Ghost Kitchen ฟู้ดเดลิเวอรี่ยุคใหม่

จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ “ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่” เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนนำพาสู่ร้านอาหารเทรนด์ใหม่ นั่นคือ Ghost Kitchen ที่เข้ามาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ ควบคู่กับทางออกของร้านอาหาร ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนพนักงานและต้นทุนสูง และเปิดทางให้ร้านอาหารรายย่อย เข้าถึงโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ “ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่” เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนนำพาสู่ร้านอาหารเทรนด์ใหม่ นั่นคือ Ghost Kitchen ที่เข้ามาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ ควบคู่กับทางออกของร้านอาหาร ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนพนักงานและต้นทุนสูง และเปิดทางให้ร้านอาหารรายย่อย เข้าถึงโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น

Ghost Kitchen หรือ “ครัวผี” หมายถึง ร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน ไม่มีที่นั่งให้ลูกค้า แต่จะรับออเดอร์อาหารผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์โดยร้านหรือห้องครัวเหล่านี้จะตั้งอยู่ในตัวเมืองที่ใช้พื้นที่ขนาดเล็ก ข้อดี คือสามารถลดต้นทุนด้านค่าเช่าพื้นที่ได้ หรือ มีต้นทุนที่ต่ำกว่าร้านอาหารที่มีหน้าร้านทั่วไป แต่มีทำเลสะดวกต่อการขนส่ง ที่สำคัญยังมีการผลิตต่อขนาด (Economy of Scale) ในการผลิตอาหารชนิดหรือเมนูเดียวกันจำนวนปริมาณมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลงไปด้วย

โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า การเติบโตของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ของไทย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2561) มีตัวเลขการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% สูงกว่าการขยายตัวของร้านอาหารทั่วไป ที่เฉลี่ยประมาณ 3-4% ต่อปี โดยมูลค่ารวมปี 2562 คาดว่าสูงถึงระดับ 33,000-35,000 ล้านบาท โดยเป็นร้านอาหารขนาดกลางและเล็กประมาณ 26,000 ล้านบาท ผู้ขับขี่รถส่งอาหาร 3,900 ล้านบาท และผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน 3,400 ล้านบาท

ข้อมูลจาก Morgan Stanley พบว่า สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่เติบโตมากถึง 220,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ในปีค.ศ. 2020) หรือคิดเป็น 30-40% ของมูลค่าตลาดร้านอาหารทั้งหมด เทียบกับปีค.ศ. 2017 ที่ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่มีมูลค่าเพียง 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เห็นว่า “ฟู้ดเดลิเวอรี่” จะต่อยอดสู่การเกิดร้านอาหารเพิ่มขึ้น และร้านอาหารส่วนใหญ่เริ่มก้าวเข้าสู่ยุค Offline to Online (O2O) มากขึ้น เพื่อปรับตัวเข้าสู่พฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ ที่เน้นการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ และการปรับตัวครั้งนี้ เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารด้วยเช่นกัน ทั้งในแง่การขยายฐานลูกค้า การลดข้อจำกัดด้านทำเลที่ตั้งและการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้อีกทางหนึ่ง..

ด้วยความสะดวกเรื่องการจัดส่งมากขึ้น ทำให้บุคคลทั่วไปหรือผู้ประกอบการรายย่อย สามารถมีธุรกิจร้านอาหารเป็นของตัวเองได้  เพราะไม่จำเป็นต้องลงทุนการสร้าง ตกแต่งร้านหรือการจ้างพนักงานเพราะเป็น “ครัวผี” (Ghost Kitchen) ที่ไม่ต้องมีหน้าร้าน หรือเป็นการปรุงอาหารภายในบ้าน หรือคอนโดมิเนียมของตัวเอง แล้วนำร้านเข้าสู่ระบบเดลิเวอรี่ เพื่อจัดส่งให้กับผู้บริโภคต่อไป

นั่นจึงทำให้ Ghost Kitchen เป็นเทรนด์ธุรกิจร้านอาหารที่กำลังมาแรง และยิ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งกลายเป็นตัวเร่งเร้าการเติบโตมากยิ่งขึ้น ที่แม้แต่ร้านอาหารแบรนด์ใหญ่ ยังมีการปรับตัวด้วยการเพิ่มสาขาที่ไม่มีหน้าร้าน (ครัวผี) แยกออกมาเช่นกัน ส่วนผู้ประกอบการรายย่อย Ghost Kitchen ถือเป็นโอกาสเข้าสู่วงการธุรกิจร้านอาหารโดยไม่จำเป็นต้องใช้งบเพื่อการลงทุนมากเกินไป

และ..สุดท้ายต้องมาดวลตะหลิวกันละว่า “ครัวผี” ของใครจะเร้าใจผู้บริโภคได้มากกว่ากัน..!!??

Back to top button