AMANAH แนวโน้มโตต่อเนื่อง

มีการประเมินว่ากำไรของ AMANAH ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความต้องการสินเชื่อสูง เพราะเป็นช่วง High season ของการปล่อยสินเชื่อ


คุณค่าบริษัท

ว่ากันด้วยเรื่องผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2563 ของบริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH ที่มีการประเมินว่ากำไรยังมีแนวโน้มเติบโตต่อ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความต้องการสินเชื่อสูง เพราะเป็นช่วง High season ของการปล่อยสินเชื่อ

กอปรกับการกลับมาชำระหนี้ตามปกติของลูกหนี้ที่หยุดพักการชำระไปในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งบริษัทยังมีการเร่งตามเก็บหนี้ที่เคยตัดสูญไปแล้วให้ได้เพิ่มมากขึ้น มั่นใจว่าผลดังกล่าวจะช่วยผลักดันผลการดำเนินงานเติบโตตามผลงานในช่วงไตรมาส 3/2563 ที่ผ่านมา

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 199.86 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 189.93 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 75.63 ล้านบาท หรือ 0.073 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน 68.79 ล้านบาท หรือ 0.067 บาทต่อหุ้น เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นและรายได้อื่น (ส่วนใหญ่มาจากหนี้สูญได้รับคืน) ที่เพิ่มขึ้น

ส่งผลให้ผลการดำเนินงวดเก้าเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 583.76 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 531.66 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 213.62 ล้านบาท หรือ 0.207 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน 177.52 ล้านบาท หรือ 0.173 บาทต่อหุ้น เป็นการสะท้อนว่าบริษัทยังเติบโตแกร่ง

เมื่อผลการดำเนินงานที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในไตรมาส 4/2563 ทำให้ทางนักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2563-2564 ของ AMANAH ขึ้นเป็น 282 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ 308 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เหตุจากการปรับประมาณการรายได้อื่นเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากรายได้หนี้สูญได้รับคืนที่ทาง AMAMAH สามารถเก็บได้สูงกว่าที่คาด

พร้อมกับปรับประมาณการเงินปันผลขึ้นเป็น 0.12 บาทต่อหุ้น และ 0.13 บาทต่อหุ้น ตามลำดับ จากเดิมที่คาดไว้ที่ 0.11 บาทต่อหุ้น และ 0.12 บาทต่อหุ้น จากการปรับประมาณการกำไรขึ้น ส่งผลให้ราคาพื้นฐานปี 2564 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.12 บาท รวมถึงคำแนะนำ “ทยอยซื้อ”

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. ธนาคาร อิสลามแห่งประเทศไทย 500,080,000 หุ้น 48.59%
  2. นายภานุรังษี ศรีวรัฏฐา 51,399,900 หุ้น 4.99%
  3. นายสุรศักดิ์ ไกรวิทย์ชัยเจริญ 17,800,000 หุ้น 1.73%
  4. นางลามิปาโกร์ ศรีคุรุวาฬ 16,597,697 หุ้น 1.61%
  5. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 10,312,017 หุ้น 1.00%

รายชื่อกรรมการ

  1. พลตรีณัฏฐิพงษ์ เผือกสกนธ์ ประธานกรรมการ, กรรมการอิสระ
  2. นายไพบูลย์ ศิริภาณุเสถียร ประธานกรรมการบริหาร, กรรมการ
  3. นายนันทพล พงษ์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ, กรรมการ
  4. นายมนต์ชัย รัตนเสถียร กรรมการ
  5. น.ส.ศันสนีย์ เมธิสริยพงศ์ กรรมการ

Back to top button