คำสาปแช่งล่วงหน้าที่กลายเป็นจริง
ประเด็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ของตลาดหุ้นทั่วโลกสัปดาห์นี้” ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องของอนาคตระยะสั้นว่าด้วย ความวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐฯ และหลายประเทศทั่วโลก, การล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคระบาดที่ทำลายวงจรธุรกิจ, ระยะเวลาที่ยาวนานในการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคโควิด และความคืบหน้าของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
ประเด็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ของตลาดหุ้นทั่วโลกสัปดาห์นี้” ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องของอนาคตระยะสั้นว่าด้วย ความวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐฯ และหลายประเทศทั่วโลก, การล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคระบาดที่ทำลายวงจรธุรกิจ, ระยะเวลาที่ยาวนานในการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคโควิด และความคืบหน้าของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ
จนถึงขณะนี้ ตัวเลขของสหรัฐฯ ยังคงติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 12 ล้านราย และเสียชีวิตมากกว่า 258,000 ราย โดยที่อัตราเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันในสหรัฐฯ อยู่ที่ 165,029 รายในช่วง 7 วันที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 24% จากสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 187,833 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงเป็นประวัติการณ์
รัฐแคลิฟอร์เนียประกาศมาตรการเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่นิวยอร์กประกาศปิดโรงเรียนรัฐบาลทุกแห่ง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวยืนยันว่า เขาจะไม่ออกคำสั่งล็อกดาวน์สหรัฐฯ ทั้งประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่จะเลือกทำเฉพาะที่ไป เพื่อลดความเสียหายของภาคธุรกิจ
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยามนี้และในอนาคตอันสั้น ยังถูกกดดันจากการที่นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยืนยันว่าจะไม่ต่ออายุโครงการเงินกู้ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ตัวแทนของเฟดฯ จะแสดงความผิดหวังต่อการดำเนินการดังกล่าวของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ
โชคดีที่ยังพอมีข่าวดีแทรกขึ้นมา จากการที่นักลงทุนขานรับความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของ ไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ และ BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี แถลงว่า ทางบริษัทเตรียมยื่นเรื่องต่อสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ในวันจันทร์นี้ เพื่อขออนุมัติการใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของทางบริษัทเป็นกรณีฉุกเฉิน
หาก FDA ให้การอนุมัติ ก็จะส่งผลให้ไฟเซอร์สามารถทยอยใช้วัคซีนดังกล่าวกับชาวอเมริกันกลุ่มต่าง ๆ โดยกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ จะได้รับการฉีดวัคซีนก่อน ขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการในภาคส่วนที่สำคัญ ครูอาจารย์ คนจรจัด และนักโทษในเรือนจำ จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มต่อไป ตามมาด้วยกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่สร้างความหวังขึ้นมาใหม่ ยังไม่สามารถกลบข่าวร้ายจากญี่ปุ่น ซึ่งมีสถานการณ์กลับเลวร้ายหนักขึ้น ถึงขั้นที่นายโยชิฮิเดะ ซูกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเตือนภัยขั้นสูงสุด หลังมีรายงานการพบยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
การแพร่ระบาด ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่นได้กลับเข้าสู่ภาวะวิกฤตครั้งใหม่ หลังพบผู้ติดเชื้อใหม่มากถึง 2,189 รายในวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่สูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดในประเทศญี่ปุ่น
ขณะที่กรุงโตเกียว พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากถึง 493 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงจังหวัดคานากาว่า และ ชิซุโอกะ โดยล่าสุดรัฐบาลกรุงโตเกียวได้เตรียมยกระดับการเตือนภัยด้านสุขภาพขึ้นสู่ระดับสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะมีการตัดสินใจภายในวันพฤหัสบดีนี้
จากตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นอยู่ในสถานการณ์เดียวกับหลายประเทศในทวีปยุโรป ที่พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากหลายประเทศได้เข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดได้ง่ายที่สุด นอกจากญี่ปุ่นแล้ว เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น หลังพบผู้ติดเชื้อ 313 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบ 3 เดือน นับตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นเป็น 121,247 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1,895 ราย
นายซูกะ เปิดเผยว่า เขาต้องการให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในร้านอาหารให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และถอดออกเพื่อรับประทานอาหารในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 แต่คนที่มีประสบการณ์มาแล้ว เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นมาตรการที่เพียงพอในการรับมือการแพร่ระบาด
คำถามใหญ่คือ มาตรการ social distancing และ lock down การเดินทางของพลเมือง ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงมาแล้ว จะส่งผลต่อผลประกอบการของภาคธุรกิจอีกนานแค่ไหน และมากน้อยเท่าใด
คำตอบแรกสำคัญกว่าคำตอบหลังอย่างมาก
นักลงทุนพากันขายหุ้นจำนวนมากออกมาอย่างตื่นตระหนกครั้งใหม่ จากความวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการกำหนดมาตรการล็อกดาวน์ในรัฐต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยไม่แยแสกับข่าวดีทั้งหลายที่ประดังกันเข้ามา
นักลงทุนขาใหญ่จำนวนไม่น้อยพยายาม หวนระลึกถึงคำกล่าวของนางคริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ระบุก่อนประกาศอัดฉีดเงินรักษาเสถียรภาพของการเงินโลก 1 ล้านล้านดอลลาร์ ว่า เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ช่วงถดถอยเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างวิกฤตทางการเงินอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ นี่เป็นวิกฤตการณ์ที่รุนแรงกว่าวิกฤตการเงินในปี 2551-52 ……ซึ่งในยามนั้นมีคนเห็นว่า “เขียนเสือให้วัวกลัว” ถือว่าเกินจริง ในยามตื่นตระหนก
บางทีคำพูดของนางจอร์จีวา อาจจะเป็นคำสาปแช่งล่วงหน้า ที่แม่นยำก็ได้