พาราสาวะถี
การเคลื่อนไหวของส.ส.ซีกรัฐบาลและการแสดงท่าทีของส.ว.ลากตั้งต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการของรัฐสภาด้วยว่าด้วยที่มาของส.ส.ร.นั้น เป็นการยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า มีการเตรียมการเพื่อที่จะให้ผลออกมาเป็นอย่างไร สุดท้ายหนีไม่พ้นเป็นส.ส.ร.ครึ่งบกครึ่งน้ำคือเลือกตั้งส่วนมากและลากตั้งจำนวนหนึ่ง ด้วยเหตุผลอันสุดแสนคลาสสิก หากเลือกตั้งทั้งหมดเกรงว่าจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในส.ส.ร.
อรชุน
การเคลื่อนไหวของส.ส.ซีกรัฐบาลและการแสดงท่าทีของส.ว.ลากตั้งต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการของรัฐสภาด้วยว่าด้วยที่มาของส.ส.ร.นั้น เป็นการยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า มีการเตรียมการเพื่อที่จะให้ผลออกมาเป็นอย่างไร สุดท้ายหนีไม่พ้นเป็นส.ส.ร.ครึ่งบกครึ่งน้ำคือเลือกตั้งส่วนมากและลากตั้งจำนวนหนึ่ง ด้วยเหตุผลอันสุดแสนคลาสสิก หากเลือกตั้งทั้งหมดเกรงว่าจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในส.ส.ร.
หนักข้อมากไปกว่านั้นก็ถึงขั้นที่กล่าวหาว่า การให้มีส.ส.ร.จากการเลือกตั้งทั้งหมด จะหนีไม่พ้นคนที่ได้รับเลือกจะเป็นตัวแทนของนักการเมือง พรรคการเมือง แล้วหนีไม่พ้นข้อครหาสภาผัวเมียเหมือนในอดีต นอกจากจะเป็นการดูแคลนและคิดแทนประชาชนแล้ว ยังแกล้งทำเป็นมึนหรือตีลูกเซ่อ แล้วพวกที่นั่งหน้าสลอนในสภาลากตั้งเวลานี้แถมมีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วยนั้น ไม่ใช่สภาญาติโกโหติกาหรืออย่างไร อย่าคิดว่าประชาชนโง่ไปหน่อยเลย
เมื่อมีความพยายามในลักษณะนี้มันย่อมแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจ และเป็นการขับเคลื่อนที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมของขบวนการสืบทอดอำนาจ เห็นกระบวนการในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการแล้ว เจตนาชัดว่าเป็นการยื้อเวลา ขณะที่เรื่องสำคัญยังออกลูกตุกติกกันขนาดนี้ แล้วเรื่องของคณะกรรมการสมานฉันท์มันจะทำให้คนเชื่อถือได้อย่างไร การไม่เข้าร่วมของกลุ่มผู้ชุมนุมนั่นไม่ใช่เรื่องแปลก ส่วนการปฏิเสธเข้าร่วมของพรรคฝ่ายค้านก็เพราะมองเห็นแล้วว่ามันไม่เกิดประโยชน์อะไร
ขนาดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภายังยอมรับกลางที่ประชุมเองเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่มีการลงมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการยื้อเวลาก่อนรับหลักการว่า “ผมก็ถูกหลอกเหมือนกัน” แล้วคณะกรรมการสมานฉันท์ที่ท่านประธานยืนยันการันตีในแนวทางว่า กรรมการ 7 ฝ่ายไม่มีเรื่องของสัดส่วน เสียงข้างมากข้างน้อย ไม่มีการลงมติ เพราะต้องการรับฟังข้อเสนอและหาทางออกร่วมกัน มันจะเชื่อถือได้อย่างไร
การที่มีสัดส่วนของฝ่ายหนุนรัฐบาลมากกว่าฝ่ายเห็นต่าง ท้ายที่สุดเมื่อมีคณะกรรมการเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ก็จะหาเหตุมาอ้างเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ และสันดานของพวกสืบทอดอำนาจก็ชอบตีมึน ไม่แยแสต่อกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ อยู่แล้ว ดังนั้น ฝ่ายต่อต้านจึงมองว่านี่เป็นแค่ละครการเมืองฉากหนึ่งเท่านั้น ยิ่งได้ฟังมือกฎหมายข้างกายผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอ้างเรื่องคำถามพ่วงต้องมาจากคณะกรรมการสมานฉันท์ นั่นยิ่งทำให้เชื่อได้ว่ามีวาระซ่อนเร้นแน่นอน
ส่วนพรรคฝ่ายค้านในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงไม่เป็นการดูแคลนเกินไปว่าเป็นเพียงแค่ไม้ประดับทำให้ครบองค์ประกอบที่มีผู้ร่วมพิจารณากันทุกฝ่ายเท่านั้น ก็ ชินวรณ์ บุญยเกียรติ จากประชาธิปัตย์ที่นั่งเป็นกรรมาธิการด้วย อ้างอิงหลักการสวยหรูใครเห็นต่างสามารถสงวนคำแปรญัตติแล้วไปอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาได้ แต่สุดท้ายก็ต้องลงมติใช้เสียงข้างมากชี้ชัดในเรื่องนั้น ๆ เท่านี้ก็เห็นกันแล้วว่าปลายทางมันจะจบลงอย่างไร
ในทางการเมืองก็ต้องบอกว่าขบวนการสืบทอดอำนาจจะถูลู่ถูกังกันไปอย่างนี้ อาศัยชั้นเชิงความช่ำชองในข้อกฎหมายประคองเอาตัวรอดไปจนครบวาระ แต่ในทางสังคมว่าด้วยการยอมรับและกระแสต่อต้านของประชาชนนั้น ไม่มีใครคาดเดาได้ สิ่งสำคัญที่ย้ำมาโดยตลอดการอยู่รอดของรัฐบาลและผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในทางรัฐสภานั้นไม่มีปัญหา แต่ในด้านของประชาชนผลงานจะเป็นตัวชี้วัด จะทำตัวเป็นเจ้าพ่อแจกแหลกอยู่ตลอดเวลา ก็มาดูกันว่ามันจะซื้อเวลาและรองรับความเดือดร้อนของคนไปได้ขนาดไหน
สำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ก็เชื่อมั่นได้ว่าในส่วนของเรื่องที่จะมีการร้องเรียนโดยมีองค์กรมาทำให้เกิดการสะดุดนั้น ลืมเรื่องนี้ไปได้เลย ไม่ต่างจากบางพรรคการเมืองที่ทำอะไรก็ไม่เคยผิดและไม่เคยถูกยุบพรรคแม้แต่ครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม ผลจากการรอดด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีบ้านพักหลวงล่าสุดนั้น เกิดข้อคำถามต่อกระบวนการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกันจำนวนมาก ต่อประเด็นระเบียบกองทัพบกใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ
ประเด็นนี้ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนบทความแสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ โดยเปรียบเทียบคดีดังว่ากับกรณีทำกับข้าวแล้วถูกปลดพ้นนายกฯ ของ สมัคร สุนทรเวช ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีของสมัครนั้น มุ่งให้ความสำคัญกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่คำวินิจฉัยให้สมัครพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไป แม้จะถูกค่อนขอดเรื่องการใช้พจนานุกรมตัดสินก็ตาม
แต่พอมาพิจารณาถึงคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นในกรณีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ กลับมุ่งไปที่ระเบียบของกองทัพบกและคุณลักษณะส่วนตัวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยความเห็นว่าการดำเนินการเป็นไปตามระเบียบฯ รวมถึงพลเอกประยุทธ์ก็เป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ มากกว่าการพิจารณาถึงบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กรณีเช่นนี้จึงทำให้ความหมายของการขัดกันของผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเบาบางลง
แน่นอนว่า เมื่อกระบวนการพิจารณาจนนำมาสู่การวินิจฉัยในลักษณะเช่นนี้ สมชายจึงให้ความเห็นว่า ความไว้วางใจต่อสาธารณะที่จะบังเกิดขึ้นต่ออำนาจตุลาการไม่อาจมาด้วยการใช้กฎหมายและอำนาจบังคับ ความมีเหตุมีผลที่รับฟังได้ ความสม่ำเสมอต่อการวินิจฉัยคดีต่าง ๆ ไม่ว่าผู้เป็นคู่ความจะเป็นบุคคลใด และการยึดมั่นในหลักวิชาต่างหากที่จะทำให้อำนาจตุลาการเป็นที่เคารพและไว้วางใจของสังคม
อย่างไรก็ตาม อาจารย์สมชายคงลืมไปแล้วกระมังว่า ครั้งหนึ่งเคยมีอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งสารภาพในเวทีเสวนาวิชาการหลังพ้นตำแหน่งไปแล้วว่า มีการตัดสินคดียุบ 3 พรรคการเมืองตามกระแสและตามอำเภอใจ กรณีรถไฟฟ้าความเร็วสูงยุคยิ่งลักษณ์ก็น่าจะเป็นบทพิสูจน์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี พิสูจน์ทั้งมาตรฐานและสำนึกของคนที่พูดว่าถนนลูกรังไม่หมดประเทศไทยก็อย่าได้คิดสร้างรถไฟความเร็วสูง บอกได้อย่างเดียว เฮงซวยจริง ๆ