สงคราม 2 สนาม
ม็อบราษฎรสาดสีใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “เอาคืน” การใช้ความรุนแรงของตำรวจ ฉีดแก๊สน้ำตาไม่ยอมให้เข้าไปชุมนุมหน้ารัฐสภา จนเป็นแผลพุพอง
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
ม็อบราษฎรสาดสีใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “เอาคืน” การใช้ความรุนแรงของตำรวจ ฉีดแก๊สน้ำตาไม่ยอมให้เข้าไปชุมนุมหน้ารัฐสภา จนเป็นแผลพุพอง
ม็อบประกาศล่วงหน้า 7 วัน จะไปสำนักงานทรัพย์สิน วันรุ่งขึ้นประยุทธ์เกรี้ยวกราด ประกาศจะใช้กฎหมายเฉียบขาด ทุกฉบับทุกมาตรา ซึ่งตีความได้ว่ารวมถึง 112 ที่ประยุทธ์เคยพูดเองว่า ในหลวงทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้
อย่าลืมว่า 112 ถูกนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์หนักจนหยุดไป การใช้ความรุนแรงหน้ารัฐสภา ก็เป็นที่จับตาของนักสิทธิมนุษยชนและนักการเมืองประชาธิปไตยทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรป
ท่ามกลางบรรยากาศที่ดูตึงเครียด ฝ่ายตรงข้ามปลุกความเกลียดชัง จากกรณีที่มีคนในม็อบไปพ่นสีระบายความโกรธแค้น บนพื้นถนนบนกำแพง (ซึ่งเกินเลยเป้าหมายของแกนนำที่ต้องการไปสาดสีป้ายตำรวจ)
ก็เกิดม็อบ “นักเรียนเลว” ร่วมกับ MobFest จัดกิจกรรม #บ๊ายบายไดโนเสาร์ ที่สยาม ปิดถนนชูสามนิ้วร้องเต้นสนุกสนาน ทั้งประณามการสลายม็อบ วิพากษ์วิจารณ์การคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ iLaw ทวงสิทธิเสรีภาพในโรงเรียน อำนาจนิยมครูผู้บริหาร ไปจนปัญหาต่าง ๆ เช่นสวัสดิการและบริการของรัฐ
ถัดมาวันอาทิตย์ ยังจัด “งานวัดเฟสติวัล” ที่ถนนอักษะ ริเริ่มโดย “ฟันเฟืองธนบุรี” ที่ตอนแรกมีข่าวจะไม่ร่วมม็อบวันที่ 25 จนสื่อเอาไปกระพือ “แตกกันแล้ว”
ที่จริงก่อนหน้าจะไปสภา MobFest ก็จัดเทศกาลคาร์นิวัลกินหมูกระทะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนทำให้ตำรวจขู่ว่ากินหมูกระทะในม็อบผิดกฎหมาย
นี่คือความหลากหลายสลับไปมาของม็อบคนรุ่นใหม่ มีทั้งเฟสติวัล มีทั้งประจันหน้า ขณะที่รัฐได้แต่ใช้อำนาจ เช่นพอประกาศใช้กฎหมายเฉียบขาด ตำรวจก็ออกหมายจับเด็กนักเรียน ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ขึ้นเวทีม็อบ 15 ตุลา
ม็อบคนรุ่นใหม่แสดงให้เห็นว่ามีทั้ง Soft Power และพลังกร้าวแกร่งในการเรียกร้องทางการเมือง หนุนเนื่องซึ่งกันและกัน บนความเสื่อมของอำนาจ รัฐตำรวจทหารกระบวนการยุติธรรมผสมพันธ์นักการเมืองยี้
ใครจะคิดว่ารุ้ง แอมมี่ ไผ่ โผล่ไปปรากฏตัวบนเวทีคอนเสิร์ต Cat Expo วงแรพ SBFIVE เสียดสีรัฐบาลชูสามนิ้วกลางคอนเสิร์ตเมืองทอง
Soft Power ของคนรุ่นใหม่แผ่ไปกว้างขวาง สร้างฉันทมติของคนรุ่นเดียวกันเกือบทั้งหมด ตั้งแต่อายุสามสิบต้น ๆ ลงมาถึง 14-15 (ยกเว้นไฮโซและคชโยธี) นี่ไม่ใช่แค่ม็อบไล่รัฐบาล “ประยุทธ์ออกไป” แต่เป็นม็อบที่ต้องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ พร้อมไปกับปฏิวัติทางความคิดวัฒนธรรม
นี่ไม่ใช่ม็อบเสื้อแดงจากชนบทที่รัฐปลุกความเกลียดชังใช้ความรุนแรงกวาดล้างได้ นี่คือม็อบคนชั้นกลางในเมืองรุ่นใหม่ จัดได้ทุกวัน เลิกเรียนเลิกงานก็มาม็อบ จัดการยากยิ่งกว่าม็อบฮ่องกง
อำนาจรัฐปึกแผ่นทั้งบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ องค์กรอิสระ อาจปิดกั้นการเรียกร้องทวงอำนาจ เช่นคว่ำร่างรัฐธรรมนูญประชาชน ใช้กำลังสลาย ใช้กฎหมายเล่นงาน แต่ยิ่งใช้ยิ่งไม่ชอบธรรม ยิ่งสร้างความไม่พอใจในอยุติธรรม
คุมอำนาจแน่นเหนียว แต่พ่ายแพ้ทาง Soft Power เพราะมีแต่ความคิดล้าหลัง ข้อหาตกยุค รับเงินต่างชาติ อเมริกาอยู่เบื้องหลัง ล้างผิดคนโกง ฯลฯ คนรุ่นใหม่หยามหยัน กุมสื่อออนไลน์ไว้เกือบทั้งหมด ไม่สนใจสื่อรัฐสื่อหลัก
รัฐอนุรักษนิยมทำได้แค่ปิดกั้น ใช้กำลัง ใช้กฎหมาย แต่ปราบไม่ลง จับแกนนำร้อยคนก็ไม่หยุด รัฐประหารตัวเองก็ไม่ได้ มีแต่พัง ได้แต่กอดอำนาจไว้ไม่ยอมคลาย ไม่ compromise แต่ถูกเลื่อยทางฐานราก ทางความคิด ขณะที่ปัญหาทุกด้านถาโถม ทั้งเศรษฐกิจสังคม ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐราชการ การหาประโยชน์ของนักการเมือง จะผุดขึ้นเรื่อย ๆ
แม้คาดได้ยากว่าจะสู้กันอย่างนี้อีกนานเท่าไหร่ แต่ทุกนาทีผ่านไป เครือข่ายอำนาจยิ่งพ่ายแพ้ เหตุนี้เองจึงมีการคาดเดา ว่าประยุทธ์จะถูกบีบให้ออก หรือตกเก้าอี้เพราะคดีบ้านพักทหาร ฯลฯ
ฟังไม่ค่อยมีเหตุผลนัก แต่สะท้อนว่าหาทางลงยาก