พาราสาวะถี
ขยันโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียต่อเนื่องในช่วงนี้สำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ถือเป็นการสื่อสารที่ได้น้ำได้เนื้อ เพื่อทำไอโอให้สังคมเห็นว่าตัวเองทำงาน
อรชุน
ขยันโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียต่อเนื่องในช่วงนี้สำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ถือเป็นการสื่อสารที่ได้น้ำได้เนื้อ เพื่อทำไอโอให้สังคมเห็นว่าตัวเองทำงาน จึงปรากฏภาพทั้งการประชุมร่วมกับทีมเศรษฐกิจและคณะทำงานแต่ละชุด พร้อมด้วยชุดความคิดต่าง ๆ ล่าสุด ก็เป็นคิวของการเคาะมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้บทสรุปชื่อโครงการว่า “ม.33เรารักกัน” เงื่อนไขที่จะไม่ได้รับมีเพียงข้อเดียวคือ ผู้ที่มีเงินฝากในบัญชีเกิน 5 แสนบาทขึ้นไป
จากเดิมที่มีข้อเสนอว่าด้วยเรื่องฐานเงินเดือน สุดท้ายก็ตัดออกเพื่อจะได้ไม่มีเสียงโวกเวกโวยวายไล่หลัง เพราะเรื่องเงินเดือนน้อยหรือมาก ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าใครจะเดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน คาดว่าเร็วสุดในสัปดาห์หน้าคงจะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และก็เร่งเคาะกันโดยเร็ว ทั้งเป็นการลดเสียงวิจารณ์เรื่องเลือกปฏิบัติหรือช่วยเหลือแบบเหลื่อมล้ำ และทำให้ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตราดังกล่าวถึง 11 ล้านคน ไม่ต้องไปเป็นแนวร่วมให้ฝ่ายค้านที่กำลังจะซักฟอกกันในกลางเดือนนี้ด้วย
อีกเหตุผลที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเลือกที่จะใช้วิธีการสื่อสารผ่านช่องทางนี้ นอกจากยังไงก็ได้เป็นข่าว และสามารถอธิบายในแต่ละเรื่องด้วยตัวเองได้อย่างละเอียดแล้ว ยังเป็นการหลีกเลี่ยงการถูกถามจากนักข่าวด้วยประเด็นและท่วงทำนองที่ยั่วยวนกวนโมโหได้ด้วย ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังเขม็งเกลียวทางการเมือง การหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้สื่อข่าวได้ก็ถือว่าสามารถลดแรงปะทะกับทั้งทางสังคมและฝ่ายตรงข้ามได้ในระดับหนึ่ง
จังหวะนี้ สิ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้หากต้องมายืนตอบคำถามสื่อก็คือ ประเด็นความขัดแย้งระหว่างพรรคสืบทอดอำนาจกับพรรคประชาธิปัตย์ ต่อกรณีการส่งผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงขนาดที่มี ส.ส.ของพรรคเก่าแก่บางรายส่งสัญญาณจะไม่ยกมือโหวตให้รัฐมนตรีของพรรคแกนนำที่ถูกซักฟอกด้วย ซึ่งก็รวมไปถึงท่านผู้นำเอง ขณะที่บางคนถึงขั้นประกาศให้พรรคถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากท่าทีของแกนนำในพรรคเก่าแก่ ไล่เรียงมาตั้งแต่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค จะเห็นได้ว่ายังคงสงวนท่าที แม้จะมีการเปรย ๆ แบบผู้ดีที่ว่า หากพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาล จะไม่ส่งคนลงสมัครเลือกตั้งซ่อมในเขตที่มีผู้สมัครของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว และพรรคก็ปฏิบัติเช่นนั้นมาตลอด แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ไปกระตุกต่อมมารยาททางการเมืองจากพรรคที่พาดพิงถึงแต่อย่างใด
มิหนำซ้ำ ยังมีการปล่อยให้ส.ส.ของพรรคออกมาตอบโต้กลับพรรคเก่าแก่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ก็เป็นคิวของ รงค์ บุญสวยขวัญ และ สายัณห์ ยุติธรรม สองส.ส.นครศรีธรรมราชของพรรคสืบทอดอำนาจ ที่ซัดกลับพวกเดียวกันเองหน้าหงาย ด้วยเหตุผลที่ว่าประชาธิปัตย์อย่าได้มาอ้างเรื่องมารยาททางการเมือง ทางที่ดีคนของตัวเองถูกสั่งให้พ้นจาก ส.ส.เพราะเรื่องทุจริต ไม่ควรที่จะส่งผู้สมัครเสียด้วยซ้ำ เล่นกันแรงขนาดนี้แต่ยังไม่มีคนของพรรคเก่าแก่โต้กลับแต่อย่างใด
อาจเป็นเพราะว่า รอให้มีการประกาศตัวผู้สมัครของพรรคอย่างเป็นทางการในวันศุกร์นี้ก่อนก็เป็นได้ แต่ถ้าจับอาการจาก ชินวรณ์ บุญยเกียรติ ที่ประกาศชัดปมซักฟอกกับการเลือกตั้งซ่อมต้องแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ด้วยเหตุผลรองรับที่ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องมีการทำงานร่วมกันของระบบรัฐสภา ไม่เช่นนั้นระบบรัฐสภาจะอยู่ไม่ได้ เพราะต้องเดินด้วยเสียงข้างมาก ยกเหตุผลกันมาขนาดนี้ ก็พอจะเข้าใจได้ว่าบทสรุปจะเป็นเช่นใด
ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า ผู้บริหารของพรรคเก่าแก่จะเลือกรักษาเก้าอี้รัฐมนตรีของตัวเองมากกว่ารักษาภาพลักษณ์ของพรรคหรือไม่อย่างไร แต่หากยอมและปล่อยให้เป็นไปในลักษณะเช่นนี้ ก็เชื่อได้เลยว่าท้ายที่สุดก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งหน้า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารพรรคอีกรอบเป็นแน่ เพราะหากปล่อยให้ผู้บริหารภายใต้การนำของอู๊ดด้านำทีมสู้ศึกเลือกตั้ง ทำนายผลได้ทันทีจะเหลือส.ส.น้อยกว่าครั้งนี้ไปอีกเท่าตัว
ไม่อยากมองเลวร้ายไปถึงขั้นต่ำสิบ ไม่ใช่การดูถูก แต่ยิ่งนานวันหากทำตัวเป็นได้แค่ลูกไล่เผด็จการสืบทอดอำนาจ กองเชียร์ที่เคยเหนียวแน่นก็จะเสื่อมศรัทธาลงไปเรื่อย ๆ และเหตุผลสำคัญเรื่องฐานเสียงที่เป็นฐานเดียวกันกับพรรคสืบทอดอำนาจ ไว้ใจได้อย่างไรว่า ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่มีการใช้พลังดูดอีกกระทอก และรอบนี้คงจะทุ่มทุนหนักกว่าหนก่อนชนิดที่คนถูกเชื้อเชิญยากที่จะปฏิเสธ อย่าคิดว่าเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วจะมีพลังในการต่อรองกับคนของตัวเองได้มากกว่าหนก่อน
ต้องอย่าลืมเป็นอันขาด ผลแห่งการบีบด้วยคดีความสำหรับผู้มีชนักปักหลังทั้งหลาย ถือเป็นไม้เด็ดอีกอย่างของขบวนการสืบทอดอำนาจ กรณีของ เทพไท เสนพงศ์ น่าจะเป็นเหมือนการส่งสัญญาณบางอย่างให้กับคนในพรรคเก่าแก่ได้เป็นอย่างดี จากที่เคยถูกค่อนขอดว่า “ทำอะไรก็ไม่ผิด” กลับเป็นคนละเรื่องเมื่อคณะเผด็จการสืบทอดอำนาจมากด้วยบารมี บทเรียนเรื่องรัฐประหารแล้วทำให้บางพรรคการเมืองอ่อนแอ แทนที่จะเป็นพรรคคู่แข่ง แต่กลับเป็นพรรคตัวเอง คนของประชาธิปัตย์น่าจะเข้าใจในเรื่องนี้ดี
สำหรับการซักฟอกต่อข้อกังวลว่าด้วยประเด็นเกี่ยวกับสถาบันนั้น ภาระหนักทั้งหมดตกไปอยู่ในมือของผู้ควบคุมการประชุม ซึ่งในส่วนของ ชวน หลีกภัย เชื่อว่าเอาอยู่ แต่กับรองประธานอีกสองรายคือ “ตี๋กร่าง” สุชาติ ตันเจริญ และ “สหายแสง” ศุภชัย โพธิ์สุ ไม่แน่ใจ เพราะตราชั่งของแต่ละคนไม่ได้เที่ยงตรงเหมือนกัน ภาพที่ปรากฏอาจจะเป็นอย่างที่ วิษณุ เครืองาม ฉายมาให้เห็น บางช่วงอาจต้องมีการประชุมลับอันจะสร้างความอึดอัดให้กับคนที่ดูการถ่ายทอดสดเพราะไม่รู้ว่าถกกันเรื่องอะไร แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นยังคงย้ำว่าต้องมารอลุ้นกันว่า จะได้อภิปรายกันในวันเวลาที่กำหนดหรือไม่