ตัวเลขสำรองนำหน้ากำไรสุทธิ

ผลพวงจากมาตรฐานบัญชีใหม่ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) ผสมโรงกับวิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดอัตราเร่งทำให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss : ECL) หรือการตั้งสำรอง (ตามนิยามใน TFRS 9) ของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด.!


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

ผลพวงจากมาตรฐานบัญชีใหม่ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) ผสมโรงกับวิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดอัตราเร่งทำให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss : ECL) หรือการตั้งสำรอง (ตามนิยามใน TFRS 9) ของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด.!

จากตัวเลขผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ปี 2563 ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง 10 แห่ง พบว่า มีตัวเลข   ECL อยู่ที่ระดับกว่า 246,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 45% เทียบกับปี 2562 อยู่ที่กว่า 170,000 ล้านบาท สวนทางกับตัวเลขกำไรสุทธิที่ลดลงกว่า 32% มาอยู่ที่ระดับ 138,300 ล้านบาท จากปี 2562 อยู่ที่ระดับ 202,723 ล้านบาท

นิยามสำคัญของ TFRS 9 คือ การปรับหลักการสำคัญ เพื่อสะท้อนความเสี่ยงด้านฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการที่แท้จริงมากขึ้น มีการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ใช้รูปแบบ ECL ด้วยการแบ่งลูกหนี้เป็น 3 กลุ่ม นั่นคือ 1)ลูกหนี้ปกติ (Performing) หรือลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ คุณภาพด้านเครดิตยังดีอยู่ 2)ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (Under Performing) หรือ ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงมากกว่าความเสี่ยงต่ำ คุณภาพของเครดิตเริ่มส่งสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก 3)ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นสูงมาก (Non-Performing) หรือลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงมากกว่าความเสี่ยงต่ำ มีหลักฐานชัดเจนถึงการด้อยค่าของคุณภาพของเครดิต

กรณีหากเป็นลูกหนี้ปกติจะต้องรับรู้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิด (ECL) ช่วง 12 เดือนข้างหน้า แต่หากเป็นลูกหนี้แบบ Under performing และ non-performing จะต้องรับรู้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตลอดอายุสัญญา เข้าไปในงบกำไรขาดทุน (P/L)

ส่วนการรับรู้ดอกเบี้ยหากลูกค้าถูกจัดในกลุ่ม Performing หรือ Under Performing จะต้องรับรู้ดอกเบี้ยรับจากยอด “ลูกหนี้ขั้นต้น” แต่ถ้าหากลูกหนี้ถูกจัดในกลุ่ม Non-Performing แล้ว จะต้องรับรู้ดอกเบี้ยรับจากยอดลูกหนี้สุทธิ (จากค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิต)

นัยสำคัญของผลกระทบจาก ECL ระยะสั้นสะท้อนให้เห็นชัดเจนจากตัวเลขกำไรสุทธิปี 2563 ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ลดลง นอกเหนือไปจากตัวเลขกำไรจากการดำเนินงานปกติที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19

แต่อีกนัยสำคัญตัวเลข ECL ที่สูง ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงหรือป้องกันความเสี่ยง กรณีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบรุนแรงทั้งในและต่างประเทศ จนนำไปสู่อีกหนึ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการที่ให้ธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือลูกค้าอีกด้วย

ประเด็นสำคัญคือปี 2564 ตัวเลข ECL จะยังเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้นหรือเลวร้ายกว่าที่กำลังเป็นอยู่ขณะนี้ เพราะหากไม่ดีขึ้นหรือเลวร้ายลง นั่นหมายถึงตัวเลขกำไรสุทธิจะถูกบดบังจากตัวเลข ECL ดั่งเช่นปีที่ผ่านมา ที่สำคัญหากตัวเลข ECL เพิ่มขึ้น จะถือเป็นการส่งสัญญาณการชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี “การตั้งการ์ดสูง” ของธนาคารพาณิชย์ทำให้มั่นใจได้ว่า “ธนาคารไม่ล้ม” อย่างแน่นอน เพียงแต่จะฟื้นตัวได้ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง..!!!

Back to top button