ม็อบชวนรัฐไต่เหว

ตำรวจเล่นใหญ่ ปิดถนนปิดตลาดปิดร้านรวงรอบสำนักงานทรัพย์สินฯ รัศมีเป็นกิโล ปิดกระทั่งจุดลงทางด่วนยมราช แต่ม็อบราษฎรหลีกไปนัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ตำรวจเล่นใหญ่ ปิดถนนปิดตลาดปิดร้านรวงรอบสำนักงานทรัพย์สินฯ รัศมีเป็นกิโล ปิดกระทั่งจุดลงทางด่วนยมราช แต่ม็อบราษฎรหลีกไปนัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

สมมติม็อบไม่ไปสำนักงานทรัพย์สินฯ อย่างที่ประกาศไว้ แค่ชุมนุมร้องรำทำเพลง เดินไปถึงจุดกั้นแล้วยื่นหนังสือ กลายเป็น “แกง” ตำรวจหม้อใหญ่ ทำชาวบ้านเดือดร้อนมากมาย มีคำสั่งถึงขั้นไม่จำเป็นห้ามออกจากบ้าน

แต่ไม่แน่เหมือนกัน ถ้าม็อบยืนยันจะเดินไปอย่างสงบ ตำรวจจะใช้กำลังเข้าสลายคนหลายหมื่น ใช้รถฉีดน้ำแก๊สน้ำรถ RAD หรืออาจไปถึงโล่กระบอง เกินกว่าเหตุไหม

เกินสิ เพราะอันดับแรก ทนายอานนท์ นำภา กางมาตรา 7 พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ว่าตามตัวอักษร “การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาท หรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทำมิได้”

เจตนารมณ์กฎหมายคือที่ประทับหรือพำนัก สำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่เข้าข่าย ตำรวจเอาอะไรมาห้าม การปักป้าย “เขตพระราชฐาน” ก็ไม่มีคำนี้ในมาตรา 7 และถ้าไปเปิดพจนานุกรม ก็แปลว่าที่ประทับเช่นกัน

อันที่จริง ตำรวจก็ใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมเกินขอบเขตมาตลอด เช่นที่จะชุมนุมหน้ารัฐสภา ถ้าม็อบเข้าไปได้ ผู้จัดมีความผิดสูงสุดคือจำคุก 6 เดือน ปรับหนึ่งหมื่นบาท ไม่ใช่ความผิดถึงขั้นต้องใช้กำลังสกัดกั้น สิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญย่อมเหนือกว่า พ.ร.บ.ชุมนุม คือต้องมีสิทธิชุมนุมโดยสงบแล้วสู้คดีกันภายหลัง

การเคลื่อนไหวของม็อบราษฎร คือการชวนรัฐบาลเล่นเกมไต่ปากเหว ชวนหวาดเสียวมาโดยตลอด โดยอาศัยความกล้าหาญของแกนนำ ความไม่ชอบธรรมของอำนาจ และความไม่มีประสิทธิภาพบริหารจัดการอย่างพอเหมาะ ถ้าไม่ตื่นตูม ใช้ยาแรงเกิน ก็บ้อท่า

วันดีคืนดี ม็อบก็จัดเฟสติวัล งานวัด วิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียนเสียดสี ร้องเต้นสนุกสนาน ตำรวจได้แต่ยืนดูตาปริบ ๆ จะห้ามก็ไม่ได้

วันดีคืนดี ม็อบก็ไปยึดสนามหลวง ไปหน้ารัฐสภา ไปสำนักงานทรัพย์สิน วัดใจว่ารัฐจะจัดการอย่างไรในสถานการณ์ตึงเครียด ซึ่งถ้าใช้มาตรการรุนแรงเกินเหตุ ท่ามกลางกล้องมือถือของสื่อและมวลชน ที่ไลฟ์สดไปทั่วประเทศ ทั่วโลก การใช้อำนาจก็ถูกประณาม เพียงจะไปรอฟังการลงมติหน้ารัฐสภา เพียงจะไปยื่นหนังสือสำนักงานทรัพย์สิน ใช้ความรุนแรงขนาดนี้?

ยิ่งกว่านั้น ถ้าเกิดเหตุการณ์ม็อบชนม็อบ ปะทะกับเสื้อเหลือง ซึ่งถูกปลุกความเกลียดชัง รัฐบาลเองก็รับประกันไม่ได้ว่าจะไม่บานปลาย รัฐบาลต้องการให้เสื้อเหลืองแสดงพลังต้าน แต่รัฐบาลก็ไม่ต้องการให้เกิดสงครามกลางเมืองย่อย ๆ ซึ่งตัวเองจะคุมไม่ได้

แม้กระทั่งการใช้กฎหมายที่ประยุทธ์แถลงขึงขัง ก็ไม่ง่าย ที่ผ่านมาใช้มาตรา 116 จับแกนนำไม่ให้ประกัน ผลเป็นอย่างไร ถ้าจะใช้ 112 ซึ่งประยุทธ์เคยแถลง “ในหลวงทรงมีพระเมตตา” ก็จะยิ่งลำบากใจ ส่งผลกระทบ นานาชาติวิพากษ์วิจารณ์ แล้วในทางการเมืองก็สยบม็อบไม่ลงอยู่ดี

ม็อบไม่กลัวรัฐประหาร ไม่ใช่ต่อต้านได้หรอก แต่รู้ดีว่าผู้มีอำนาจก็คิดหนัก ในสถานภาพปัจจุบันที่ครองอำนาจได้ทุกอย่าง ในหน้ากาก “ประชาธิปไตยปลอม” ทุกอำนาจเป็นเอกภาพ รัฐสภา รัฐราชการ กระบวนการยุติธรรม หรือแม้แต่การแก้รัฐธรรมนูญ มีความจำเป็นอะไรต้องรัฐประหาร พาตัวเองเข้าสู่ทางตัน

ม็อบจึงกล้าท้าทายพาเดินไต่ปากเหว เพื่อให้ผู้มีอำนาจต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะเขย่าอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ แม้ล้มรัฐบาลไม่ได้ทันที รัฐบาลเองก็ทนอยู่ในภาวะนี้ไม่ได้เช่นกัน

Back to top button