สรรหาสีดำที่กสทช.

ผมเห็นเงาตะคุ่ม ๆ ของผู้ได้รับการคัดเลือก 2-3 คน ที่เคยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบริษัท เพลย์เวิร์ค อันเป็นบริษัทที่ฟ้องร้องกสทช.และอสมท เป็นเงินตั้ง 1.7 หมื่นล้านบาทให้เยียวยาโครงการเคเบิลทีวีดิจิทัลอันไม่มีใครรู้จักกันเลย


ขี่พายุ ทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

8 ปีของฐากร ตัณฑสิทธิ์ ในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ คือบุรุษผู้ถือดุลแห่งการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ยุคเทคโนโลยี 3จี- 4จีจนมาถึงยุค 5จี ที่บรรจุรวมเอาระบบคอมพิวเตอร์และระบบโทรคมนาคม มาไว้ในโทรศัพท์มือถือที่เดียวอย่างสมบูรณ์แบบ

ผ่านยุคโบราณ 1จี -2จีมา กว่าจะได้เข้าสู่ยุค 3จี สปป.ลาว ก็มี 4จีไปแล้ว พอไทยเข้าสู่ยุค 4จีได้ ใช้เวลาไม่นานก็ผลักดันสู่ยุค 5จีได้ และกลายเป็นชาติแรกในอาเซียนที่เข้าสู่เทคโนโลยี 5จีเชิงธุรกิจ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแนวใหม่ให้กับประเทศชาติได้อย่างมีนัยสำคัญ

8 ปีของเลขาฯ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้สะท้อนเจตนารมณ์ขององค์กรกสทช.ให้เป็นองค์กรที่ผลักดันความก้าวหน้า เสรี เป็นธรรม และโปร่งใส ตลอดจนการรักษาผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

การประมูลคลื่น 4จีและ 5จี ได้นำส่งรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 4.5 แสนล้านบาท ประชาชนได้มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้อย่างทั่วถึงแม้อยู่ตามป่าตามดอย และทลายกำแพงค่าโทรศัพท์ไม่เป็นธรรม ที่มีทั้งอัตราตจว.และกทม.ให้เป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ

ทว่า! โพรไฟล์ขนาดนี้ของฐากร ตัณฑสิทธิ์ ยัง “สอบตก” ไม่ผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาบอร์ดกสทช.รวมทั้งข้อเคลือบแคลงในตัวผู้ได้รับการคัดเลือกเต็มไปหมด ราวกับ “มีธง” ในการตัดสิน

ดูเอาแล้วกัน ผลงานคัดเลือกผู้สมัคร 14 รายชื่อ 7 ด้าน ๆ ละ 2 คน นำเสนอไปให้วุฒิสภาคัดเลือกเหลือ 1 คนในแต่ละด้าน ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลที่มีผลงานหรือเป็นที่รู้จักมากน้อยเพียงใด ขอเชิญทัศนากันเอาเอง

  1. ด้านกิจการกระจายเสียง พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีตผบ.ทอ. และนางอรษา มุขเตียร์ เปอร์ตี้ ที่ปรึกษามูลนิธิคนพิการไทย
  2. ด้านกิจการโทรทัศน์ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ.ส.จินตนันท์ ชญาต์รศุภมิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ
  3. ด้านโทรคมนาคม นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม และนายอธิคม ฤกษบุตร อาจารย์ในสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
  4. ด้านวิศวกรรม นายอานนท์ ทับเที่ยง ประธานสาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัล (ประธานสาขาการจัดการโทรคมนาคมและบรอดคาสติ้ง) และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
  5. ด้านกฎหมาย นายจิตรนรา นวรัตน์ อดีตผู้ตรวจอัยการ และ .ท.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ ผู้ชำนาญการบมจ.ท่าอากาศยานจำกัด (มหาชน)
  6. ด้านเศรษฐศาสตร์ นายภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการกสทช.สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และนายอารยะ ปรีชาเมตตา ศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  7. ด้านการคุมครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน พล.ต.ท.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ ที่ปรึกษาประจำรองประธานกสทช.

โนเนมเยอะไปหน่อย ที่พอจะมีชื่อเสียง เห็นจะมีสัก 2 คนได้ในจำนวน 14 คน แต่ก็ไม่มีผลงานที่ชัดเจนตรงกับสาขาที่สมัคร

หนังตัวอย่างจากกรณีอดีตผบ.ทอ.ซึ่งรับการกลั่นกรองด้านกิจการกระจายเสียง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าวัดจากอะไร วัดจากการมีคลื่นวิทยุทอ.ในกำกับหรือ ก็ไม่ปรากฏว่าลงไปกำกับจนมีผลงานเด่นชัดอะไรนะ และหากจะเอาไปเปรียบเทียบกับฐากร ตัณฑสิทธิ์ ซึ่งโดนกรรมการเล่นงานว่าบริหารคลื่นวิทยุ 1 ป.ณ.ซึ่งเป็นวิทยุสาธารณะและติดมากับกรมไปรษณีย์ฯ ก็ดูจะไม่แฟร์นะ

2 มาตรฐานเลยเชียวแหละ

ในปัญหาด้านคุณสมบัติ ทั้งในเรื่องของการมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปีในกิจการด้านนั้น ๆ และการต้องพ้นจากการประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมมาไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งบุคคลผู้มี “คุณสมบัติต้องห้าม” ก็ควรจะถูกตีตกก่อนเข้าแสดงวิสัยทัศน์ด้วยซ้ำ

แต่นี่ผู้สมัครทั้ง 80 คน ที่ขาดคุณสมบัติ กลับได้รับโอกาสเข้าแสดงวิสัยทัศน์ ส่วนที่ถูกตีตกก็ตกไป แต่หลายคนยังได้รับการคัดเลือกให้ส่งรายชื่อไปให้วุฒิสภาเห็นชอบเสียอีก

นี่ก็แหวกจารีตดั้งเดิมของการคัดเลือกกสทช. ที่จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติหลังการสมัคร ก่อนประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าแสดงวิสัยทัศน์

ผมเห็นเงาตะคุ่ม ๆ ของผู้ได้รับการคัดเลือก 2-3 คน ที่เคยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบริษัท เพลย์เวิร์ค อันเป็นบริษัทที่ฟ้องร้องกสทช.และอสมท เป็นเงินตั้ง 1.7 หมื่นล้านบาทให้เยียวยาโครงการเคเบิลทีวีดิจิทัลอันไม่มีใครรู้จักกันเลย และบัดนี้ก็รับเงินเยียวยาก้อนแรกไปแล้วกว่า 70 ล้านบาท ยังจะมาฟ้องร้องเพิ่มวงเงินเยียวยาขึ้นอีก

ประการสำคัญคือฟ้องร้องกสทช.และอสมท เสียด้วย คนแบ็คอัพไม่รู้เป็นใครใหญ่แค่ไหน

น่าห่วงว่าจะมี “มือที่มองไม่เห็น” จัดแถว 7 อรหันต์กสทช.ชุดใหม่ เพื่อประโยชน์นอกเหนือภารกิจโดยชอบของกสทช.เสียจริง ๆ

Back to top button