เสพติดพรก.จนลืมวัคซีน
นับวันก็ยิ่งเห็นชัดเจนถึงแนวคิดแบบทหาร ที่มุ่งเอาแต่การล็อกดาวน์จนเศรษฐกิจพังพินาศ โดย ไม่ลืมหูลืมตาถึงเรื่องการจัดการบริหารโควิดที่เป็นสากล
ขี่พายุ ทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
ไซริล รามา โฟซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ แถลงถึงการสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิดอย่างหลากหลาย แถลงกันเป็นไทม์ไลน์เลยทีเดียวเชียว และแน่นอนย่อมมิใช่การสั่งซื้อวัคซีนจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งเพียงรายเดียว
สั่งซื้อวัคซีนโควิชชิลด์ มาเมื่อ 2 วันก่อนจำนวน 1 ล้านโดส, สั่งซื้อวัคซีนเซรุ่มอินเดีย (SII) 5 แสนโดสเข้ามาปลายเดือนก.พ., สั่งวัคซีนโคแวกซ์มาได้แล้ว 12 ล้านโดส อีก 2 ล้านโดสจะเข้ามาในเดือนมี.ค.
สั่งซื้อวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 9 ล้านโดส โดยทำสัญญากับบริษัทท้องถิ่นแอสเพน ให้เป็นบริษัทผลิตในประเทศ ก็คงจะคล้ายกับวัคซีนแอสตร้า เซนเนก้า ที่จะมอบหมายให้สยาม ไบโอ ไซเอนซ์ เป็นผู้ผลิตมั้ง และสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดสจากอเมริกา กำหนดจะส่งมอบภายในไตรมาส 2 ปีนี้
ประธานาธิบดีตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนโควิดให้ได้ร้อยละ 67 ของประชากร หรือ 40 ล้านคน เพื่อให้เพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ
จะเห็นได้ว่า การสั่งซื้อโควิดของรัฐบาลแอฟริกาใต้นั้น สั่งกันอย่างหลากหลายมาก ไม่จำกัดผูกขาดกันอยู่ที่เจ้าใดเจ้าเดียว เท่าที่จาระไนกันมาก็มีถึง 5 เจ้า จึงมีวัคซีนเข้ามาฉีดให้ประชาชนอย่างรวดเร็วไม่ขาดสาย และก็มีให้เลือกได้ทั้งแบบสำเร็จรูปและการนำเอาโนว์-ฮาวของเขามาผลิตเองในประเทศ
ก็เหมือนแอสตร้า เซนเนก้า ซึ่งใครก็ไม่ปฏิเสธเป็นวัคซีนที่ดี และสยาม ไบโอ ไซเอนซ์ ที่ต้องรอกันแล้วรอกันเล่าไปถึงครึ่งปีนี้นั่นแหละ
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ยืนยันว่า ทั่วโลกมีผู้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 46 ล้านคน จำนวนกว่า 100 ล้านโดส อเมริกาฉีดกว่าร้อยละ 7 ของจำนวนประชากร สหราชอาณาจักรร้อยละ 12.6 และอิสราเอลจำนวน 1 ใน 3
“เท่าที่ติดตามผลหลังการฉีดทั้งสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ถือว่าค่อนข้างปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อย
มาก จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลง รวมถึงอัตราการเสียชีวิตก็ค่อยๆ ลดลง”
ความน่าเชื่อถือในตัววัคซีนต่าง ๆ อาจารย์หมอประสิทธิ์บอกว่า “วัคซีนที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรองมีความปลอดภัย”
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ประเทศต่าง ๆ มีการใช้วัคซีนมากกว่า 1 แบรนด์
จุดประสงค์หลัก ไม่ใช้เพื่อไม่ให้ติดเชื้อ แต่เพื่อลดอัตราการระบาด ลดความรุนแรงและการเสียชีวิต รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
ครับโลกทั้งโลกเคลื่อนไหววัคซีนโควิดกันอย่างคึกคัก ไม่ว่าประเทศใหญ่ประเทศเล็กต่างก็เร่งรีบทยอยฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนของตน ส่วนของไทยเรา ทุกอย่างยังคงสงบนิ่งอยู่ในที่ตั้ง เมื่อมาเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ที่แอสตร้า เซนเนก้า มีนโยบายจำกัดการส่งออกไปยังประเทศนอกราชอาณาจักร แม้กระทั่งสหภาพยุโรป
คำสั่งซื้อแอสต้า เซนเนก้าของไทย ที่จะเข้ามา 26 ล้านโดสในเดือนมิ.ย.ตามกำหนดเดิม และ 50,000 โดสตามคำขอเร่งด่วนในเดือนนี้ จึงชักไม่แน่นอนเสียแล้ว รวมทั้งวัคซีนซิโนแวคจากจีน เอาเข้าจริงก็ยังไม่มีการรับรองมาจากทางการจีนเลย
เอายังไงกันดีล่ะ! ในเมื่อหลายชาติในโลกเขามีวัคซีนมาฉีดให้ประชานกันแล้ว แต่ของไทยเราไทม์ไลน์ต่าง ๆ ที่มี นอกจากช้าแล้ว ยังมีความเลื่อนลอยที่จะไม่ได้รับวัคซีนเข้ามาตามกำหนดอีก ในขณะเดียวกันก็เริ่มจะมีรายงานรับรองประสิทธิภาพของวัคซีนค่ายต่าง ๆ มากขึ้นทุกทีแล้ว
จากนี้ไป ก็สามารถจะก้าวเข้าสู่ยุค “วัคซีน พาสปอร์ต” ที่สามารถเปิดโลกทั้งในประเทศและนอกประเทศได้ เศรษฐกิจธุรกิจทั้งหลายจะฟื้นคืนกลับมา ใครมีวัคซีนฉีดให้ประชาชนได้เร็วเท่าไหร่และมากเท่าไหร่ ก็สามารถจะดับทุกข์เข็ญของคนชาติตนได้เร็วเท่านั้น
คุณหนู อนุทิน รัฐมนตรีสาธารณสุข ก็พูดแก้ต่างถึงความเชื่องช้าของตนเองว่า “เราไม่ให้ประชาชนเป็นหนูทดลอง วัคซีนที่เรานำเข้ามาให้ประชาชนต้องปลอดภัย และไม่เกิดผลข้างเคียง” ไปนั่น
พูดราวกับว่าโลกนี้มีแค่วัคซีนที่ตนเองสั่งซื้อรายเดียวเท่านั้นที่เจ๋งสุด แล้วเจ้าอื่น ๆ ตัวเองรู้หรือไงว่าเป็นวัคซีนเลวจะเข้ามาทำร้ายประชาชน
ส่วนนายกฯ ประยุทธ์ ยิ่งนับวันก็ยิ่งเห็นชัดเจนถึงแนวคิดแบบทหาร ที่มุ่งเอาแต่การล็อกดาวน์จนเศรษฐกิจพังพินาศ โดย ไม่ลืมหูลืมตาถึงเรื่องการจัดการบริหารโควิดที่เป็นสากล และการบริหารเป้าหมายหลักที่จะต้องได้วัคซีนอย่างหลากหลายมาฉีดให้ประชาชนของตนโดยเร็วที่สุด
ใครเห็นต่าง เป็นได้โดนข้อกล่าวหา “ล้มเจ้า” ไปโน่น
เสพติดพ.ร.ก.ฉุกเฉินซะจนละลืมบริหารวัคซีนโควิด