ดอกเบี้ยลง หนุนดัชนี

ปี 2564 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีประชุมนัดแรก 3 ก.พ.นี้


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ปี 2564 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีประชุมนัดแรก 3 ก.พ.นี้

บรรดานักวิจัย นักวิเคราะห์จากหลายสำนักธุรกิจเริ่มออกมาคาดการณ์ผลการประชุมกันแล้วล่ะ

เสียงที่ออกมาเริ่มมองกันว่า โอกาส กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีกนั้น

เริ่มที่จะมีเปอร์เซ็นต์มากขึ้น

ย้อนกลับไปที่การประชุมกนง.ก่อนหน้านี้

กนง.ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดเมื่อ 20 พ.ค. 63

ในครั้งนั้น เป็นการปรับลดดอกเบี้ยลงมา 0.25% หรือจาก 0.75% ลงมาเหลือ 0.50% ด้วยมติ 4 ต่อ 3 เสียง ซึ่งเป็นเสียงที่ “ไม่เป็นเอกฉันท์” และถือเป็นดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

หลังจากนั้น กนง.ได้ประชุมอีกทั้งหมด 5 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี 2563

และ 5 ครั้งที่ว่านี้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยทุกครั้ง และเสียงเป็นแบบ “เอกฉันท์” ด้วย

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เคยบอกว่า การขับเคลื่อนหรือรับมือกับภาวะเศรษฐกิจ จำเป็นต้องใช้นโยบายด้าน “การเงิน” กับ “การคลัง” ควบคู่กัน

การส่งสัญญาณดังกล่าว เสมือนมีนัยว่า ดอกเบี้ยไม่น่าจะปรับลงแล้วล่ะ

และควรนำนโยบายด้านการคลังเข้ามาช่วยผลักดันด้วย

ทว่า ผ่านมาถึงตอนนี้ ขณะนี้ หรือปัจจุบัน

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะดีขึ้นอย่างช้า ๆ

อาจจะทรุด หรือชะลอการฟื้นตัวออกไปอีก

เหตุผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ที่เกิดขึ้น จะเป็นตัวเหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจ

แม้โควิดรอบล่าสุดนี้ ถูกประเมินว่า อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงเหมือนรอบแรก เพราะเอกชนเองต่างเรียนรู้ หรือมีประสบการณ์ที่จะรับมือกันแล้ว

แต่ดอกเบี้ยก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเอกชนในด้านของ “ต้นทุน”

ล่าสุด มีการวิเคราะห์จากนักวิเคราะห์ของ บล.เอเซีย พลัส

มีการเปิด 4 ปัจจัยเอื้อต่อการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25%

นั่นคือ ทั้งเงินเฟ้อต่ำ โควิด-19 เงินบาทแข็งค่า และผลตอบแทนพันธบัตร หรือ Bond Yield ยังต่ำ

พร้อมประเมินหากลดจริงจะหนุนอัพไซด์หุ้นได้อีกประมาณ 100 จุด ชู 3 หุ้นรับอานิสงส์

เริ่มจาก “อัตราเงินเฟ้อไทยยังต่ำ” ที่อัตราเงินเฟ้อไทยเดือนธ.ค. 2563 รายงานออกมาหดตัว 0.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่เดือน พ.ย. 2563 หดตัว 0.41% ตามราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัว

หากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยแท้จริง หรือ Real Interest Rate ที่คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ

จะพบว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทยอยู่ที่ระดับ 0.77% เปิดช่องให้ กนง. ลดดอกเบี้ยลงได้อีก  หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ลบด้วย -0.27%

“เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงจาก โควิด-19” ที่การกระจายตัวของผู้ติดเชื้อ ทำให้รัฐบาลเข้มงวดกิจกรรมเศรษฐกิจ

Partial Lockdown หากยืดเยื้อ จะเป็น Down side ต่อการเติบโตเศรษฐกิจ

“ค่าเงินบาท” ยังมีแนวโน้มแข็งค่า ปัจจุบันค่าเงินบาทยังทรงตัวราว 29.9-30 บาท/เหรียญ แข็งค่าสุดในรอบ 1 ปี

และสุดท้าย “ผลตอบแทนพันธบัตร” (Bond Yield) 1 ปีต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย โดย Bond Yield 1 ปีถือเป็น 1 ใน Leading Indicator ของไทยทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ 0.349% ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน 0.50%

บ่งบอกว่าตลาดคาดว่าจะมีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในอนาคต

แน่นอนว่า การลดดอกเบี้ยนโยบาย เป็นอีกหนึ่งแรงหนุน หรือเพิ่มอัพไซด์ของตลาดหุ้นเปิดกว้างขึ้น

มีการประเมินเป้าหมายของดัชนีปี 2564 ที่ระดับดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ภายใต้ Market Earning Yield Gap ที่ 3.7-3.5% (ถือว่า Conservative ในช่วงเวลาที่ Fund Flow ไหลเข้า) อยู่ที่ 1,550-1,626 จุด

หากลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% จะผลักดันให้ P/E ที่เหมาะสมเพิ่มขึ้น 1.5–1.7 เท่า

หรือเปิดอัพไซด์ให้เป้าหมายของดัชนีอีก 96–108 จุด มาอยู่ที่ 1,646–1,734 จุด

สรุปคือ ปัจจัยต่าง ๆ กดดันให้ดอกเบี้ยที่ยืนในระดับต่ำมีโอกาสลดลงอีก

และหนุนให้ฟันด์โฟลว์มีโอกาสย้ายจากสินทรัพย์ปลอดภัยมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะ “หุ้นจ่ายปันผลสูง”

Back to top button