่งในแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสมาคมธนาคารไทย มีข้อสรุปเบื้องต้นคือการตั้งนิติบุคคลเพื่อมาดูแลสินทรัพย์ นั่นหมายถึงการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) หรือการตั้งกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) มารับซื้อหนี้จากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ นั่นเอง..!!


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

กลายเป็นที่ “ถกเถียงวงกว้าง” กรณีกลไกช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ว่าด้วยเรื่อง “โกดังเก็บหนี้” (Warehousing) หนึ่งในแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสมาคมธนาคารไทย มีข้อสรุปเบื้องต้นคือการตั้งนิติบุคคลเพื่อมาดูแลสินทรัพย์ นั่นหมายถึงการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) หรือการตั้งกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) มารับซื้อหนี้จากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ นั่นเอง..!!

โดยธปท.อ้างอิงถึงหลักการสากลว่าการขายสินทรัพย์เข้า “โกดังเก็บหนี้” ไม่จำเป็นต้องเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) แต่สามารถเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 อาทิ ธุรกิจที่จำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว สามารถขายสินทรัพย์เข้ามาแช่แข็งไว้ก่อนได้ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ สามารถนำ “หนี้ดี” ขายเข้าโกดังเก็บหนี้ได้เช่นกัน

แน่นอนแนวทาง “โกดังเก็บหนี้” ถือเป็นแนวทางที่ช่วยกลุ่มลูกหนี้ ที่มีปัญหาหลังปัญหาคลี่คลาย จะได้กลับมาฟื้นตัวได้ อาทิ หนี้สินที่มีปัญหาถูกตัดออกจากงบธนาคารเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการตั้งสำรอง รวมถึงรัฐจ่ายดอกเบี้ยให้บางส่วน ทำให้ธนาคารมีรายได้เข้ามาเพิ่มขึ้น

แต่เกิดคำถามขึ้นตามมาทันทีว่า ทำไมไม่ใช้บริการบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่มีอยู่หลายแห่งในปัจจุบันเป็นหน่วยงานขับเคลื่อน “โกดังเก็บหนี้” ดังกล่าว ในทางกลับกันการตั้ง AMC ขึ้นมาใหม่จะยิ่งทำให้จำกัดการดำเนินงานและการเติบโตของ AMC ที่มีอยู่หรือไม่ เพราะเท่ากับว่าตัดโอกาสการซื้อหนี้เน่าใหม่ของกลุ่ม AMC ไปอย่างสิ้นเชิง.!?

ช่วงที่ผ่านมา บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) แต่ละรายต่างมีการเตรียมความพร้อมเรื่องเงินทุนเพื่อรอโอกาสเข้าซื้อหนี้เน่าจากสถานบันการเงินต่าง ๆ ที่จะถูกระบายออกมา หลังพ้นช่วงเวลามาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา

หากย้อนดู “ต้นตอก่อนเกิดปัญหาหนี้เสีย” ดูเหมือนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูเหมือนว่าธปท.แก้ปัญหาไม่ตรงจุดหนัก กรณีโครงการ “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” (ซอฟต์โลน) เม็ดเงิน 500,000 ล้านบาท ที่ดูเหมือนดี แต่ด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการได้ไม่ถึง 80,000 ราย และปล่อยยอดสินเชื่อซอฟต์โลนไม่ถึง 120,000 ล้านบาท หรือเพียงแค่ 25%

ปัญหาสำคัญคือธปท.โยนหรือผลักภาระและความเสี่ยงการปล่อยกู้ซอฟต์โลนไปให้ธนาคารพาณิชย์ แทนที่ธปท.ควรรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพหลัก ในการฉกฉวยโอกาสช่วงภาวะดอกเบี้ยต่ำ ระดมกู้เงินหรือออกหุ้นกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ นำมาปล่อยกู้ซอฟต์โลนและลดเงื่อนไขให้เข้าถึงได้มากกว่านี้..!!

ล่าสุดดูเหมือนธปท.เพิ่งจะมาตื่นตัวทบทวนข้อเสนอของธนาคารพาณิชย์ เรื่องอุปสรรคและข้อติดขัดในการปล่อยกู้ซอฟต์โลน และเพิ่งยอมรับว่าช่วงแรกที่ออกมาตรการ เน้นความรวดเร็วในการช่วยเหลือผู้ประกอบการหลังจากนั้นได้ผ่อนคลายเกณฑ์ตามลำดับ เช่น ขยายเวลาการขอสินเชื่อซอฟต์โลนอีก 6 เดือน หลังหมดมาตรการ 22 ต.ค. 63 รวมถึงขยายกรอบการปล่อยกู้ซอฟต์โลนไปสู่บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาด mai และดึงบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยรับความเสี่ยงด้วย

แต่ดูเหมือนว่า “ช้าไปแล้วหรือไม่” เพราะระหว่างหน่วยหนึ่งของธปท.กำลังแก้เกณฑ์ซอฟต์โลน..แต่อีกหน่วยหนึ่งของธปท.ก็ตั้ง “โกดังเก็บหนี้” ไว้รอท่า..แทนที่จะ “แก้ที่เหตุ” กลับมา “แก้ที่ผล” หรือแทนที่จะสร้าง “ห้องไอซียู” เพื่อรองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่กลับ “สร้างห้องเย็น” เป็นโกดังเก็บศพ..ซะอย่างงั้น..!!

Back to top button