นับถอยหลังแยกขั้วรอบใหม่ทายท้าวิชามาร
ไม่มีอะไรน่าแปลกใจที่สุเทพ เทือกสุบรรณ สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ สวนทางอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เรียกร้องให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
ไม่มีอะไรน่าแปลกใจที่สุเทพ เทือกสุบรรณ สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ สวนทางอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เรียกร้องให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
เพราะสุเทพประกาศจุดยืนมวลชนนกหวีด คนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี “ม็อบอาหารดี” ที่ยกระดับศีลธรรมถึงขั้นปฏิเสธอำนาจจากเลือกตั้งไม่ว่าพรรคไหน บทเรียนรัฐประหาร 49 สอนว่าถ้าคืนอำนาจให้มาจากเลือกตั้งอีก จะมีกี่ศาลกี่องค์กรอิสระก็ต้องพึ่งรถถังอยู่ดี ฉะนั้นครั้งนี้ก็เขียนให้รถถังเป็นอำนาจสูงสุดในรัฐธรรมนูญซะดีกว่า
จะว่าไป ร่างรัฐธรรมนูญ คสช.คือการสานต่ออุดมคติพันธมิตร “การเมืองใหม่ 70-30” และ กปปส.”สภาประชาชน” ที่ต้องการให้อำนาจจากสรรหา (ผู้ทรงคุณวุฒิคุณธรรมตัวแทนคนชั้นนำคนระดับบน) อยู่เหนืออำนาจจากเลือกตั้ง (นักการเมืองชั่วที่คนระดับล่างคนชนบทเลือกมา) เพียงแต่เมื่อกองทัพเป็นกำลังหลักในการยึดอำนาจ ก็ต้องได้บทบาทเหนือกว่า
ถ้าดูโครงสร้างรัฐธรรมนูญจะเห็นชัด บทเฉพาะกาลมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 5 ผบ.เหล่าทัพโดยตำแหน่ง อีก 11 คนน่าจะมาจาก “ผู้ดี” ข้าราชการ Elite ประชาสังคม ที่ สนช.สรรหา
ถ้าพ้นบทเฉพาะกาล ส.ว. 123 คนก็มาจากอดีต ผบ. อดีตปลัด ตัวแทนคนชั้นกลางอาชีพต่างๆ และ NGO โดยอีกด้านก็เพิ่มอำนาจสกัดปราบปรามให้องค์กรอิสระและศาล
ถ้าดูกรรมการสรรหาองค์กรอิสระนอกจากสายศาล ยังมีอธิการบดี ยังมีกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เป็นเรื่องขำๆ ที่หอการค้าจะได้เลือก ปปช. นี่คืออุตส่าห์พยายามดึง Elite ทุกภาคส่วนเข้าไปกินโต๊ะแชร์ เพื่อกดอำนาจจากเลือกตั้ง
ระบอบนี้ไม่มีที่ยืนให้พรรคการเมืองใดทั้งสิ้น แม้แต่ ปชป.ที่อุตส่าห์บอยคอตต์เลือกตั้งร่วมมือร่วมม็อบกันมา เว้นแต่จะยอมรับเลือกตั้งเป็นพิธีกรรม รัฐบาลเป็น “เจว็ด” ซึ่งที่จริง ปชป.น่าจะชอบเป็น “ปลัดประเทศ” แต่ทำไงได้ ด้วยจุดยืนพรรคการเมืองที่ต้องการอำนาจผ่านเลือกตั้ง อภิสิทธ์คนหล่อจะกลืนน้ำลายได้ไง
ปชป.จะหาทางออกอย่างไรก็ช่างเถอะ คำถามว่าระบอบนี้จะยืนอยู่ได้อย่างไร สำคัญกว่า
จุดขายของระบอบนี้คือ หนึ่ง “พลเมืองเป็นใหญ่” ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะแบ่งเศษให้คนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมีลงไปถึง NGO ที่ชอบอำนาจทางลัดได้ติดสอยอำนาจกับกองทัพและรัฐราชการ สอง อ้างความจำเป็นในการปฏิรูปพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน (เช่นปัดรังควานกระทรวงไอซีที)
ส่วนการ “กดหัว” อำนาจเลือกตั้งของคนชั้นล่าง พวกเขาเชื่อว่าไม่มีปัญหาเพราะอำนาจคนดีจะพยายามลดความเหลื่อมล้ำพร้อมกับสอนศีลธรรมให้รู้จัก “พอ” ฉะนั้น “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ซัก 5 ปีไม่น่าจะมีปัญหา
แต่ปัญหาคือคำว่า “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ไม่ใช่แค่เว้นวรรคพักอำนาจนักการเมือง มันต้องสูญเสียอะไรอีกหลายอย่างเป็นเดิมพัน เช่นความเสมอภาค ความชอบธรรม ความมีกฎเกณฑ์กติกา และความยุติธรรม
เอาง่ายๆ ไม่เอาเลือกตั้งก็ต้องสรรหา ซึ่งคลาดเคลื่อนนิดเดียวเท่านั้นก็ “เล่นพวก” “อุปถัมภ์” การได้อำนาจและใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม การใช้กฎหมายอย่างไม่ยุติธรรม โดยเอาความเชื่อเรื่องศีลธรรมคนดีคนชั่วเป็นที่ตั้ง ก็เสียทั้งหลักการและศีลธรรม
ระบอบนี้อาจดูยิ่งใหญ่ มีทหารมีตุลาการมีคนชั้นนำคนระดับบน แต่เมื่อฝืนเหตุผลฝืนความชอบธรรมวันหนึ่งก็จะสะดุดและเผชิญหน้ากับคนชั้นล่างคนชั้นกลางเสียงข้างน้อยที่ยึดมั่นประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ใบตองแห้ง