B20 ความล้มเหลวเชิงนโยบาย

B20 ถือเป็นการแก้ปัญหาหนึ่ง เพื่อสร้างปัญหาใหม่ โดยรัฐใช้แก้ปัญหาทางการเมืองคือราคาปาล์มตกต่ำ เพื่อตอบโจทย์ที่ได้หาเสียงไว้ แต่สร้างภาระให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

ปลายเดือนนี้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะมีการเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาแผนปรับลดการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพให้เสร็จแล้วภายในปี 2565 หนึ่งแผนดังกล่าว นั่นคือการยกเลิกน้ำมัน ดีเซล B20 (น้ำมันดีเซลผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 20%) เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯ ต้องชดเชยลิตรละ 4.16 บาทและมียอดจำหน่ายเพียงวันละ 1.08 ล้านลิตร จากยอดจำหน่ายดีเซลเฉลี่ยรวมวันละ 60 ล้านลิตร เบื้องต้นจะเริ่มทยอยยกเลิกการใช้ตั้งแต่เดือนมี.ค.นี้เป็นต้นไป

น้ำมันดีเซล B20เกิดขึ้นภายใต้นโยบาย Energy For All ของกระทรวงพลังงาน ช่วงปี 2561 สมัย “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” เป็นรัฐมนตรี เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนและช่วยแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มดิบล้นตลาด สร้างเสถียรภาพปาล์มน้ำมัน จึงเร่งส่งเสริมการจำหน่ายน้ำมันดีเซล B20 ด้วยการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล B20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลปกติ (B7) ที่ราคาลิตรละ 5 บาท

นั่นทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องนำเงินไปชดเชยน้ำมันดีเซล B20 ที่ลิตรละ 4.16 บาท แต่หากไม่มีการชดเชยราคาจำหน่ายจะขยับขึ้นเป็นลิตรละ 25-26 บาท เท่ากับว่ากองทุนน้ำมันฯ ต้องมีภาระจ่ายชดเชยเฉลี่ยเดือนละ 125 ล้านบาท ส่วนน้ำมันดีเซล B7 มีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ลิตรละ 1 บาท

การยกเลิกน้ำมันดีเซล B20 จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่ส่งผลดีต่อกองทุนน้ำมันฯ เพราะไม่ต้องแบกรับภาระเงินชดเชยดังกล่าว ขณะที่ผู้ประกอบการน้ำมันต่างเห็นพร้องด้วย เนื่องจากช่วยลดต้นทุนและลดชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันลงอีกด้วย

โดยข้อมูลจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุด (24 ม.ค.) พบว่า สถานะกองทุนน้ำมันฯ  มีเงินสุทธิ 26,168 ล้านบาท มีรายได้จากน้ำมัน 35,845 ล้านบาท ส่วน LPG ตัวเลขติดลบ 9,677 ล้านบาท และมีเงินไหลออกเฉลี่ยเดือนละ 1,200 ล้านบาท จากการชดเชยราคาน้ำมันเดือนละ 390 ล้านบาท และชดเชยราคา LPG เดือนละ 800 ล้านบาท

กรณี “น้ำมันดีเซล B20ถือเป็นหนึ่งของ “ความล้มเหลวเชิงนโยบาย” ของกระทรวงพลังงาน เช่นเดียวกับที่เคยเกิด ขึ้นกับ “ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เมื่อ 20 ปีก่อน ที่มีการโหมโรงส่งเสริมให้รถโดยสาธารณะให้ LPG เป็นเชื้อเพลิงหลัก เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน เป็นเหตุให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องแบกรับภาระชดเชยดังกล่าว และปริมาณรถยนต์ที่ใช้ LPG ลดลงอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับกรณี “ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ NGV)หรืออาจเรียกอีกชื่อว่า “ก๊าซธรรมชาติอัด CNG) ที่รัฐมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เพื่อให้มาทดแทน LPG ด้วยการชดเชยค่าใช้จ่ายการติดตั้งถังบรรจุให้กับรถยนต์สาธารณะ (โดยเฉพาะแท็กซี่) แต่ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดของสถานีบริการ (สนับสนุนให้ใช้ในเมือง แต่ไม่มีการตั้งสถานีบริการในเมือง) ทำให้ปริมาณรถยนต์ที่ใช้ NGV และสถานีบริการลดน้อยถอยลงไปชัดเจน

กรณี “น้ำมันดีเซล B20ถือเป็นการ “แก้ปัญหาหนึ่ง..เพื่อสร้างปัญหาใหม่” โดยรัฐใช้แก้ปัญหาทางการเมืองคือ “ราคาปาล์มตกต่ำ” เพื่อตอบโจทย์ที่ได้หาเสียงเอาไว้ แต่เป็นการสร้างภาระให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทุนน้ำมันฯ จะต้องแบกรับภาระชดเชย ผู้ประกอบการต้องลงทุนเพื่อเพิ่มหัวจ่าย B20 และสร้างความสับสนให้ผู้ใช้รถยนต์ที่ไม่มั่นใจว่า “น้ำมันดีเซล B20จะมีผลต่อเครื่องยนต์ระยะยาวหรือไม่

แม้ว่าค่ายรถยนต์ต่างๆ จะออกมาเรียกความเชื่อมั่นว่า “ใช้ได้” แต่ตามมาด้วยเงื่อนไขการปรับจูนหรือติดตั้งอุปกรณ์เครื่องยนต์ใหม่ จึงเป็นเหตุให้ “น้ำมันดีเซล B20ไม่ได้รับความสนใจมากนัก จนเป็นที่มาของการยกเลิกน้ำมันชนิดดังกล่าวนั่นเอง…!!!?

Back to top button