นโยบาย SMEs ฉบับต้อนหมูเข้าเล้าพลวัต2015

เมื่อวานนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมี 2 ด้านพร้อมกันคือ มาตรการช่วยเหลือทางการเงินต้นทุนต่ำ และมาตรการลดหย่อนภาษี โดยรายละเอียดที่รัฐมนตรีคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ออกมาชี้แจง มีรายละเอียดประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้


เมื่อวานนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมี 2 ด้านพร้อมกันคือ มาตรการช่วยเหลือทางการเงินต้นทุนต่ำ และมาตรการลดหย่อนภาษี โดยรายละเอียดที่รัฐมนตรีคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ออกมาชี้แจง มีรายละเอียดประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้

โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs  2 ส่วน ส่วนแรก ให้ธนาคารออมสินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำทางอ้อมแก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่อัตรา 0.1% ต่อปี และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาให้สินเชื่อ 7 ปี วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท และรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคารออมสิน

ส่วนที่สอง ธนาคารออมสินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยตรงแก่ผู้ประกอบการ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือชาวประมง  “ประมงไทยก้าวไกลสู่สากล” 2) โครงการสินเชื่อ SMEs เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและ การประหยัดพลังงาน 3) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ 4) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อผู้รับเหมางานภาครัฐ 5) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่อง

การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme (PGS-5) ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อช่วยให้ SMEs ที่ขาดหลักประกันในการกู้ยืม มีวงเงินค้ำประกันต่อราย SMEs สูงสุดไม่เกิน 40 ล้านบาท ระยะเวลาการค้ำประกัน 7 ปี โดย บสย.จ่ายค่าประกันชดเชยความเสียหายไม่เกิน 30% ของภาระค้ำประกัน และคิดอัตราค่าธรรมเนียมถดถอยคือ 1.75% โดยรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในปีแรก และจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตรา 1.25% ในปีที่ 2 แล้วลดเหลือ 0.75% ในปีที่ 3 และ 0.25% ในปีที่ 4

มาตรการสนับสนุน SMEs ผ่านการร่วมลงทุนใน SMEs ระยะเริ่มต้น (Start-up) ที่มีศักยภาพสูง โดยความร่วมมือของธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารกรุงไทย ในการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน แห่งละ 2,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนอีกทางหนึ่งสำหรับ SMEs ที่มีศักยภาพ

มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป จากเดิม 15% และ 20% ของกำไรสุทธิ เป็น 10% ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 ปี หรือ 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ซึ่งจะทำให้โครงสร้างอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SMEs เป็น 2 กลุ่มคือ ที่มีกำไรไม่เกิน 3 แสนบาท ไม่ต้องเสียภาษี และ ระหว่าง 300,001 บาทขึ้นไป เสียภาษีแค่ 10%

–                       มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบกิจการที่จดทะเบียนพาณิชย์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ข้อต่อไปนี้  1) เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth)  2) จะต้องจดแจ้งการขอใช้สิทธิกับกรมสรรพากร (3) ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (4) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

รัฐบาลตั้งเป้าว่า  ผลของมาตรการช่วยเหลือทางการเงินต้นทุนต่ำ จะส่งผลให้ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องจำนวน 60,000 ราย (วงเงินสินเชื่อ SMEs เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 3.3 ล้านบาท) สามารถรักษาสภาพการจ้างงานได้ประมาณ 240,000  คน (เฉลี่ย 4 คนต่อราย) ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบทันที โดยคาดว่าจะสามารถสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบได้ประมาณ 1.94 ล้านล้านบาท (ใช้ค่าเฉลี่ย Multiplier Effect ที่ 9.7 เท่า ของวงเงินโครงการ)

ส่วนมาตรการภาษี ก็หวังว่าจะช่วยลดภาระต้นทุนทางภาษีให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพ

หากพิจารณามาตรการที่ผ่านครม.มาแล้ว จะเห็นได้ว่าครบเครื่องพอสมควร เพราะมีทั้งมาตรการช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้น กระตุ้นขีดความความสามารถในระยะกลาง และจุดประกายสร้าง SMEs เพื่อเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาว

จุดเด่นของมาตรการชุดนี้ ที่เห็นชัดว่าแตกต่างจากนโยบายส่งเสริม SMEs ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในอดีต อยู่ที่มาตรการร่วมลงทุน ผ่าน กองทุนร่วมเสี่ยง (venture capital) มูลค่า 6 พันล้านบาท เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้น (Start-up) ที่มีศักยภาพสูง สำทับด้วยมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน 4 ข้อจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs เป็นเวลา 5 ปี

มองจากมุมของเจ้าหน้าที่สรรรพากร นี่คือการ “ต้อนหมูเข้าเล้า” เพราะแม้จะให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ SMEs ที่ทำให้รายได้ของสรรพากรลดลง แต่เป็นการทำให้ผู้ประกอบการที่เคยอยู่นอกระบบภาษี ต้องเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งหากพ้นระยะเวลาช่วยเหลือมตามมาตรการผ่านไปแล้ว ผู้ประกอบการเหล่านั้น จะเป็นฐานที่มาของรายได้สรรพากรอย่างหนีไม่พ้น

มาตรการช่วยเหลือ SMEs ครั้งนี้ จึงมีความลึกล้ำที่ไม่ธรรมดา รัฐบาลมีแต่ได้กับได้ คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีที่บอกว่าไม่ใช่ประชานิยม จึงถูกต้อง 100%

 

Back to top button