ได้ฤกษ์ OR หุ้นรวยเงินสด กำไรต่ำ
ในที่สุด ก็ถึงเวลาที่รอคอยกันมานานกว่า 2 ปีเศษ หุ้นของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ที่แยกตัวหรือ สปิน-ออฟ (spin-off) ตามสูตรของวิศวกรรมการเงินร่วมสมัย ก็มาถึงขั้นตอนของการขายหุ้นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นที่จดทะเบียนตามกฎหมายบริษัทมหาชน เพื่อเข้าทำการซื้อขายในตลาดหุ้น
พลวัตปี 2021 : วิษณุ โชลิตกุล
ในที่สุด ก็ถึงเวลาที่รอคอยกันมานานกว่า 2 ปีเศษ หุ้นของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ที่แยกตัวหรือ สปิน-ออฟ (spin-off) ตามสูตรของวิศวกรรมการเงินร่วมสมัย ก็มาถึงขั้นตอนของการขายหุ้นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นที่จดทะเบียนตามกฎหมายบริษัทมหาชน เพื่อเข้าทำการซื้อขายในตลาดหุ้น
ตามแผนวิศวกรรมการเงินที่มีสปอนเซอร์ใหญ่ที่ทำหน้าที่ “ป้าชุลี” แห่งวงการตลาดทุน การระดมทุนของ OR จะเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัวพร้อมเดียวกัน
สปอนเซอร์หมายถึงบริษัทที่ทำทั้งการให้คำปรึกษาด้านการเงิน ผสมผู้ดำเนินการจัดการกระจายหุ้นในตลาดแรก ประกอบด้วยบริษัทหลักทรัพย์พี่เบิ้ม 5 ราย หรือ Top 5 ของตลาดหุ้นไทยซึ่งมีทั้งวิชาเทพและมารครบครัน ประกอบด้วย บล. บัวหลวง บล. เกียรตินาคินภัทร บล.ฟินันซ่า (คู่หูพี่น้องกับฟินันเซียไซรัส) บล.ทิสโก้ และกสิกรไทย … ขาดไป 2 ราย (ที่ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น) คือ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง และบล.เอเซีย พลัส
คงต้องไปว่ากันเพื่อไขปมปริศนาในข้อดังกล่าวกันเอาเองว่าทำไมเอเซีย พลัส (ภายใต้ ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ) และเมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ภายใต้พี่เปี้ยะ มนตรี ศรไพศาล จึงตกสำรวจคราวนี้
การระดมทุนคราวนี้ จะให้ OR กลายเป็นหุ้นระดับต้องติดอันดับในรายชื่อ SET50 เกือบทันทีทันใดเพราะจะทำให้มีมาร์เก็ตแคปใหญ่กว่าธนาคารพาณิชย์หลายรายทีเดียว
หุ้นที่นำเสนอขายแบบ IPO คราวนี้ เรียกได้ว่าเตรียมความพร้อมจากบทเรียนเก่าแก่มาอย่างดีเยี่ยมโดยเฉพาะต้องป้องกันมิให้การโรค “หลุดจอง” แบบที่หุ้นในเครือ PTT เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนซ้ำซากมาแล้วนับตั้งแต่ปลายปี 2545
ครั้งนั้นยังคงอยู่ในความทรงจำของนักลงทุน นั่นคือการตั้งราคาหุ้นจองของ PTT ที่ราคาหุ้นละ 35.00 บาท โดยแบ่งขายให้กับสถาบัน นักลงทุนต่างประเทศ และนักลงทุนรายย่อย (โดยมีหุ้นจำนวนหนึ่งแบ่งพิเศษให้บรรดาผู้มีอุปการคุณ และบางส่วนให้โบรกเกอร์เองไปสมนาคุณให้บรรดาขาประจำ
เมื่อออกขายในตลาดแรก หุ้นจองของแต่ละกลุ่มมีปฏิกิริยาต่างกัน กล่าวคือรายย่อยจองมาได้แค่ 3 นาทีก็เกิดการจำหน่ายเพราะคนจองเต็ม ส่วนที่ประหลาดคือ ต่างชาติขายไม่หมด เพราะนักวิเคราะห์ต่างชาติบางรายบอกว่าราคาจริงแพงเกิน ควรจะอยู่ที่ระดับ 28.00 บาท
การขายหุ้นที่รายย่อยในประเทศซื้อจนล้น ทำให้มีเสียงด่ามากมาย ลามปามไปถึง “นักลงทุนอภิสิทธิ์” แต่ต่างชาติไม่เต็มใจซื้อ ทำให้เมื่อเข้าซื้อขายวันแรก หุ้น PTT เริ่มสร้างตำนานใหม่ด้วยการหลุดจองที่ราคาปิด 28 บาท แม้ว่าจะมีการป้องกันล่วงหน้าด้วยการทำ “กรีนชูส์ (รองเท้าเขียว) ออปชั่นส) โดยยืนราคานี้ยาวนานกว่า 1 ปีเศษ ต้องรอจนกระทั่งเกิดขาขึ้นยาวนานของราคาน้ำมันทั่วโลกกลางปี 2546 และภาวะกระทิงของตลาดหุ้นไทย แล้วปลายปี 2556 ราคาหุ้น PTT ถึงแตะเพดานราคาที่เหนือ 100.00 บาทได้
ประสบการณ์โชกโชนในตลาดทุนของเครือ PTT ในรอบเกือบ 20 ปีมานี้ ทำให้เป็นการขายหุ้นของ OR มีลักษณะ “เขี้ยวลากดิน”
เริ่มต้นด้วยการแบ่งโควตาหุ้นบางส่วนให้ผู้ถือหุ้นของ PTT เป็นสิทธิพิเศษแบบ “เหนียวหนืดยิ่งกว่าตังเม” โดยคนที่ถือหุ้น PTT จำนวน 95 หุ้นจะได้รับสิทธิ์พิเศษซื้อหุ้น OR ในราคาจอง 1 หุ้น ซึ่งหมายความว่า หากต้องการได้หุ้น OR 100 หุ้น (เรียกว่า 1.บอร์ดล็อต) ต้องถือหุ้น PTT ถึง 9,500 หุ้น… หืดขึ้นคอแค่ไหน คงพอนึกภาพออก
ความจริงแล้วเมื่อกำหนดราคาจองออกมา ที่ราคาหุ้นละ 16-18 บาท …อันเป็นราคาที่เรียกว่า “แก้เหนียม” เพราะความจริงต้องการราคาจองที่ 18.00 บาทน่ะ
ราคาจองดังกล่าวถือว่าไม่แพง เมื่อเทียบกับราคาหุ้นปั๊มน้ำมันอย่าง PTG และหุ้นอื่น ๆ
แต่เมื่อเทียบกับปริมาณหุ้นที่จะนำออกมาเสนอขาย และจำนวนหุ้นจดทะเบียนทั้งหมด ถือว่า ราคา “เสียดฟ้าอมร” ทีเดียว
จำนวนหุ้น OR จะออกขาย IPO คราวนี้รวมแล้วจะมีทั้งสิ้น 3,000 ล้านหุ้น แบ่งขายสถาบัน ต่างชาติ และอื่น ๆ เหลือขายรายย่อยทั่วไปที่ไม่เคยใช้สิทธิ์อื่น ๆ เลย แค่ 596 ล้านหุ้นเท่านั้น ไม่มีการใช้กรีนชูส์ดันราคาจากอันเดอร์ไรเตอร์ และ ไม่มีการขนเอาหุ้นเดิมในมือรายใหญ่มาขายร่วมแบบเอาเปรียบคนอื่น ๆ
รวมแล้ว OR จะได้เงินเข้ามาในการระดมทุนขายหุ้นจริงรอบนี้ 54,000 ล้านบาท รวมกับหุ้นจดทะเบียนทั้งหมดจะมีมาร์เก็ตแคป มากกว่า 2.16 แสนล้านบาท
หลังจากการเข้าระดมและเทรดในตลาดหุ้นเรียบร้อย หากราคาหุ้น OR ยืนเหนือจองได้สำเร็จ มาร์เก็ตแคปของ OR น่าจะมากกว่า 3 แสนล้านบาท ส่วนจะมอบคุณูปการต่อมาร์เก็ตแคปของ PTT เท่าใด ต้องลองคำนวณกันอีกครั้ง ซึ่งจะรู้กันไม่นานมาก…เพื่อไตร่ตรองกันว่าควรถือหุ้นแม่หรือลูกดี
ก่อนการขายหุ้น ผู้บริหารของ OR ออกมาบอกว่าเงินที่ได้ไปมากมายจากการระดมทุนจะไม่เอาไปใช้หนี้แต่มุ่งเน้นขยายงานเชิงรุกสร้างแบรนด์ให้บริษัทในเครือค้าปลีกแบบเต็มที่ ซึ่งหากดูจากแผนธุรกิจแล้วเป็นด้านของการ “ฉลาดใช้เงิน” ที่น่าสนใจ
หากมองจากขนาดของทุนที่ระดมรอบนี้ และอนาคตที่ OR จะกลายเป็น เพราะหากทำได้ตามแผนจริง จะเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับ OR อย่างมีนัยสำคัญ
ที่ผ่านมา ก่อนเข้าตลาดฯ ยอดรายได้ของ OR ถือว่าค่อนข้างสูง และมีเงินสดในมือมากมายจากส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันกับกาแฟ รวมทั้งรายได้จากการให้เช่าพื้นที่และให้ใช้แฟรนไชส์ที่เติบโตต่อเนื่อง แต่กำไรเบื้องต้น EBOTDA ที่ต่ำกว่า 5% และอัตรากำไรสุทธิที่ค่อนข้างต่ำมาก แค่ 1.6% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ขี้เหร่พอสมควรทีเดียว
หากการเข้าระดมทุนในตลาดฯ ทำให้ OR กลายเป็นบริษัทที่ “ติดปีกบิน” ได้อีกยาวไกล สามารถเพิ่มสัดส่วน EBITDA ต่อรายได้ และอัตราส่วนกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกเหนือจากการใหญ่โดยขนาด ความเป็นไปได้ที่บรรดาอันเดอร์ไรเตอร์และขาใหญ่ทั้งหลาย จะยอมปล่อยให้ราคาหุ้นที่เทรดในตลาดพากัน “หลุดจอง” ย่อมมีโอกาสน้อยนิด (จะบอกเลยว่าไม่มีก็จะมั่นใจมากเกินไป)
ขอเอาใจช่วยก็แล้วกัน สำหรับนักล่าหุ้นจองของ OR