จาก ‘อเมซอน’ถึง ‘เจ้าเอี้ยง’
เมื่อ 18 ปีก่อนไม่มีใครเชื่อว่า “คาเฟ่ อเมซอน (Cafe Amazon)” ร้านกาแฟแบรนด์ไทย จะต่อกรกับร้านกาแฟข้ามชาติได้ แต่มาถึงวันนี้ Cafe Amazon มีจำนวนมากกว่า 3,200 สาขา ทั้งในและนอกสถานีน้ำมันปตท. มีร้านในประเทศ 2,800 สาขาและต่างประเทศ มากกว่า 200 สาขา ทั้งกัมพูชา, สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์, เมียนมา,โอมาน, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, จีน และเวียดนาม ที่สำคัญเทียบชั้น “ร้านกาแฟข้ามชาติ” ได้อย่างมิต้องสงสัย..!!
เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง
เมื่อ 18 ปีก่อนไม่มีใครเชื่อว่า “คาเฟ่ อเมซอน (Cafe Amazon)” ร้านกาแฟแบรนด์ไทย จะต่อกรกับร้านกาแฟข้ามชาติได้ แต่มาถึงวันนี้ Cafe Amazon มีจำนวนมากกว่า 3,200 สาขา ทั้งในและนอกสถานีน้ำมันปตท. มีร้านในประเทศ 2,800 สาขาและต่างประเทศ มากกว่า 200 สาขา ทั้งกัมพูชา, สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์, เมียนมา,โอมาน, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, จีน และเวียดนาม ที่สำคัญเทียบชั้น “ร้านกาแฟข้ามชาติ” ได้อย่างมิต้องสงสัย..!!
ร้าน “คาเฟ่ อเมซอน” เริ่มขายกาแฟแก้วแรกเมื่อปีพ.ศ. 2545 หลังจากสถานีบริการน้ำมันปตท. ไม่ได้มีธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (นอนออยล์) มากซักเท่าไร่ มีเพียงร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เปิดอยู่บางแห่งเท่านั้น “คาเฟ่ อเมซอน” จึงถือเป็นการเติมเต็ม และให้ผู้บริโภคมีทางเลือกให้นักเดินทางที่แวะเวียนเข้ามาเติมน้ำมัน..
ส่วนที่มาของชื่อ “คาเฟ่ อเมซอน” มีแนวคิดมาจากแหล่งกาแฟที่มีชื่อเสียงของโลกอย่างประเทศบราซิล ผนวกกับป่า Amazon จะคิดถึงความร่มรื่นของธรรมชาติ นั่นจึงทำให้ร้าน Café Amazon จึงถูกจัดวางให้เป็นร้านกาแฟ ที่สามารถนั่งพักผ่อนระหว่างการเดินทางหรือเป็นแหล่งนัดพบของกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ที่นิยมดื่มกาแฟที่มีรสชาติอร่อยเข้มข้น ด้วยบรรยากาศร่มรื่นเฉกเช่นเดียวกับป่าอเมซอนนั่นเอง
ร้าน “คาเฟ่ อเมซอน” เป็นธุรกิจที่พัฒนาโดยเครือปตท.ภายใต้บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดแฟรนไชส์ให้เจ้าของสถานีบริการน้ำมันหรือเอกชนรายย่อยลงทุนได้ โดยรับซื้อเมล็ดกาแฟจากโครงการหลวงและเกษตรกรไทย มีโรงคั่วของตนเองเมื่อปี 2559 มีการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพและผลิตผลเมล็ดกาแฟและช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย
จากวันนั้นมาสู่วันนี้เครือปตท. ภายใต้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ได้แจ้งเกิด “เจ้าเอี้ยง” โดรนเกษตรอัจฉริยะสัญชาติไทย ออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์โดยคนไทย เป็นการร่วมมือระหว่างกลุ่ม PTTEP กับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อบริษัท เอทีไอ เทคโนโลยีส์ จำกัด (ATI) เป็นพัฒนาโดรน “เจ้าเอี้ยง” รวมถึงแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลและบริการด้านการเกษตรแบบครบวงจร
โดรนเกษตรอัจฉริยะ “เจ้าเอี้ยง” มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรม เพื่อมาประยุกต์ใช้กับภาคเกษตรกรรมแบบหลากมิติครอบคลุมทุกด้าน เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานเหมาะสมกับการใช้งานจริงในประเทศไทย สามารถเก็บและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อยอดเพื่อระบุพื้นที่ที่ควรใส่ปุ๋ยและทำการฉีดพ่นปุ๋ยน้ำได้สม่ำเสมอ แม่นยำและทั่วถึง ลดค่าใช้จ่ายประหยัดเวลาการทำงาน และเพิ่มความปลอดภัย ที่สำคัญสามารถเก็บภาพและประมวลผลข้อมูล เพื่อพยากรณ์และแบ่งเกรดผลผลิตเพื่อวางแผนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย “เจ้าเอี้ยง” มีกำหนดวางจำหน่ายช่วงไตรมาส 1/64 ด้วยราคาเริ่มต้น 198,000 บาท
แน่นอนว่า “เจ้าเอี้ยง” วันนี้..คงไม่ต่างจาก “คาเฟ่ อเมซอน” เมื่อ 18 ปีก่อน..ที่ต้องถูกตั้งคำถามว่า “โดรนคนไทย” จะต่อกรกับ “โดรนต่างชาติ” ต่างชาติได้หรือไม่.!? แต่บทพิสูจน์จาก “คาเฟ่ อเมซอน” น่าจะเป็นคำตอบให้กับ “เจ้าเอี้ยง” ได้เป็นอย่างดี
แต่หากจะผลักดันให้เกษตรกรไทย มีโอกาสเข้าถึงโดนอัจฉริยะ “เจ้าเอี้ยง” ได้อย่างแท้จริง หนีไม่พ้นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อนคู่คิดมิตรคู่กายเกษตรกร ที่กลุ่ม PTTEP และ THCOM สมควรดึงเข้ามาร่วมให้บริการทางการเงินในรูปสินเชื่อเช่าซื้อ เพื่อให้เกษตรกรไทยยกระดับความเป็น “เกษตรกรอัจฉริยะ” อย่างแท้จริง…