หุ้นในยามบาทอ่อน พลวัต2015

เมื่อวานนี้ ค่าบาทอ่อนยวบทะลุ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ขึ้นมาวันแรก และขณะเดียวกัน ก็อ่อนยวบเทียบกับเงินเยน ทะลุขึ้นมาเหนือ 30.20 บาทต่อ 100 เยนไปแล้วเรียบร้อย


เมื่อวานนี้ ค่าบาทอ่อนยวบทะลุ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ขึ้นมาวันแรก และขณะเดียวกัน ก็อ่อนยวบเทียบกับเงินเยน ทะลุขึ้นมาเหนือ 30.20 บาทต่อ 100 เยนไปแล้วเรียบร้อย

หากเทียบกับดอลลาร์ ถือเป็นค่าบาทที่อ่อนสุดในรอบ 7 ปี หากเทียบกับเยนจะอ่อนสุดในรอบ 1 ปี

คำอธิบายของเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติ เป็นไปตามสูตรสำเร็จตามเคยว่า  การอ่อนค่าของเงินบาทในขณะนี้ถือว่าสอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคที่อ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากตลาดมองว่าโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้มีมากขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯประกาศอัตราการว่างงานลดลงแตะระดับ 5.1% และตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงเฉลี่ยปรับเพิ่มสูงกว่าคาด

สำหรับโบรกเกอร์ มองอีกทางหนึ่ง บอกว่า บาทอ่อนเพราะแรงขายหุ้นของกองทุนเก็งกำไรต่างชาติที่ใกล้จะหมดแล้ว สะท้อนว่า จากนี้ไป ตลาดหุ้นจะไม่มีผลกระทบของต่างชาติเหมือนกับที่ผ่านมา เป็นจังหวะซื้อหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยทีมงานเศรษฐกิจชุดใหม่

ส่วนผู้จัดการกองทุนหุ้นของ บลจ.ไทย มองอีกมุมหนึ่งว่า บาทไทยอ่อนค่าน้อยที่สุดในภูมิภาคเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยกำลังจะพ้นจากจุดเลวร้ายสุดแล้ว และผลสะเทือนของค่าเงินนี้จะเกิดอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ข้างหน้า หากเฟดมีความชัดเจนเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบ 9 ปีเสียที

คำอธิบายที่แตกต่างกันจากคนต่างมุมมองเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับนักลงทุน สิ่งที่ชัดเจนสุดคือ ค่าดอลลาร์ที่อ่อนยวบ ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นที่ถือในรูปเงินบาททิ้งต่อเนื่อง ก่อนนำไปแลกเปลี่ยนเป็นดอลลาร์ แล้วนำเงินออกไปตลาดเก็งกำไรอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่คาดว่าจะดีกว่า  

บาทอ่อน ตอกย้ำถึงการไหลออกของทุนออกจากประเทศ ซึ่งไม่เป็นผลดีในทุกกรณี เว้นเสียแต่จะมองด้วยกลวิธีป้องกันตนเองทางจิตวิทยาแบบ “มะนาวหวาน” หรือ “องุ่นเปรี้ยว” ซึ่งไม่ได้สร้างสรรค์อะไรมากนัก นอกเสียจากการหลอกตัวเองไปวันๆ

บาทอ่อน หรือบาทแข็ง ล้วนมีที่มาที่ไปชัด ในระยะสั้นสะท้อนการไหลเข้ามากเกินหรือไหลออกมากเกิน ในแต่ละช่วงเวลา บ่งบอกถึงความไร้เสถียรภาพของกระแสไหลของทุนระหว่างประเทศ ที่ประเทศซึ่งใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเปิดและอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว จะได้รับผลกระทบต่อค่าเงิน และราคาของหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์อื่นไปควบคู่กันไป ทั้งบวกและลบที่ไม่เท่าเทียมกัน

การลดดอกเบี้ยนโยบาย และค่าบาทอ่อน จึงเป็นปฏิบัติการไล่ทุนต่างชาติออกจากตลาดหุ้น ที่เข้าใจกันมานานจนเป็นจารีต มีแต่คนโง่ไร้เดียงสา หรือคนเสแสร้งเท่านั้นที่บอกเป็นอย่างอื่น

คนที่บอกว่าต่างชาติถอนตัวจากตลาดหุ้นไทย ไม่กระทบอะไรมาก หรือบอกว่าฟันด์โฟลว์ไหลเข้ารุนแรง ไม่มีผลอะไร คือคนที่พูดโกหก และไม่ได้พูดเพราะไร้เดียงสาถึงขั้นไม่รับรู้ถึงอิทธิพลของทุนต่างชาติต่อกลไกเศรษฐกิจไทย

เงินทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยนั้น หากมีมากรวดเร็วเพราะไหลเข้ารุนแรง ราคาหุ้นในตลาดจะสูงเกินมูลค่าจริงค่อนข้างมาก มีโอกาสเป็นฟองสบู่ได้ไม่ยาก เพราะค่าพี/อีของตลาดสูงเกินจริง แต่ทางกลับกัน หากเงินทุนต่างชาติร่อยหรอลง ตลาดหุ้นไทยก็จะร่วงและอยู่ในภาวะตลาดวายได้ง่าย เพราะมูลค่าซื้อขายประจำวันจะลดต่ำลง จนกระทั่งการวิ่งขึ้นของราคาหุ้นและดัชนีตลาดมีขีดจำกัด จนกระทั่งพี/อีต่ำกว่าพื้นฐาน  แต่ในยามที่วิ่งลงจะไม่มีแรงรับแกร่งพอ การไหลลงจะง่ายกว่าพุ่งขึ้น

ภาวะที่เกิดขึ้นเช่นนี้ หากไม่เสแสร้งหรือไร้เดียงสาจนเกินไป เป็นข้อเท็จจริงที่นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยจำต้องทำความคุ้นเคย เพราะเหตุว่า ภายใต้ระบบเคลื่อนไหวของทุนค่อนข้างเสรี และกลไกเศรษฐกิจไทยยังเปิดอ้าซ่าเต็มที่ การถอนตัวของต่างชาติ เป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดหุ้นไทยมีเสน่ห์ที่ลดลง หรือเพราะถูกคาดหมายว่า ผลตอบแทนของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น มีอัพไซด์ต่ำกว่าตลาดอื่นๆ หรือมีความเสี่ยงสูงกว่าตลาดอื่นๆ

ต้นปีนี้ แบงก์ชาติไทย ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาแล้ว 2 ครั้งรวด เพราะพบว่าตัวเลขส่งออกที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก มีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แต่ตอนที่ลดก็ทำทีปากแข็งตามประสาคุ้นเคยว่า ไม่ได้ลดเพราะเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ ตัวเลขการส่งออกที่เลวร้าย และกำลังซื้อในประเทศโดยเฉพาะภาคเกษตร

หลังการลดดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ค่าเงินบาทอ่อนยวบลงอย่างชัดเจน จากระดับ 32 บาทต้นๆ เป็นมากกว่า 33 บาท แล้วทรุดต่อมาที่ 34 บาท ก่อนจะถูกค่าเงินดอลลาร์ที่คาดว่าจะแข็งขึ้นเพราะนโยบายเฟด ขับเคลื่อนต่อให้บาทร่วงแรง จนถึงล่าสุดเหนือ 36 บาท

ในระยะแรกของค่าบาทอ่อนค่า กองเชียร์ให้ลดค่าบาท พากันชื่นชมวิสัยทัศน์กันยกใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือ ผู้ส่งออกรายใหญ่ และผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวขาเข้า

ไม่เพียงแค่ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งอย่างลนลานเท่านั้น แบงก์ชาติยังกังวลว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าจริง ก็เลยออกมาตรการซ้ำอีกเป็นชุดใหญ่ เปิดทางให้เงินไหลออกสะดวกขึ้น

เจตนาทำให้ค่าบาทอ่อน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันโดย รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ทำให้ตลาดปรับตัวแรงเช่นกันได้ผ่านไปแล้ว แต่ครั้งนี้ ไม่ต้องพึ่งพามีเจตนา ก็ทำให้บาทอ่อนยวบเทียบกับทั้งดอลลาร์และเยน

 ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปิดเมื่อวานนี้เหนือ 1,360 จุดถือว่า เกิดจากความประมาทเกินไปเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทีมสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะเอาชนะภาวะขายทิ้งของต่างชาติที่เกิดจากตลาดโลกแปรปรวนได้

จากวันนี้ไป เราจะได้เห็นกันว่า แท้จริงแล้วเป็นเช่นไร

 

Back to top button