พาราสาวะถี
วันนี้ทั่วประเทศคึกคักกับการเปิดรับสมัครนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลทั่วประเทศเป็นวันแรก โดยมีคิวหย่อนบัตรกันในวันที่ 28 มีนาคมนี้
อรชุน
วันนี้ทั่วประเทศคึกคักกับการเปิดรับสมัครนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลทั่วประเทศเป็นวันแรก โดยมีคิวหย่อนบัตรกันในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ส่วนนายกและสมาชิกอบต.วางโปรแกรมกันไว้ว่าน่าจะเกิดขึ้นภายในกลางปีประมาณเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม ตบท้ายด้วยเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.และนายกเมืองพัทยาช่วงปลายปีที่ไม่น่าจะเกิดเดือนตุลาคมนี้ นี่คือการวางไทม์ไลน์ที่ฝ่ายกุมอำนาจพิจารณาจากความพร้อมในการวางตัวของพรรคพวกตัวเองเป็นด้านหลัก
โดยเฉพาะกับตำแหน่งผู้ว่าฯ เมืองหลวง ที่จนถึงวันนี้พรรคสืบทอดอำนาจยังเป็นปัญหาหนักอก เมื่อ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคเลือกถือหาง พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา อย่างชัดเจน ขณะที่รองหัวหน้าพรรคและอดีตแกนนำกปปส.อย่าง ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ก็ยืนยันสนับสนุนเมียตัวเอง ทยา ทีปสุวรรณ ที่มีดีกรีอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.สู้ศึกเลือกตั้งเหมือนกัน ด้วยการอ้างว่าเป็นความประสงค์ของเจ้าตัวเอง ในฐานะผัวก็ไม่มีทางเลือกอื่นที่จะปฏิเสธได้
นั่นเป็นเพราะรู้กันดีว่าพรรคสืบทอดอำนาจจะไม่ส่งคนลงสมัครในนามพรรค ให้จำแลงแปลงกายสมัครในนามอิสระ แต่จะใช้ฐานเสียงของส.ส.กทม.ที่ตัวเองมีเข้าไปสนับสนุน บวกกับความเจ้าเล่ห์รู้ว่าคนกรุงเทพฯ จะตัดสินใจอย่างไรต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จึงไม่ยอมใช้ยี่ห้อของพรรคไปการันตี เพราะเกรงว่าจะเสียของหรือกลายเป็นภาพสะท้อนต่อความนิยมของรัฐบาลได้ หากผลเลือกตั้งออกมาต้องพบกับความปราชัย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พรรคแกนนำรัฐบาลตัดสินใจส่งคนลงสมัครเลือกตั้งส.ส.เขต 3 นครศรีธรรมราชชนกับคนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาทวงถามเรื่องมารยาททางการเมืองแล้ว สนามเมืองหลวงจึงเป็นการตัดสินใจที่ไม่ยาก และไม่ต้องเกรงว่าจะมีการรวมหัวฮั้วกันของสองแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เป็นอันรู้กันว่าพรรคเก่าแก่จำเป็นที่จะต้องส่งคนลงสมัคร เพื่อช่วงชิงคะแนนนิยมกลับคืนมา หลังการเลือกตั้งส.ส.ครั้งที่ผ่านมาต้องพบกับความพ่ายแพ้อย่างราบคาบ
ทางด้านซีกฝ่ายค้านสองพรรคแกนนำอย่างเพื่อไทยกับก้าวไกล ต้องตกลงกันให้ได้จะส่งคนลงสมัคร ตัดคะแนนกันเอง หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยอมหลีกทางให้ เพราะทางซีกนี้ ยังมีผู้สมัครในนามอิสระที่จะเข้ามาเป็นตัวหารคะแนนไปด้วยอย่างน้อย ๆ ที่เห็นประกาศตัวชัดเจนก็มี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และยังไม่แน่ว่าทางกลุ่มสร้างไทยที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวเรือใหญ่ จะลองชิมลางสนามเลือกตั้งเมืองกรุง ด้วยการส่งคนเข้าร่วมชิงชัยด้วยหรือไม่
แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้น ยังมีเวลาเตรียมการและต่อรองกันอีกมากโข คงต้องไปลุ้นผลการเลือกตั้งส.ส.ที่เขต 3 นครศรีธรรมราชกันดูกัน การฟัดกันของสองพรรคร่วมรัฐบาล ดูจากอาการของคนพรรคเก่าแก่ที่ตีกันพรรคสืบทอดอำนาจไว้ตั้งแต่แรก ก็พอจะอ่านกันได้ว่ากลัวจะพลาดท่าเสียทีให้กับพวกเดียวกัน เนื่องจากหนที่แล้วคนของพรรคแกนนำรัฐบาลแพ้กันไปแค่ 4 พันกว่าคะแนน แต่นั่นอาจไม่มีความหมายใด ๆ เพราะภาพลักษณ์ของพรรคเสียหายไปแล้วกับการไม่ตัดสินใจถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล
ด้านการเมืองภาพใหญ่วันพรุ่งนี้จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.ปัดเศษจากพรรคสืบทอดอำนาจเข้าชื่อกับ สมชาย แสวงการ ส.ว.ลากตั้งและคณะ เพื่อให้มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 เพื่อให้มีส.ส.ร.หรือไม่ เมื่อพิจารณาจากจำนวนเสียงที่มีแล้วคงต้องโหวตผ่าน ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงว่า พรรคแกนนำรัฐบาลยังคงเล่นเกมการเมืองว่าด้วยการซื้อรัฐธรรมนูญอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
ไม่ต้องพูดถึงส.ว.ลากตั้ง เพราะเสียงส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากแก้ให้เกิดผลกระทบต่ออำนาจที่ตัวเองได้รับ การรับหลักการแก้ไขในวาระแรกกว่าจะผ่านความเห็นชอบกันได้ ก็ผ่านการยื้อกันหลายกระทอก นั่นเป็นตัวบ่งบอกที่ชัดเจนว่า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจริงใจต่อการแก้ไขกฎหมายสูงสุดที่ตัวเองให้ลิ่วล้อเขียนมากับมือเพื่อการอยู่ต่อในตำแหน่งหรือไม่ และถือเป็นบทพิสูจน์จังหวะก้าวของพรรคเก่าแก่ได้อีกเรื่อง การผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นเพียงวาทกรรมเพื่อทำให้ได้ร่วมรัฐบาลหรือตั้งใจจริง
กับดักทางการเมืองที่ว่าด้วยเรื่องต่าง ๆ นั้น ดูเหมือนว่าแต่ละการขับเคลื่อนจะวกกลับมามีผลต่อพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น เมื่อมาถึงจุดนี้หากย้อนกลับไปได้คงต้องถามใจ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะเมื่อปี 2557 หากให้ตัดสินใจใหม่ จะยังคงสนับสนุนขบวนการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งชุด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกหรือไม่ นี่ถือเป็นบทเรียนราคาแพงหรือค่าโง่ของพรรคที่เป็นอีแอบกับพวกอำนาจนอกระบบมายาวนาน จากที่เคยเป็นผู้ได้มาตลอด รัฐประหารรอบนี้สร้างความเสียหายย่อยยับมากกว่าพรรคการเมืองที่ตัวเองตั้งใจล้มเสียอีก
ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นกลางเดือนนี้ประชาชีเฝ้ารอดูว่า ฝ่ายค้านจะมีหลักฐานเด็ดอะไรมาน็อกรัฐบาลได้หรือไม่ เป้าหมายใหญ่คงอยู่ที่การจับเอาพี่น้อง 3 ป.มาขึงพืดเพราะประจานขบวนการสืบทอดอำนาจว่าสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างไร และล้มเหลวในการบริหารแบบไหน 42 ชั่วโมงที่ได้รับจัดสรรมา ต้องใช้ให้คุ้มค่า อภิปรายเข้าเป้า เน้นแสดงหลักฐานให้ประชาชนเชื่อให้ได้ว่ามีความไม่ชอบมาพากลอย่างไร เอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าสัว นายทุนและพรรคพรรคตัวเองร่ำรวยอย่างไร
ไม่ใช่การขี่ม้าเลียบค่ายแล้วทิ้งท้ายให้คนไปคิดกันเอาเอง ถ้าทำได้เพียงเท่านี้ เวลาดังว่าก็ไม่ใช่การซักฟอกแต่เป็นช่องทางในการเปิดโอกาสให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้ฟอกขาวตัวเองเสียมากกว่า นาทีนี้ก็เริ่มมีการตั้งข้อสงสัยกันแล้ว การยอมรับเงื่อนไขเรื่องเงื่อนเวลาอภิปรายทั้งที่มีรัฐมนตรีถูกซักฟอกมากกว่าหนที่แล้วถึง 4 ราย มันเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอะไรหรือไม่ แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ย่อมคลางแคลงใจคนในซีกของพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคฝ่ายค้านอื่น ๆ เมื่อถึงเวลาอภิปรายจะเป็นบทพิสูจน์ข้อครหาเหล่านั้น หรือหากมีข้อสอบรั่วออกมาในช่วงนี้ก็น่าจะเป็นตัวบ่งชี้อะไรได้หลายประการ