ECF-FPI ถอยร่นตั้งหลัก.!

น่าแปลกใจ..!! อยู่ ๆ สองเกลออย่างบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF และบริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI ก็พร้อมใจกันเทขายหุ้นบริษัท เซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด (SAFE) ซึ่งลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือก ซะงั้น...


สำนักข่าวรัชดา

น่าแปลกใจ..!! อยู่ ๆ สองเกลออย่างบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF และบริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI ก็พร้อมใจกันเทขายหุ้นบริษัท เซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด (SAFE) ซึ่งลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือก ซะงั้น…

ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ทั้ง ECF และ FPI ตั้งความหวังกับบริษัทนี้ไว้ค่อนข้างมาก…ถึงขั้นมีแผนจะดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซะด้วยซ้ำ…

โดย ECF มองว่าธุรกิจหลักขายเฟอร์นิเจอร์ทั้งในและต่างประเทศโตลำบากมากขึ้น จึงเสาะแสวงหาธุรกิจใหม่อย่างธุรกิจพลังงานทางเลือกเข้ามา อย่างน้อย ๆ ก็มีโรงงานเศษไม้ มีพันธมิตรที่เป็นโรงไม้ โรงเลื่อยไม้ สามารถป้อนวัตถุดิบเป็นเชื้อเพลิงได้ ก็เลยเข้าสู่ธุรกิจนี้ผ่านเซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ ด้วยการเข้าไปถือหุ้น 33.37%

ฟาก FPI ซึ่งผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สถานการณ์ก็ไม่ค่อยสู้ดี ธุรกิจพวกนี้ไม่ได้สดใสซาบซ่าเหมือนก่อน การเติบโตเริ่มจำกัด… FPI จึงพยายามไดเวอร์ซิไฟด์ธุรกิจ ก็เห็นดีเห็นงามกับ ECF เข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์ถือหุ้นในเซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ สัดส่วน 33.37% เช่นกัน

ที่จริงนอกจาก ECF และ FPI แล้ว ยังมีบริษัท ไพร์ซ ออฟ วู้ด โฮลดิ้ง จำกัด ที่ร่วมถือหุ้นเซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ สัดส่วน 33.26% กลายเป็น 3 ปาร์ตี้ใหญ่ด้วยกัน…

การขายหุ้นของ ECF และ FPI ครั้งนี้ จึงโยนให้กับไพร์ซ ออฟ วู้ด โฮลดิ้ง รับไปทั้งหมด…โดย ECF และ FPI จะได้เงินเข้ากระเป๋าบริษัทละ 233.88 ล้านบาท

เซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ เป็นโฮลดิ้ง คอมปานี โดยปัจจุบันเข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ขนาด 7.5 เมกะวัตต์ โรงสับไม้ ในจังหวัดนราธิวาส และโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในรูปแบบ Biomass Gasification ขนาด 2 เมกะวัตต์ จังหวัดแพร่ (ปัจจุบันสามารถจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ 1 เมกะวัตต์)

ก็น่าสนใจว่าทำไมสองเกลอจึงพร้อมใจกันขายหุ้นทิ้ง…

กรณีนี้มองได้ว่า อันแรก เซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ ยังอยู่ในช่วงการลงทุน เห็นได้จากผลประกอบการย้อนหลังช่วง 3 ปี ขาดทุนมาตลอด ปี 2560 ขาดทุน 2 ล้านบาท จากรายได้รวม 1 ล้านบาท ปี 2561 ขาดทุน 10  ล้านบาท จากรายได้รวม 3 ล้านบาท และปี 2562 ขาดทุน 12 ล้านบาท จากรายได้รวม 2 ล้านบาท

ถ้าถือต่อไปก็ต้องรับรู้ผลขาดทุนไปเรื่อย ๆ ขณะที่โอกาสกำไรริบหรี่ เพราะแผน PDP ใหม่ยังไม่มี

อันที่สอง ไปด้วยกันไม่ได้ ไม่เวิร์ก แพเลยแตกซะก่อน…

และอันที่สาม นโยบายพลังงานทางเลือกของกระทรวงพลังงานก่อนหน้านี้ยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่ปัจจุบันปริมาณไฟฟ้าสำรองเหลือเยอะ ยังไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง ทำให้โอกาสที่จะได้ PDP ใหม่ยิ่งริบหรี่ไปอีก…

ทั้งสองเกลออาจอดทนรอคอยไม่ไหว ก็เลยตัดสินใจขายซะดีกว่า เพื่อเก็บเงินสดไว้ เติมสภาพคล่อง หรือไปลงทุนอย่างอื่น ที่ออกดอกออกผลได้เร็วกว่า…

ก็ไม่แปลกถ้าจะมองว่านี่เป็นการถอยร่นมาตั้งรับของสองเกลอ…(ส่วนจะปรับแผนรุกคืบพลังงานทางเลือกอย่างไรต่อไป ค่อยว่ากัน)

แต่ถ้าใครจะมองว่าเป็นการถอยกรูด ก็ช่วยไม่ได้อะนะ นานาจิตตัง…

…อิ อิ อิ…

Back to top button