‘ปรับฐาน’ ดีกว่าไม่ปรับ
วานนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดร่วง 29.47 จุด ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
วานนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดร่วง 29.47 จุด ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย
ต่างเพราะพอจะรู้กันอยู่แล้วว่า การ “ปรับฐาน” จะต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ
หลังจากดัชนีวิ่งขึ้นร้อนแรง ต่อเนื่อง
และหาจังหวะการพักฐานในช่วงที่มีปัจจัยลบเข้ามากดดันพอดี
ทั้งเรื่อง MSCI Rebalance หุ้นไทย ปัจจัยเรื่องโควิด-19 การเมืองประเด็นศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กรณีที่ใช้บ้านพักทหารหลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว
และหุ้นเอเชียต่างปิดในแดนลบกันแบบพร้อมเพรียง
ส่วน พี/อี (ปัจจุบัน) ตลาดหุ้นไทยก็พุ่งขึ้นมาเป็น 27 เท่า
ก่อนที่ตลาดหุ้นไทยจะปิดในช่วง 16.30 น. ของวานนี้
ต่างลุ้นกันว่าแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ขายตาม MSCI Rebalance นั้น
จะทำให้ดัชนีร่วงต่ำกว่า 1,400 จุดหรือไม่
เพราะมีการวิเคราะห์ไว้ว่า ระดับ 1,400 จุด เหมือนเป็นระดับจิตวิทยา
หากลงไปต่ำกว่านี้ อาจจะมีโอกาสถดถอยลงได้อีก
ทว่า ดัชนีกลับลงมาอยู่ที่ 1,408.31 จุด ทำให้มีการวิเคราะห์ว่า วันนี้ (1 ธ.ค.) น่าจะมีโอกาสรีบาวด์ได้
ประเด็นที่น่าสนใจ และต้องติดตามคือ แล้วนักลงทุนต่างชาติยังจะซื้อสุทธิต่อไปหรือไม่
จากการอ่านบทวิเคราะห์ และความเห็นของนักวิเคราะห์หลายคน
ต่างยังมองเชิงบวกกับฟันด์โฟลว์ที่ยังจะเข้ามาต่อเนื่อง
อย่างเดือนธันวาคมนี้ ก็น่าจะยังซื้อสุทธิไปเรื่อย ๆ จนถึงประมาณกลางเดือนธันวาคม ก่อนที่แรงซื้อจะหายไปจากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลคริสต์มาส
และต่างชาติจะเริ่มกลับเข้ามาอีกครั้งในช่วงราว ๆ กลางเดือนมกราคม 2564
ส่วนวานนี้ที่ต่างชาติเทขายกว่า 4,372 ล้านบาท ก็อย่าเพิ่งตื่นตกใจไป
เพราะกว่า 3,400–3,500 ล้านบาท เป็นการลดพอร์ตจากกรณี MSCI Rebalance เท่านั้น
ดังนั้น หากตัดในส่วนนี้ออกไป
เท่ากับว่าต่างชาติขายสุทธิเพียง 900 ล้านบาท
แม้ต่างชาติจะขายสุทธิออกมาเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน (26 พ.ย.ขายสุทธิ 549 ล้านบาท, 27 พ.ย.ขายสุทธิ 498 ล้านบาท) แต่จำนวนที่ขายออกมาไม่ได้ถือว่ามากนัก
และน่าจะเป็นการขายของกองทุนต่างชาติประเภทเก็งกำไรระยะสั้น
ส่วนกลุ่มที่ลงทุนยาว ๆ ยังถือกันอยู่
อย่างที่เคยเขียนบอกในคอลัมน์ก่อนหน้านี้ว่า เมื่อดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงมา
หุ้นขนาดใหญ่ที่วิ่งขึ้นมาแรง ๆ จะถูกเทขายเช่น แบงก์ พลังงาน ขนส่ง ท่องเที่ยว
ทำให้นักลงทุนจะหัน หรือกลับมาเล่นหุ้น “ขนาดกลาง” และ “เล็ก” กัน แล้วดันราคาตามหุ้นขนาดใหญ่ขึ้นมา
หรือเป็นหุ้นชุดสองนั่นแหละ
ตอนนี้ที่เห็นนักวิเคราะห์แนะนำกัน เช่น กลุ่มไอซีที ที่เกี่ยวเนื่องกับ iPhone12 กลุ่มมีเดีย อาคารและเครื่องดื่ม เช่น ICHI HTC TACC จากแนวโน้มไตรมาส 4 ยังเป็นเชิงบวก และบวกลากยาวไปถึงปี 2564
ส่วนกลุ่มปิโตรเคมี แนะนำ IRPC PTTGC และ IVL ที่เป็นหุ้นใหญ่ แต่ยังพอเล่นได้อยู่
มีข้อมูลมาเพิ่มเกี่ยวกับ “หุ้นที่พักฐาน” และมีโอกาสกลับมาเป็นสีเขียวอีกครั้ง จากการวิเคราะห์ของ บล.บัวหลวง เขาไปรวบรวมมามีทั้งหมด 10 หุ้น ที่อยู่ภายใต้กลยุทธ์หุ้น Value + Growth laggard ผ่านการคัดกรองจากปัจจัยหนุนเฉพาะตัว แนวโน้มผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องในไตรมาส 4/2563 มี Valuation still cheap และราคายังห่างจากยอดดอยของปีนี้
เริ่มจาก CBG แนวโน้มไตรมาส 4 เป็นกำไรรายไตรมาสที่ดีที่สุดของปีนี้ และกำไรจะไม่แพ้ไตรมาส 3/2563 ที่เป็น new high ปี 2564 เบื้องต้นเป้าหมายรายได้รวมเติบโตไม่ต่ำกว่า 20%
IVL กำไรหลักไตรมาส 4 นี้ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นรวมทั้งคาดว่ากำไรหลักจะเติบโต
KBANK กำไรรวมของหุ้นกลุ่มธนาคารจะฟื้นตัว ในปี 2564 โดยคาดกำไรฟื้น 36% โตแรงสุดในอุตสาหกรรม
KCE ยอดขายไตรมาส 4 น่าจะดีกว่าไตรมาส 1/2563 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าก่อน Covid-19 จากอัตรากำลังการผลิตเต็มทุกวัน ยังคงประเมินกำไรหลักปีหน้าเติบโต 54% ไปที่ 1.6 พันล้านบาท
PLANB กำไรในไตรมาส 4 ปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าไตรมาส 1/2563 ช่วงก่อน Covid-19 และเติบโตไปต่อเนื่องในปี 2564
PTT กำไรหลักไตรมาส 4 มีแนวโน้มขยายตัว เดินหน้าสู่ปี 2564 ที่ดีขึ้น อุปสงค์สำหรับก๊าซ, ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีจะเพิ่มขึ้น, SCGP กำไรหลักคาดว่าจะเติบโตอีก 17.2% มาอยู่ที่ 7.9 พันล้านบาท ในปี 2564 หนุนโดยการขยายกำลังการผลิตและอัตรากำไรขั้นต้นที่ขยายตัว
SPALI กำไรหลักจะเติบโต หนุนโดยรายได้และอัตรากำไรหลักที่ขยายตัว
TOP ค่าการกลั่นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
และสุดท้ายคือ TQM กำไรไตรมาส 4 นี้จะเติบโตต่ออีก 40% จากไตรมาส 4/2562 และคาดปี 2564 โตอีก 20%
ดู ๆ ไปแล้ว หุ้นปรับฐานครั้งนี้
เป็นการพักเพื่อที่จะไปต่อนั่นแหละ