พาราสาวะถี

ฟังหมอการเมือง นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 รายวัน ทำให้เห็นแง่คิด มุมมอง ตลอดความรับผิดชอบของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและขบวนการทั้งหมดได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่คราวการเริ่มต้นระบาดที่อ้างว่าไม่ใช่ระลอกสองแต่เป็นการระบาดใหม่ จนกระทั่งในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุข ต่างพากันค่อนขอดว่า “เลือกเอาที่สบายใจ” เพราะไม่ว่าจะใช้ถ้อยคำหรือสร้างวาทกรรมแบบไหน มันก็คือการระบาดอย่างหนักและรุนแรงกว่าครั้งแรกนั่นเอง


อรชุน

ฟังหมอการเมือง นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 รายวัน ทำให้เห็นแง่คิด มุมมอง ตลอดความรับผิดชอบของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและขบวนการทั้งหมดได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่คราวการเริ่มต้นระบาดที่อ้างว่าไม่ใช่ระลอกสองแต่เป็นการระบาดใหม่ จนกระทั่งในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุข ต่างพากันค่อนขอดว่า “เลือกเอาที่สบายใจ” เพราะไม่ว่าจะใช้ถ้อยคำหรือสร้างวาทกรรมแบบไหน มันก็คือการระบาดอย่างหนักและรุนแรงกว่าครั้งแรกนั่นเอง

จนกระทั่งการแถลงครั้งล่าสุด ที่ชี้แจงในประเด็นเหตุผลไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ และมาตรการชดเชยว่า มีคำตอบอยู่ในคำถามดังกล่าวแล้ว เพราะเมื่อไหร่ที่ศบค.ต้องประกาศว่าล็อกดาวน์ นั่นหมายถึง คำสั่งนี้จะกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจและรายได้ทุกคน ต้องมีการเยียวยา ซึ่งเป็นภาระของภาษีเงินทั้งประเทศ และตอนนี้ทั้งโลกเจอภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งไทยเองก็ต้องเผชิญเช่นเดียวกัน สรุปแบบเข้าใจง่ายคือ การโยนภาระไปให้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด เพื่อที่จะเลี่ยงบาลีต่อต้นทุนที่จะต้องจ่ายนั่นเอง

หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและรัฐบาลหมดสิ้นหนทางที่จะไปหาเงินมาเยียวยากับทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบต่อการระบาดครั้งนี้หากมีการล็อกดาวน์ ทั้งที่หากประเมินจากความรุนแรงของการระบาดรอบแรกกับหนนี้ เห็นได้ชัดว่ารอบนี้น่ากลัวกว่า ถ้าไม่ใช่มาตรการล็อกดาวน์เพราะฝ่ายกุมอำนาจบ่มิไก๊ในการที่จะโอบอุ้มประชาชนและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็ประกาศมาเสียให้ชัดแล้วแสดงความรับผิดชอบโดยเปิดทางให้ผู้ที่มีแนวคิด วิสัยทัศน์เข้ามาบริหารแทน

ไม่ต้องอ้างว่าหากลาออกกันเวลานี้แล้วจะมีใครคอยมาแก้ปัญหา ก็ถ้าทำได้เพียงเท่านี้คงไม่ใช่สิ่งที่ลิ่วล้อไร้ต้นทุนไปเที่ยวโพนทะนาว่าผู้นำของตัวเองเก่งกว่าอดีตผู้นำคนก่อน ๆ หลายเท่าตัว เพราะยิ่งพูดมันก็เหมือนยิ่งทำให้ตัวเองและพรรคพวกติดลบลงไปเรื่อย ๆ ประสาคนโง่ชมกันเองประเทศชาติก็จะมีแต่หายนะ การระบาดรอบนี้ไม่ต้องถามว่าเกิดจากใคร กรณีของตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครกับแรงงานต่างด้าวลักลอบก็บ่งชี้แล้วว่ามาจากใคร พวกไหน

ขณะเดียวกัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ทำสถิติพุ่งสูงหรือนิวไฮในช่วงสองสามวันมานี้ ลองไปพลิกดูว่าพื้นที่ไหนพบผู้ติดเชื้อมากที่สุด อยู่ในจังหวัดทางภาคตะวันออกที่เป็นเลขสองหลักเกือบทุกจังหวัด ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ ติดเชื้อมาจากบ่อนการพนัน ทั้งสองประการนี้ถามว่ามาจากความย่อหย่อน การ์ดตกของประชาชนอย่างนั้นหรือ ชัดเจนว่าล้วนแต่เกิดจากความตะกละตะกลามของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสิ้นไม่ว่าจะรับเงินจากต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือการปล่อยให้เปิดบ่อนในพื้นที่เล่นกันอย่างเอิกเกริก

แน่นอนว่าปมของต่างด้าวลักลอบเหตุผลอันสุดคลาสสิคคือ แนวตะเข็บชายแดนไทยมีระยะทางยาวหลายพันกิโลเมตร เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ แต่คำตอบของประชาชนง่าย ๆ คือ แล้วจุดลักลอบที่นิยมจ่ายเงินกันเข้ามานั้นมันมีมากเหมือนสิ่งที่อ้างหรือเปล่า หากเป็นผู้นำที่เข้าใจสภาพปัญหาต้องกล้ายอมรับว่านี่คือความเห็นแก่ตัวของพวกถืออำนาจบางคน บางกลุ่ม ถ้าตัวเองไม่กล้าแสดงความรับผิดชอบ ก็ต้องลากคอพวกนี้มาประจานให้สังคมเห็นกันโดยเร็ว

ขณะเดียวกัน เรื่องของบ่อนการพนันจะเห็นได้ว่าทำไมจึงมีแต่พื้นที่ภาคตะวันออก และก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าแต่ละจังหวัดมีกันกี่แห่ง ใครเป็นโต้โผใหญ่ เข้าใจได้ว่าบ่อนพวกนี้ก็คือสถานที่สะสมเงินทุนสำหรับขบวนการซื้อขายตำแหน่งในฤดูกาลโยกย้าย โดยจะมีการรวบรวมไว้เป็นกองกลาง จากนั้นเมื่อถึงเวลาก็จะเข้าไปหาพวกที่ใจถึงพึ่งได้ ใครกล้าที่จะการันตีให้บ่อนมีรายได้โดยไม่มีผู้ถือกฎหมายมารบกวน ก็จะมีการนำเงินส่วนนี้ไปจ่ายให้ผู้มีอำนาจ

หากไม่โกหกตอแหล ไม่เชื่อว่าคนอย่าง พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะไม่รู้ข้อมูลประเภทนี้ เช่นเดียวกันคนอย่างผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ไม่น่าจะพลาดข้อมูลในลักษณะนี้ พอเข้าใจได้หากเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่มักใหญ่ใฝ่สูงก็เชิญทำกันตามสบาย แต่ในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนักเช่นนี้ ขอกันก่อนได้ไหม งดกันไปเป็นการชั่วคราวไว้ก่อน พอสถานการณ์สร่างซาแล้วค่อยมาว่ากันใหม่ก็น่าจะมีเวลาถมเถสำหรับการระดมทุนเพื่อฤดูกาลโยกย้ายใหญ่ในปีนี้

สิ่งที่เป็นปัญหาตามมาจากการประกาศยกระดับของจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นต่อเนื่อง และต้องถูกจัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดเหมือนจังหวัดสมุทรสาครคือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ทำจดหมายเปิดผนึกของท่านผู้นำไปแล้วก็คือ สมาคมภัตตาคารไทยที่ส่งผ่านสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในประเด็นที่จะให้ร้านอาหาร ภัตตาคารทั้งหลายเบื้องต้น 28 จังหวัด ให้ผู้ใช้บริการซื้อกลับไปทานที่บ้านได้เท่านั้น

มันส่งผลต่อยอดขายของร้านรวงเหล่านั้น แน่นอนว่า ไม่ใช่แค่นั้น หากแต่ยังกระทบต่อแรงงานที่จะต้องถูกเลิกจ้างไปโดยปริยาย และยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องในเครือข่าย โดยที่สมาคมภัตตาคารยกมาให้เห็นภาพก็คือ ภาคเกษตรกรรม ที่เกษตรกรจำนวนไม่น้อยมีรายได้จากการขายสินค้าให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารเหล่านี้ เมื่อยอดตก รายได้ไม่พอกับรายจ่ายมันย่อมกระทบเป็นห่วงโซ่ ต่อให้เลี่ยงบาลีไม่ล็อกดาวน์ ไร้ปัญญาหาเงินมาเยียวยาอย่างไร หากความเดือดร้อนมันถึงขีดสุดถามว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะรับมืออย่างไร

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ประกอบการร้านชาบู ที่จุดขายสำคัญก็คือการนั่งทานได้ที่ร้าน ก็เริ่มมีการประกาศท้าทายมาตรการของภาครัฐ เมื่อจะไม่ยอมปิดกิจการ โดยขอเปิดให้ลูกค้ามานั่งทานที่ร้านได้ หากทำจริงภายใต้ประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดที่รัฐบาลสั่งการไป ถามว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกันแบบไหน แล้วหากมีใครก่อหวอดประท้วงด้วยมาตรการที่รุนแรงหรือมีการฆ่าตัวตายประชดเกิดขึ้น ท่านผู้นำและคณะจะยกเอาเรื่องของทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายมาเป็นเกราะป้องกันตัวเองแบบนั้นหรือ นี่คือโจทย์ที่ไม่ต้องพูดถึงความรับผิดชอบที่ไม่มี แต่ถามถึงวิสัยทัศน์และการมองไปข้างหน้าว่าจะแก้ปัญหาให้ครบวงจรกันอย่างไร

Back to top button