BTS สถานีต่อไป ‘เหนื่อย.!’
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าด้วยเรื่องต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพิ่มอีก 30 ปีกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS นับจากเดิมสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2572 เป็นสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2602 แม้ความเห็นจากกระทรวงการคลัง ไม่ได้ติดใจอะไร..เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกทม.ได้เห็นดีเห็นงามอนุมัติไปแล้ว แต่สุดท้ายครม.ยังไม่สามารถลงมติเห็นชอบเรื่องดังกล่าวได้
เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าด้วยเรื่องต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพิ่มอีก 30 ปีกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS นับจากเดิมสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2572 เป็นสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2602 แม้ความเห็นจากกระทรวงการคลัง ไม่ได้ติดใจอะไร..เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกทม.ได้เห็นดีเห็นงามอนุมัติไปแล้ว แต่สุดท้ายครม.ยังไม่สามารถลงมติเห็นชอบเรื่องดังกล่าวได้
เมื่อ “กระทรวงคมนาคม” ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องการสัญญาสัมปทานสายสีเขียว เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้โอนถ่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 เส้น พร้อมกับภาระหนี้ก้อนโตให้กรุงเทพมหานครไปแล้ว
แต่ทว่า “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแลระบบขนส่งมวลชนของประเทศ ออกมาคัดค้านโดยหยิบยก 4 ประเด็นหลักขึ้นมา นั่นคือ 1)ความครบถ้วนตามหลักการพ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562) ที่เห็นว่าควรเจรจาให้รอบคอบมากกว่านี้ 2)เรื่องค่าโดยสารสูงสุด 65 บาทตลอดสาย (หลังต่อสัมปทาน) ที่เห็นว่าควรอยู่ที่ 68.25 บาท 3) สินทรัพย์ที่ได้รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อาจทำให้รัฐเสียหายได้ 4)ประเด็นข้อกฎหมายป.ป.ช.กรณีกทม.จ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) บริษัทลูก BTS เดินรถส่วนต่อขยาย (ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงตากสิน-วงเวียนใหญ่) ที่กำลังรอป.ป.ช.ชี้มูลฯ
ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว…ทำให้เรื่อง “การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี” กระเด้งออกจากครม.เป็นครั้งที่ 2 (ครั้งแรก “ปรีดี ดาวฉาย” รมว.คลัง ยังไม่สรุปความเห็นเรื่องดังกล่าว)
ที่ไปที่มาการต่ออายุสัมปทาน มาจากที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) รับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทำให้กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดเส้นทาง ต้องรับภาระหนี้กว่า 100,000 ล้านบาท จากการโอนโครงการรวมถึงค่าบริหารจัดการเดินรถไปด้วย
จึงมีคำสั่งจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดเส้นทางได้อย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน จึงทำให้กทม.มีการเจรจากับ BTS ด้วยการต่ออายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี แลกกับ BTS รับภาระหนี้มูลค่าแสนล้านบาทแทนกทม. และเงื่อนไขค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่เกิน 65 บาท
รายละเอียดสัญญาดังกล่าว ระบุถึงผลตอบแทนที่ผู้รับสัมปทานต้องชำระผลตอบแทนให้แก่กทม. อาทิ ภาระค่างานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม สำหรับภาระหนี้เงินกู้ที่มีต่อกระทรวงการคลัง ประมาณ 44,429 ล้านบาท
พร้อมส่วนต่างระหว่างค่าจ้างการให้บริการเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 กับรายได้ค่าโดยสารส่วนต่อขยายฯ และค่าตอบแทนเพิ่มเติม ภาระค่าจ้างการให้บริการเดินรถคงค้างฯ ก่อนวันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลบังคับใช้ภาระค่าตอบแทนเพิ่มเติม 5% ของรายได้ค่าโดยสาร
อีกหนึ่งนัยสำคัญคือช่วงระหว่างปี 2573-2602 BTS จะแบ่งรายได้ให้กทม.หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดิมคือตั้งแต่ 5 ธ.ค. 2572 จนถึง 4 ธ.ค. 2602 โดย 15 ปีแรก (ช่วงปี 2572-2587) อัตรา 10% ของรายได้ค่าโดยสาร ระยะเวลา 10 ปีต่อมา (ช่วงปี 2588-2597) อัตรา 15% ส่วน 5 ปีสุดท้าย (ช่วงปี 2598-2602) อัตรา 25% และหากผลตอบแทนของ BTS เกินกว่า 9.60% ต้องแบ่งกระแสเงินสดสุทธิฯ ส่วนที่ทำให้ผลตอบแทนเกินให้แก่กทม.เพิ่มเติม
ประเด็นการถูกคัดค้านดังกล่าว ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นประเด็นการเมืองหรือไม่.? เพราะช่วงที่กระทรวงมหาดไทย เสนอเข้าที่ประชุมครม.ครั้งก่อน กระทรวงคมนาคม กลับไม่ได้มีการคัดค้านแต่อย่างใด แต่ครั้งนี้กับมีการคัดค้าน ทั้งที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลัง ก็ดูจะเห็นพ้องต้องกันไปแล้ว..!!
แต่ไม่รู้เป็นเพราะ “บังเอิญหรือตั้งใจ” การคัดค้านของกระทรวงคมนาคม เกิดขึ้นภายหลังจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) ยื่นคัดเงื่อนไขใหม่การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยรฟม. (สังกัดกระทรวงคมนาคม) ที่รมว.คมนาคม เห็นดีเห็นงามแล้วด้วย…จนเกิดข้อพิพาทในศาลปกครองอยู่ขณะนี้.!?
ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด “BTS สถานีต่อไป..เหนื่อย” แน่นอน..!!???