แม่น้ำสายเดี่ยว ทายท้าวิชามาร

หลังคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ยุบสภาปฏิรูปแห่งชาติ ยุบคณะกรรมาธิการยกร่าง ณ วันนี้แม่น้ำ 5 สายก็เหลือเพียง 3 สาย ที่เอาเข้าจริงพูดได้ว่า “สายเดี่ยว” นั่นเอง


หลังคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ยุบสภาปฏิรูปแห่งชาติ ยุบคณะกรรมาธิการยกร่าง ณ วันนี้แม่น้ำ 5 สายก็เหลือเพียง 3 สาย ที่เอาเข้าจริงพูดได้ว่า “สายเดี่ยว” นั่นเอง

เพราะ คสช.กับรัฐบาลตัวบุคคลแทบไม่ต่างกัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็เพิ่งผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณด้วยคะแนน 184-0 เมื่อยุบ สปช.กมธ.ที่เป็นเวทีให้นักวิชาการ คนดีเด่นดัง ภาคประชาสังคม ฯลฯ มาเพ้อเจ้อฟุ้งซ่าน ก็เท่ากับอำนาจและบทบาทการทำงาน กลับไปอยู่ในมือทหารและรัฐราชการที่มีสายบังคับบัญชาชัดเจน

โปรดสังเกตว่าการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด นอกจากกำจัด “ก๊วนอุ๋ย” ให้ทีมเศรษฐกิจอยู่ภายใต้สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อย่างเป็นเอกภาพ ก็ยังเขี่ยรัฐมนตรีสายสังคม เพิ่มรัฐมนตรีทหาร เพิ่มรัฐมนตรีข้าราชการ และดึงตำแหน่งสำคัญๆ ไปอยู่ในมือนายทหารที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ไว้วางใจ

นี่คือการจัดทัพรับสถานการณ์ถ้าต้อง “อยู่ยาว” หรือในทางกลับกัน ถ้าต้องอยู่สั้น ก็พร้อมจะลงได้ทันใจ เพราะเงื่อนไขการยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้เพียงกว้างๆ 6 เดือน ไม่ต้องผ่านใคร ผ่านคณะรัฐมนตรีเป็นใช้ได้ ร่างแล้วแก้ใหม่ก็ได้ในนาทีสุดท้าย

อย่าลืมว่า สภาขับเคลื่อนปฏิรูปกับคณะกรรมการยกร่าง สถานะต่ำกว่า สปช.กับกรรมาธิการ ไม่ต้องนำรายชื่อทูลเกล้าฯถวาย ไม่ถือเป็นแม่น้ำอีก 2 สาย เป็นเพียงองค์กรภายใต้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

ฉะนั้นในมุมหนึ่งเราจะเห็นข้อดี ว่าอำนาจนี้รวบรัดจัดการง่าย แต่อีกมุมหนึ่งมันก็คือการถอยกลับไปยืนในที่แคบที่สูง สลัดทิ้ง “แนวร่วม” ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นภาระ ด้านหนึ่งก็เป็นโล่กำบัง (แล้วตอนนี้บางคนก็ “หลังหัก” ยืนกัดฟันกรอดๆ)

ปัญหาจึงอยู่ที่กลุ่มผู้กุมอำนาจจะสามารถปรับตัวยืดหยุ่นกับสถานการณ์ที่แปรผันหรือไม่ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในยุค 2500 หรือยุค 2520 รัฐบาลทหารยิ่งอยู่นานยิ่งเผชิญแรงกดดัน แน่ละ ไม่มีใครคว่ำ คสช.ได้ด้วยกำลัง เพราะคุมทหารตำรวจเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียว แต่โลกปัจจุบันสู้กันด้วยการเมือง ด้วยการช่วงชิงความชอบธรรม ถ้าถึงจุดคับขัน เอาทหารออกมายิงกราดก็มีแต่ทำให้หมดอำนาจอย่างย่อยยับอัปรา

คสช. Restart แต่ไม่สามารถย้อนเวลา 11 เดือนสูญเปล่า จึงมีเสียงเร่งเร้า ไม่เอาสูตร 6-4 6-4 ที่ต้องใช้เวลาอีก 20 เดือนกว่าจะมีเลือกตั้ง ขณะเดียวกันหลังจากคว่ำร่างรัฐธรรมนูญสูตร “อภิรัฐบาล” ก็ต้องถามว่าจะควานหาสูตรไหนที่ คสช.อยากได้ และประชาชนพอยอมรับไหว

เอาแค่การควานหากรรมการยกร่างชุดใหม่ก็ไม่ง่าย ในเมื่อชุดเดิม “ตายตาไม่หลับ” เห็นๆ ใครจะมาเป็นต้องถามก่อนท่านเอาไงแน่ เอาเร็วเอาช้า จะให้อิสระหรือจะให้มาเป็นแค่ช่างเทคนิคทางกฎหมาย ถ้าถูกสังคมรุมประณามแล้วจะยังหนุนหลังจนวินาทีสุดท้าย ฯลฯ มันไม่สนุกหรอกนะครับสำหรับพวกศาสตราจารย์อธิการบดีคณบดี ที่จะเป็นบวรศักดิ์คนต่อไป

หรือใครจะเป็นสภาขับเคลื่อน ถ้าประกาศชื่อแล้วโป๊ะเชะ ตามโผ สปช.ที่ไม่รับร่าง ก็เสียเครดิตตั้งแต่ต้น

การบริหารประเทศพร้อมไปกับยกร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปอะไรนั่น ไม่ใช่เรื่องที่จะ Restart กันง่ายๆ อุปสรรคมากกว่าเดิมเยอะ ปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนไป จะหาความนิยมกับการจัดระเบียบ ปราบคอร์รัปชั่น ก็จัดกันไปหมดแล้ว ถอดยศทักษิณก็ทำแล้ว ไม่มีอะไรเหลือให้เล่นเยอะนักหรอก

ยังไงๆ นี่คือการรื้อโรดแมปรอบสุดท้ายนะครับ ขอบอก ไม่มีรอบหน้าให้แก้ตัว

 

                                                                                                                        ใบตองแห้ง

Back to top button