พาราสาวะถีอรชุน

ถือเป็นภารกิจสุดท้ายของเหล่าบรรดาอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสปช. หลังเสร็จสิ้นการโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาก็ได้ไปล่องเรือเลี้ยงอำลาตำแหน่งกันที่บริเวณท่าเรือริเวอร์ซิตี้ สี่พระยา ว่ากันว่า การล่องเรือหนนี้มองได้สองมุมคือ เอาใจแป๊ะกับประชดแป๊ะ แต่ท่าจะเป็นอย่างแรกเสียมากกว่า ไม่น่าจะมีใครกล้าขัดใจแป๊ะ


ถือเป็นภารกิจสุดท้ายของเหล่าบรรดาอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสปช. หลังเสร็จสิ้นการโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาก็ได้ไปล่องเรือเลี้ยงอำลาตำแหน่งกันที่บริเวณท่าเรือริเวอร์ซิตี้ สี่พระยา ว่ากันว่า การล่องเรือหนนี้มองได้สองมุมคือ เอาใจแป๊ะกับประชดแป๊ะ แต่ท่าจะเป็นอย่างแรกเสียมากกว่า ไม่น่าจะมีใครกล้าขัดใจแป๊ะ

เพราะเอาเข้าจริงภารกิจของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการจะจัดระเบียบ ปฏิรูปประเทศนั้น มาถึงนาทีนี้ต้องเรียกว่ายังเดินไปไม่ถึงไหน โดยเฉพาะการปฏิรูปคงต้องไปเริ่มต้นจริงๆ จังๆ ในรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่จะตั้งขึ้นมาใหม่จำนวน 200 คน ขณะที่การยกร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องรอบิ๊กตู่เป็นผู้ชี้นิ้วเลือก

ยืนยันแล้วว่า ไม่ต้องไปทาบทามใครเพราะมีรายชื่ออยู่ในใจหมดแล้ว คงเหลือแค่รอฤกษ์งามยามดีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเท่านั้น เริ่มมีข่าวแพลมๆ มาว่าอดีตสปช.ที่เป็นตัวตั้งตัวตีคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ดบางรายอย่าง สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อาจจะถูกเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่นี้ เช่นเดียวกัน เสรี สุวรรณภานนท์ ฐานะอดีตส.ส.ร.สองสมัย แต่รายหลังยังต้องลุ้น

โดยที่ฟังสเปกจากปากของ วิษณุ เครืองาม แล้ว หนนี้น่าจะไม่จำกัดวงเฉพาะแต่ผู้ที่มีภูมิความรู้เรื่องนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ แต่คงจะเปิดกว้างให้เกิดความหลากหลาย เพียงแต่ว่าเมื่อเปิดหน้าไพ่กันมาแล้ว จะมีเสียงเชียร์หรือร้องยี้นั่นก็เป็นอีกเรื่อง เช่นเดียวกันกับ 200 สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ที่ฝ่ายยกมือหนุนร่างรัฐธรรมนูญ ต่างกระแนะกระแหนว่า พวกโหวตคว่ำอาจจะเข้าป้ายได้ไปต่อกันแทบจะทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม หลังจากการโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว ยังไม่มีใครอธิบายถึงเหตุผลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ล่าสุด นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็น 1 ในสปช.ที่โหวตคว่ำร่างก็ได้เขียนบทบรรณาธิการเรื่องไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ  ลงในเว็บไซต์ pub-law.net  ชี้แจงเหตุผลในการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างชัดเจน

ก่อนที่จะอธิบายเหตุผลนันทวัฒน์ชี้แจงถึงจุดดีจุดเสียของร่างรัฐธรรมนูญโดยภาพรวมก่อนว่า ร่างฉบับนี้“ดูดี” กว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ในหลายเรื่องด้วยกัน เช่น การคุ้มครองสิทธิของประชาชน การลดความเหลื่อมล้ำ การป้องกันการทุจริต และยังมีการแก้ไขปัญหาบางประการที่เกิดขึ้นจากความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติต่างๆ ในหลายมาตราที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 50 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญหลายส่วนที่ “ดูดี” สู้รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับก่อนหน้านี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่มาของนายกรัฐมนตรีที่จะเป็นส.ส.หรือไม่ก็ได้ ที่มาของส.ส.แบบสัดส่วนผสมที่น่าจะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร รวมถึง ส.ว.ที่มาจากการสรรหามากกว่ามาจากการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่ทำให้อาจารย์นันทวัฒน์ตัดสินใจลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อสปช. ก็เกิดมาจากข้อกังวลที่สำคัญ 3 ประการคือ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติหรือคปป. และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ในเรื่องที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าในช่วงเวลาของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ของตนเองมากที่สุด ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้นมีอยู่หลายประเด็นด้วยกัน บางประเด็นก็เป็นที่เคลือบแคลงและสงสัยของผู้คนจำนวนมาก

การตัดสินโดยขาดการนำนิติวิธีทางด้านกฎหมายมหาชนมาใช้ทำให้การทำงานของรัฐติดขัด ไม่ราบรื่น ไม่ต่อเนื่องและก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตตามมาหลายต่อหลายครั้ง นอกจากนี้ การเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมทั้งการเข้าไปวินิจฉัยในกรณีที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติให้เกิดการปฏิรูปและการปรองดองให้ปฏิบัติตามแผนหรือขั้นตอนที่คปป.กำหนด

จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่มีความสำคัญสูงสุด กลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้จะอยู่ในรัฐธรรมนูญตลอดไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะแม้ฝ่ายนิติบัญญัติอยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญประเด็นใด แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถทำได้

ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่มีสถานะเหนือกว่าองค์กรอื่นทุกองค์กร สามารถเข้าไปตรวจสอบการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้ แต่ตนเองกลับไม่มีองค์กรใดสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เช่นเดียวกับกรณีคปป.หากจะบอกว่าการใช้อำนาจลักษณะแบบนี้ควรต้องมีไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากภาวะวิกฤติได้ ก็คงพอยอมรับได้

แต่ต้องออกแบบใหม่ให้มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนหรือตัวแทนของประชาชน ไม่ใช่ให้องค์กรที่ประกอบด้วยคนที่อยู่ในระบบราชการเป็นส่วนใหญ่เข้ามาใช้ทั้งอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารแทนผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน รวมทั้งเมื่อใช้อำนาจดังกล่าวแล้วก็ยังไม่มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นอีก จึงทำให้สถานะของคปป.เป็นองค์กรสูงสุดที่เข้ามาควบคุมการทำงานของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไปโดยปริยาย

แต่ทั้งสองเรื่องนั้น ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับการปิดกั้นช่องทางในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจนเกือบจะทั้งหมดจนทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทบจะไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะหากการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองต้องทำโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถทำได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นความวุ่นวายและวิกฤติทางการเมืองก็จะกลับเข้ามาสู่ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง     

นี่คือความเห็นของอดีตสปช.คนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่านันทวัฒน์นั้นไม่จำเป็นต้องถามถึงจุดยืนและความเป็นกลางทางการเมือง หวังว่าผู้มีอำนาจจะหยิบยกไปเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยในการตั้งกรรมการยกร่างยกที่สองอีก เพราะหลายคนคาดหวังว่าน่าจะเป็นครั้งสุดท้าย แค่เวลา 20 เดือนที่ประกาศออกมา ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นเช่นใด โดยเฉพาะปัญหาว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ

Back to top button