เรือล่มปากอ่าว.!?
เกิดอาการเซ็งไปตาม ๆ กัน สำหรับ BKD และ 7UP ที่ก่อนหน้านี้ทั้งสองบริษัทมีดีลจะซื้อขายสินทรัพย์ระหว่างกัน...
สำนักข่าวรัชดา
เกิดอาการเซ็งไปตาม ๆ กัน สำหรับบริษัท บางกอก เดค-คอน จำกัด (มหาชน) หรือ BKD และ บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ 7UP ที่ก่อนหน้านี้ทั้งสองบริษัทมีดีลจะซื้อขายสินทรัพย์ระหว่างกัน…
โดย BKD ขายหุ้นทั้งหมด (40%) ที่ถือในบริษัท โกลด์ ชอร์ส จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำประปาส่งงให้พื้นที่บางส่วนของ จ.ภูเก็ต และบางส่วนของ จ.พังงา ให้ 7UP มูลค่า 550 ล้านบาท
จากที่คิดว่า ดีลนี้จะ win-win ทั้งคู่ สุดท้ายดีลล่มไม่เป็นท่า…ไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขได้
โดย 7UP ในฐานะคนซื้อให้เหตุผลว่า จากการแพร่ระบาดของโควิดส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำใน จ.ภูเก็ต ลดลงอย่างมาก ทำให้รายได้ของโกลด์ ชอร์ส ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทจึงต้องชะลอการลงทุนออกไปก่อน…ก็พอเข้าใจได้อะนะ
ส่วน BKD ในฐานะคนขาย ก็ต้องเออออห่อหมก ยอมรับชะตากรรม…
ดีลนี้จึงกลายเป็นเรือล่มปากอ่าวซะงั้น..!!
ที่จริงก่อนหน้านี้ ทั้ง BKD และ 7UP ตั้งความหวังไว้กับดีลนี้ค่อนข้างสูง…โดย BKD หลังจากรู้ตัวว่า ตนเองไม่มีความชำนิชำนาญงานด้านสาธารณูปโภค…ก็คงคิดว่าขายทิ้งไปซะดีกว่า อย่างน้อย ๆ ก็ได้เงินสด 550 ล้านบาท มาเติมสภาพคล่อง
เพราะถ้าดูกระแสเงินสดและเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 มีแค่ 16.88 ล้านบาท เท่านั้น ขณะที่มีส่วนของหนี้สินระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีสูงถึง 86.67 ล้านบาท
สถานการณ์เงินสดค่อนข้างตึงมือนะเนี่ย…
ดังนั้น แทนที่จะได้เงินสด 550 ล้านบาท เข้ามา เพื่อไปจ่ายหนี้ หรือลงทุนต่อ ก็ปลิวหายไปกับสายลม…
นั่นหมายความว่า หาก BKD ได้งานโครงการใหม่ช่วงนี้ อาจต้องใช้วิธีไปกู้บริดจิ้งโลน ซึ่งดอกเบี้ยสูงแทนนะสิ…
ส่วน 7UP หลังจากก่อนหน้านี้เป็นกระดองเต่าที่พยายามไล่ล่าเนื้อมาเติมอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจพลังงานทางเลือก ธุรกิจติดตั้งกล้องตรวจจับน้ำมันรั่วอัจฉริยะ ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจเกมบนมือถือ ธุรกิจจัดดจำหน่ายแก๊ส LPG ธุรกิจติดตั้งกล้องวงจรปิด และธุรกิจบำบัดน้ำ ธุรกิจคัดแยกและกำจัดกากอุตสาหกรรมแบบไม่เป็นอันตรายโดยการฝังกลบ รวมทั้งธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารในเส้นทางเดินเรือระหว่างชายฝั่งภาคตะวันออกกับภาคกลางตอนล่างและภาคใต้
แม้จะมีธุรกิจที่หลากหลาย แต่ยังไม่เห็นธุรกิจหลักที่ชัดเจน…เป็นโจทย์ที่ 7UP ยังแก้ไม่ตกสักที…
ขณะที่ถ้าไปดูกระแสเงินสดและเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 มี 37 ล้านบาท…ก็ถือว่าไม่สูง ถ้าเทียบกับส่วนของหนี้สินระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีที่ 129 ล้านบาท…ดังนั้น การเก็บเงินสดไว้กับตัวในสถานการณ์อย่างนี้น่าจะดีสุด ครั้นจะไปกู้แบงก์มาซื้อหุ้นโกลด์ ชอร์ส ก็อาจไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม…
แต่ 7UP ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียโอกาสที่จะมีรายได้ประจำเข้ามามากขึ้นตามสัดส่วนการถือหุ้นโครงการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาส่งให้พื้นที่บางส่วนของ จ.ภูเก็ต และบางส่วนของ จ.พังงา ที่เพิ่มขึ้น…จากเดิม 7UP ถือหุ้นโกลด์ ชอร์ส อยู่แล้ว 41% หากซื้อเพิ่มจาก BKD มาอีก 40% ก็จะรวมถือทั้งหมดเป็น 81% แต่ในส่วนนี้จะหายไป…
ทั้ง BKD และ 7UP จึงต้องกลับไปซดน้ำแห้วทั้งคู่..!!
เรื่องทั้งหมดก็เป็นเช่นนี้แหละคุณขา…
…อิ อิ อิ…