หุ้นเสียวๆ รัฐประหารพม่า.!?

จากการทำรัฐประหารในเมียนมา หรือที่หลายคนยังเรียกติดปากว่า พม่า...สะเทือนการเมืองพม่า แต่สะท้านเย็นวูบสันหลังมาถึงกลุ่มทุนธุรกิจไทย


สำนักข่าวรัชดา

จากการทำรัฐประหารในเมียนมา หรือที่หลายคนยังเรียกติดปากว่า พม่า…สะเทือนการเมืองพม่า แต่สะท้านเย็นวูบสันหลังมาถึงกลุ่มทุนธุรกิจไทย ทั้งที่เข้าไปลงทุน และแสวงหารายได้ในพม่า…

เบื้องต้นจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน..? ขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจที่เข้าไปลงทุน บางรายได้รับผลกระทบชัดเจน ส่วนบางรายอาจได้รับผลกระทบในระยะถัดไป หรือบางรายอาจจะแค่สูญเสียโอกาส ก็ว่ากันไป…

อย่างกลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักส์ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP และ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG รวมทั้งบริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ MEGA ซึ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค และ เวชภัณฑ์ น่าจะได้รับผลกระทบก่อนใคร

จากกรณีเปิดด่านชายแดน และปิดสนามบินย่างกุ้ง ทำให้การขนส่งสินค้าไม่คล่องตัว แม้มีความต้องการสินค้า แต่ก็ส่งเข้าไปไม่ได้ ระยะสั้นกระทบยอดขาย โดย MEGA มีรายได้จากพม่าราว 45% ส่วน OSP มีรายได้ราว 10% ขณะที่ CBG มีรายได้จากพม่าน้อยกว่า 5%

ถัดมาเป็นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม…เห็นสัญญาณชัดเจนอย่างบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ที่ออกมายอมรับว่า ได้รับผลกระทบแน่นอน โดยโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะย่างกุ้ง จำนวน 5,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเฟสแรก จำนวน 500 ไร่ ใช้เงินลงทุน 140 ล้านบาท ต้องหยุดชะงักไป

ซึ่งแน่นอนว่าในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนี้ คงไม่มีนักลงทุนรายใดอุตริเข้าไปซื้อที่ดินลงทุนในพม่าหรอกนะ นั่นหมายความว่า โอกาสที่ AMATA จะรับรู้รายได้ จากเดิมจะเริ่มเข้ามาในปีนี้ ก็ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดนะสิ

อีกกลุ่มเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้า อย่างโรงไฟฟ้า Ahlone ภายใต้บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) หรือ TTCL แม้เฟส 2 กำลังการผลิต 388 เมกะวัตต์ จะเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปแล้ว ก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน

ถ้ากรณีเลวร้ายสุด อาจถูกยกเลิกโครงการไปเลย เพราะ PPA ที่เพิ่งเซ็นไปอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรค NLD ส่วนกรณีกลาง ๆ อาจมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ ลดจำนวนเมกะวัตต์ลง เป็นต้น และกรณีสุดท้าย โครงการยังเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ อันนี้ก็จะโลกสวยหน่อยอะนะ…

ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้ามินบู โครงการขนาดใหญ่กำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ ของ 3 เกลอ นำโดยบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ถือหุ้น 30%, บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF ถือหุ้น 20% และบริษัท เมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ META ถือหุ้น 12% ก็น่าจะมีชะตากรรมไม่ต่างจาก TTCL

ถึงแม้จะเซ็น PPA ไปแล้วก็ตาม ก็ยังมีความเสี่ยง เพราะเฟสแรก เพิ่ง COD ไปแค่ 50 เมกะวัตต์เท่านั้น ยังไม่ถึง 1 ใน 4 ของกำลังการผลิตทั้งหมดด้วยซ้ำ ถ้าโครงการนี้ชะงักไป ก็จะกระทบรายได้ของ 3 เกลออย่างมีนัยสำคัญ…

ส่วนอีกหนึ่งโครงการใหญ่ที่ต้องพูดถึง คือโครงการของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP โอเค…ถ้าเป็นโครงการสัมปทานก๊าซ ขุดเจาะก๊าซออกมาขาย อาจจะไม่กระทบอะไร เพราะรัฐบาลพม่าได้ประโยชน์ จึงมีความเสี่ยงต่ำ

แต่ที่น่าจับตาเห็นจะเป็นโรงไฟฟ้า Gas to Power กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนราว 60,000 ล้านบาท ที่ก่อนหน้านี้เครือ ปตท.ไม่ว่าจะเป็น PTTEP และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC คาดหวังไว้เยอะ ก็ต้องจับตาจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่..?

ถ้าเปลี่ยน… PTTEP และ GPSC ก็จะเสียโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากพม่าไปนะสิ…ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็น่าเสียดายแย่เลย

เอาเป็นว่า ที่ไล่มานี้เป็นหุ้นรัฐประหารพม่าแค่บางส่วนเท่านั้น ยังมีอีกหลายรายที่ไม่ได้เอ่ยนาม แต่ตอนนี้อาจเสียวสันหลังอยู่ก็ได้ ซึ่งจะเสียวมาก เสียวน้อยหรือเสี๊ยวเสียว..!! ก็อีกเรื่องหนึ่งนะ..??

…อิ อิ อิ…

Back to top button