ลากหุ้นป่วนดัชนี

เชื่อว่านักวิเคราะห์และนักลงทุนหลายคนกำลังเวียนหัวกับดัชนีตลาดหุ้นในขณะนี้


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

เชื่อว่านักวิเคราะห์และนักลงทุนหลายคนกำลังเวียนหัวกับดัชนีตลาดหุ้นในขณะนี้

เพราะมีมือที่มองไม่เห็นไปจับหุ้นในกลุ่ม SET50 ที่มีฟรีโฟลตต่ำ ลากขึ้น ทุบลง กันแบบสนุกสนาน ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เหมือนไม่สะท้อนความจริงออกมา

หุ้นส่วนใหญ่เหล่านี้จะมีฟรีโฟลตต่ำ ง่ายต้องการ “สร้างราคา”

อาจจะมีคำถามว่า เขาทำกันอย่างไร

วิธีการไม่ได้ยากอะไร

เริ่มจากมีเงินบนหน้าตักเยอะ ๆ ซักหน่อย แล้วเล็งหุ้นที่มีสัดส่วนของรายย่อยถืออยู่ค่อนข้างน้อย (แต่อยู่ในเกณฑ์ ตลท.)

หุ้นอยู่ในกลุ่ม SET50 หรืออย่างน้อยก็ SET100

ต่อจากนั้นก็ทยอยสะสมให้หุ้นเข้ามาอยู่ในพอร์ตของตัวเองมาก ๆ

หุ้นที่ถูกคัดเลือกเหล่านั้นจะมีมาร์เก็ตแคปเพียงพอที่จะสร้างความเคลื่อนไหวต่อดัชนีได้  แบบ “กดรีโมท” สั่งได้นั่นแหละ

เช่น DELTA ที่กำลังสร้างความสั่นสะเทือนอยู่ตอนนี้

ล่าสุด เห็นว่า DELTA มีสัดส่วนฟรีโฟลตเพียง 22.5%

ทว่า จริง ๆ แล้ว สัดส่วนดังกล่าวหากมานั่งนับหัวที่เป็นนักลงทุนรายย่อยจริง ๆ  อาจจะไม่ถึงก็ได้นะ

เพราะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เราเห็นรายชื่อโผล่ ๆ กันอยู่นั้น

ตามคำนิยามของเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ  เขายังนับว่าเป็น “รายย่อย” (ทั้งที่อาจเป็นรายใหญ่ก็ได้)

ย้อนกลับมาที่วิธีการลากราคาหุ้นขึ้น

แน่นอนว่า หากรายย่อยยังถืออยู่เยอะ เราก็จะมีความยากต่อการลากขึ้น

เพราะหากราคาหุ้นวิ่งขึ้นมา เราก็จะเจอแรงขายระหว่างทางจากรายย่อยที่ถือหุ้นอยู่ หากเป็นแบบนี้ จะเหนื่อยหน่อย

ดังนั้น อาจจะเริ่มจากกดราคาหุ้นไว้ก่อน ไม่ให้วิ่ง วางฝั่ง Offer หนา ๆ เพื่อทยอยสะสมหุ้นฝั่ง Bid ไปเรื่อย ๆ ชิว ๆ ใจเย็น เพราะเป็นเงินเย็น หรือหากเป็นมาร์จิ้น ก็น่าจะเป็นรายใหญ่ที่มีเครดิตดี

เมื่อเก็บหุ้นได้จำนวนมากขึ้น จากรายย่อยที่ทนถือต่อไปไม่ได้ ก็ต้องทยอยขายออกมา

ทีนี้แหละ จะมีการดึงออเดอร์ฝั่ง Offer ออก แล้วซื้อแบบรวบช่อง (ฝั่ง Offer) ทันที

ต่อจากนั้น จะซื้อ (ลาก) ไปเรื่อย ๆ จนรายย่อยเข้ามาเห็น และจะกระโดดตามมาร่วมวง จนราคาหุ้นติดลมบนอย่างที่เห็น

การที่หุ้นติดแคชบาลานซ์ในบางกรณี ก็เป็นความตั้งใจของ “รายใหญ่”

วันแรกของการติดแคชฯ หุ้นอาจจะย่อตัวลง (ลึก)

เป็นโอกาสของรายใหญ่เข้ามาเก็บ สะสมไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องมีรายย่อย (ที่เล่นมาร์จิ้น) มาคอยส่งคำสั่งซื้อ ๆ ขาย ๆ กวนใจ เกะกะ ระหว่างทาง

และเมื่อหุ้นหลุดจากแคชฯ รายย่อยที่เล่นมาร์จิ้น จะกลับมาลุยหุ้นตัวนั้นต่อ ซึ่งก็เข้ามาทางรายใหญ่ที่สะสมหุ้นตัวนั้นเอาไว้แล้ว “ความบันเทิงรอบใหม่” ก็เกิดขึ้นอีก

วนเวียนกันไปแบบนี้

เข้าใจว่าทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง ก็คงพยายามที่จะควบคุม ด้วยการวางเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ให้ตลาดผันผวน

แต่ก็อย่าลืมว่า นักลงทุนกลุ่มที่สร้างความปั่นป่วน “ไม่ใช่มือสมัครเล่น”

ทว่า กลับเป็นระดับ “เซียนเหยียบเมฆ” ทั้งนั้น

รู้วิธีคิดของตลาดฯ รู้วิธีการหาช่องว่างของเกณฑ์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์

กลุ่มเหล่านี้ เสมือนรู้ด้วยว่า ตลาดฯ เองไม่น่าจะนำไม้แข็ง หรือกำหนดกฎเกณฑ์ที่เป็นไม้แข็งอะไรมาก

เพราะอาจจะไปสร้างปัญหาต่อการเติบโตของตลาดหุ้น

คล้าย ๆ กับวิธีการของแบงก์ชาติที่จะต้องคุมค่าเงินบาท ด้วยการไม่ใช้วิธีการแบบเป็น “ปฏิปักษ์” ต่อตลาดหุ้นและตลาดเงิน เหมือนอย่างในอดีต

แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ และนักวิเคราะห์จากโบรกฯ หลายสำนักจะออกมาเตือนถึงการลงทุนหุ้นเหล่านี้

แต่อย่างว่าล่ะ ความโลภ ความท้าทาย การอยากเอาชนะ และมีกำไรสูง ๆ

ย่อมมีอยู่ในความคิดของนักลงทุนเกือบทุกคน

Back to top button