EPG ขับเคลื่อนด้วย 3 ธุรกิจสดใส

EPG แนวโน้มสดใสต่อเนื่องทั้ง 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจ Aeroklas (ชิ้นส่วนรถยนต์) 2.ธุรกิจ EPP (บรรจุภัณฑ์) และ 3.ธุรกิจ Aeroflex (ฉนวนกันความร้อน/เย็น)


คุณค่าบริษัท

ทิศทางธุรกิจของ บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG แนวโน้มสดใสต่อเนื่องทั้ง 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจ Aeroklas (ชิ้นส่วนรถยนต์) 2.ธุรกิจ EPP (บรรจุภัณฑ์) และ 3.ธุรกิจ Aeroflex (ฉนวนกันความร้อน/เย็น)

สำหรับทิศทางการเติบโตทั้ง 3 ธุรกิจหลักมีขึ้นดังต่อไปนี้

-ธุรกิจ Aeroklas (ชิ้นส่วนรถยนต์) จะฟื้นตัวได้โดดเด่นมากสุดตามยอดผลิตรถยนต์ในประเทศที่ฟื้นตัว และ TJM มีโอกาสพลิกเป็นกำไรครั้งแรก จากการลดต้นทุน และยอดขายรถยนต์ที่ออสเตรเลียปรับตัวดีขึ้นมาก เนื่องจากมีการซื้อรถยนต์เพื่อท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น

-ธุรกิจ EPP (บรรจุภัณฑ์) รับอานิสงส์จากการบริโภคที่ฟื้นตัว ได้รับผลบวกจากความนิยมของประชาชนซื้ออาหารกลับบ้านมากขึ้น

-ธุรกิจ Aeroflex (ฉนวนกันความร้อน/เย็น) ในสหรัฐอเมริกาจะดีขึ้นมาในปี 2565 จากปี 2564 จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคนใหม่ ขณะที่หากมีการขึ้นภาษีและขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐจะกระทบจำกัด เนื่องจากโรงงานใหม่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และปัจจุบันจ่ายค่าแรงใกล้เคียงกับขั้นต่ำที่มีแผนจะปรับขึ้นใหม่แล้ว

นอกจากนี้ ในระยะสั้นทาง EPG จะได้รับเงินช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 (ระหว่าง ต.ค. 2563-มี.ค. 2564) อีกราว 50 ล้านบาท แบ่งเป็นจากรัฐบาลออสเตรเลีย 10 ล้านบาท และรัฐบาลสหรัฐฯ อีก 40 ล้านบาท หลังจากในช่วงครึ่งแรกปี 2564 (ระหว่าง เม.ย. 2563-ก.ย. 2563) ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลียแล้วราว 50 ล้านบาท

ผลดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์ บล.เคทีบี ปรับกำไรสุทธิปี 2564 ขึ้นจากเดิมเป็น 1 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2563 ซึ่งยังไม่รวมเงินช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19 ราว 50 ล้านบาท และมีการปรับคาดการณ์รายได้ปี 2564/2565 ดีขึ้นเป็นลบ 7.6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากเดิมลบ 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และปรับส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วมเป็น 95 ล้านบาท จากเดิม 40 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยหลักเป็นผลจากธุรกิจยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด

พร้อมคาดว่ากำไรสุทธิครึ่งหลังของปี 2564 จะกลับมาเติบโตโดดเด่น โดยเพิ่มขึ้น 36% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 63% จากครึ่งปีแรก ส่วนงวดไตรมาส 3/2564 (ต.ค. 2563-ธ.ค. 2563) ประเมินจะมีกำไรสุทธิราว 310-330 ล้านบาท ดีขึ้นจากไตรมาส 3/2563 (ต.ค. 2562-ธ.ค. 2562) ที่มีกำไร 214 ล้านบาท และไตรมาส 2/2563 (ก.ค. 2563-ก.ย. 2563) ที่มีกำไร 308 ล้านบาท

อีกทั้งมีการปรับกำไรปี 2565 ขึ้นเป็น 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากการฟื้นตัวของทั้ง 3 ธุรกิจหลักที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ผลดังกล่าวยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 10 บาท

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. บริษัท วิทูรปกรณ์ โฮลดิ้ง จำกัด 1,679,999,800 หุ้น 60.00%
  2. นายภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ 70,400,100 หุ้น 2.51%
  3. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 67,993,501 หุ้น 2.43%
  4. นายเฉลียว วิทูรปกรณ์ 54,121,000 หุ้น 1.93%
  5. นายชำนาญ วิทูรปกรณ์ 48,800,000 หุ้น 1.74%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายวัชรา ตันตริยานนท์ ประธานกรรมการ, กรรมการอิสระ
  2. นายภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, รองประธานกรรมการ
  3. นายธีระวัฒน์ วิทูรปกรณ์ กรรมการ นายชำนาญ วิทูรปกรณ์ กรรมการ
  4. นายเฉลียว วิทูรปกรณ์ กรรมการ

Back to top button