มูลค่าหุ้นพลวัต2015

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมานอกเหนือคอการเมืองจะพูดถึงการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับทหารมีอำนาจไม่ต้องรับผิดชอบข้างหลัง “รัฐบาลหุ่นเชิด" แล้ว ในวงการหุ้นก็พูดถึงเรื่องคำชี้แนะของบล.เครดิตสวิส ที่มีมาร์เกตแชร์เล็กน้อยแต่คอมเม้นท์สุดขั้วเป็นพิเศษถือเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์กันเลย


สุดสัปดาห์ที่ผ่านมานอกเหนือคอการเมืองจะพูดถึงการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับทหารมีอำนาจไม่ต้องรับผิดชอบข้างหลัง “รัฐบาลหุ่นเชิด” แล้ว ในวงการหุ้นก็พูดถึงเรื่องคำชี้แนะของบล.เครดิตสวิส ที่มีมาร์เกตแชร์เล็กน้อยแต่คอมเม้นท์สุดขั้วเป็นพิเศษถือเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์กันเลย

นักวิเคราะห์ของค่ายโบรกเกอร์นี้มาแรงเสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกัน ข่าวบอกว่า นอกจากปรับลดหุ้นเด่นดังขวัญใจชาวหุ้น 26 รายการรวดแล้วยังมีคำแนะนำให้ “ทิ้งตลาดหุ้นไทย” กันไปเลยเรียกว่าสุดๆ

หากยังไม่หลงลืมกันนักวิเคราะห์บริษัทนี้แหละที่แนะก่อนเลือกตั้งปี 2554 ที่บอกว่าถ้ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งรัฐบาลได้ ดัชนี SET จะลงจากเหนือ 1,100 จุด ยามนั้นไปที่ 700 จุด ซึ่งคำชี้แนะดังกล่าวรับรู้ในภายหลังว่าผิดพลาดชนิด 180 องศาเลยทีเดียว

ครั้งนี้จะผิดหรือถูกยังไม่อาจสรุป เพราะอนาคตไม่มีใครรู้ที่แน่ๆ คือ คงจะเปลี่ยนมุมมองนักวิเคราะห์ค่ายนี้ลำบากพอสมควร เพราะกระบวนทัศน์ดูเหมือนจะโคลนนิ่งตามกันมาเป็นแบบแผนเดียวกันไม่ว่าคนไหน เพราะในทางทฤษฎีพฤติกรรมศาสตร์นั้น กระบวนทัศน์แต่ละนักวิเคราะห์มีส่วนนำมาซึ่งการประเมินมูลค่าหุ้นหรือดัชนีตลาดหุ้นที่แตกต่างกัน มีโอกาสทั้งถูกและผิดเท่ากัน

การประเมินมูลค่าหุ้นมีกระบวนการที่ซับซ้อนหลายหลากวิธี ตั้งแต่วิธีง่ายสุดคือบุ๊คแวลู พี/อีหรือ วิธีอื่นๆ ของนักการเงิน เช่น การประเมินค่าเชิงปริมาณหรือการประเมินค่าผสมเชิงปริมาณและคุณภาพ

การประเมินค่าน้ำค่าไฟยังมีเรื่องค่าปัจจุบันและค่าอนาคตซึ่งอย่างหลังนี้เปิดช่องให้จินตนาการและกระบวนทัศน์ของนักวิเคราะห์ทำงานได้อย่างเสรีในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดได้ทั้งนั้น

ศาสตร์และศิลป์ของการประเมินมูลค่าหุ้นหรือหลักทรัพย์ จึงเป็นศาสตร์และศิลป์ของความเป็นไปได้ที่สามารถถูกและผิดด้วยเพราะตัวแปรที่เกี่ยวข้องมี 2 กลุ่มหลัก คือ ตัวแปรที่ควบคุมได้เป็นมูลค่าจากภายในของกิจการที่เป็นเจ้าของหุ้น และตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้จากมูลค่าภายนอกของกิจการ ซึ่งมีส่วนที่ทำให้กลายเป็นทั้งจุดอ่อนหรือจุดแข็ง โอกาสหรืออุปสรรคได้ทั้งสิ้น

โดยย่นย่อการวิเคราะห์มีจิตวิทยาอยู่ 3 ด้านหลัก คือ 1) การวิเคราะห์หามูลค่าสัมบูรณ์ (absolute value) หามูลค่าในปัจจุบันหักกลบด้วยดิสเคาท์แคชโฟลว์ 2) การวิเคราะห์หามูลค่าสัมพัทธ์บนรากฐานของมูลค่าธุรกิจโดยเปรียบเทียบ เป็นมูลค่าของอนาคตที่อาศัยจินตนาการมากกว่าปกติ 3) หามูลค่าสินทรัพย์เปรียบเทียบเพื่อประเมินในกรณีต้องการออกตราสารอนุพันธ์อ้างอิงราคาหุ้นหลัก

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์มีระบบการประเมินที่ดูเหมือนละเอียดซับซ้อนกว่าคนอื่นด้วยวิทยา (methodology) ที่ถ่ายทอดกันต่อมา จากรุ่นสู่รุ่น จึงอาจจะมีโอกาสฟันธงด้วยความมั่นใจมากกว่าคนกลุ่มอื่นแต่พวกเขาก็ไม่ได้ล้ำลึกเหนือสามัญมนุษย์ แต่นักลงทุนเองซึ่งมีประสบการณ์และจิตวิทยาที่ด้อยกว่า ด้านหนึ่งจำต้องพึ่งพานักวิเคราะห์แต่อีกด้านหนึ่งต้องมีวิจารณญาณของตนเอง

จุดเด่นของนักวิเคราะห์คือในทางทฤษฎี พวกเขามักถูกข้อกำหนดว่าห้ามมีบทบาทในการซื้อขายหุ้นเองหรือเพื่อประโยชน์ของตนเอง แม้ในทางปฏิบัติอาจมีรั่วไหลหรืออีแอบบ้างแต่พวกเขายังดีกว่าผู้จัดการกองทุนที่มักจะออกมาให้ความเห็นแบบมีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่น่าเชื่อถือมากนัก

เหตุผลที่นักลงทุนจ้องพึ่งพาวิจารณญาณของตนเองเพราะไม่ว่าจิตวิทยาของนักวิเคราะห์จะล้ำลึกแค่ไหน พวกเขาก็มักจะหลีกหนีอัตวิสัยของตนเองไม่พ้นและท้ายสุดก็จะมีนักวิเคราะห์อยู่ 3 กลุ่มเท่านั้น คือ 1) พวก “เชียร์แขก” มองเห็นโลกสวยเชิงบวกตลอดแบบคนขายฝันในทุกสถานการณ์ แม้ว่าหายนะจะอยู่แค่เอื้อม ก็ยังแนะให้เลือกซื้อมากกว่าเลือกขาย 2) พวก “ดร.ดูม” มองโลกแง่ร้าย หุ้นตัวไหนล้วนมูลค่าเกินจริงเสมอขายลูกเดียว 3) พวกไม้หลักปักเลน เห็นหุ้นบวกก็แนะว่าจะไปต่อ เห็นหุ้นร่วงก็บอกหมดรอบต้องหาฐานใหม่

ข้อเตือนสติของนักลงทุนเมื่ออ่านบทวิเคราะห์ทุกครั้ง จึงต้องเข้าใจว่าเบื้องหลัง “ข้อกำหนดและเงื่อนไข” หรือ disclaimer ที่ตามมาหลังบทวิเคราะห์ทุกครั้งเป็นการออกตัวล่วงหน้าในกรณีผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำจนคุ้นเคย

ช่วงเวลาหลายเดือนมานี้  สถานการณ์ที่ล่อแหลมของเศรษฐกิจโลกทำให้นักวิเคราะห์แบบดร.ดูมได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่าเสมือนเสียงเพลงของนางไซเรน พูดหรือชี้แนะอะไรไปคนก็เชื่อมากกว่าไม่เชื่อ  ยิ่งพูดร้ายเท่าใด คนก็ยิ่งเชื่อมากเท่านั้น ในขณะที่นักเชียร์แขกที่ถนัดขายความฝันทั้งหลายที่เคยรุ่งเรืองตอนตลาดขาขึ้น กลายเป็นเสียงนกเสียงกาหรือถูก “คำสาปของคาสซานดร้า” ที่ไร้คนฟังไปชั่วคราว

นักลงทุนมือเซียนระดับโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ จึงกล่าวเยาะเย้ยเสมอมาว่า พวก ดร.ดูมทั้งหลายนั้น มีไว้หลอกนักลงทุนขวัญอ่อน แต่เป็นเครื่องมือชั้นดีสำหรับการซื้อของวีไอ.เสมอ

การประเมินมูลค่าหุ้นของนักวิเคราะห์ที่ขัดแย้งกัน แม้ว่าอาจจะทำให้คนที่อ่อนด้อยประสบการณ์สับสนและงุนงง แต่นี่คือโอกาสดีสุดสำหรับนักลงทุนที่จะได้แยกแยะด้วยวิจารณญาณตนเองว่า อะไรคือเม็ดข้าวอะไรคือเม็ดแกลบเพื่อที่จะได้ดึงสัมปชัญญะที่หลงทางกับความผันผวน กลับมาทันเวลาก่อนเกิดหายนะ

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะได้ซึมซับประสบการณ์ตรงว่า ความโลภและความกลัวซ่อนอยู่ตรงไหนของมูลค่าหุ้น ที่สัมพัทธ์ตลอดเวลาในช่วงการซื้อขาย

Back to top button