รัฐสี่เหลี่ยม
รัฐราชการไทยบังคับให้ทำทุกอย่างตามระเบียบ คิดเล็กคิดน้อย เคร่งครัด ต้องรอให้ผิดพลาดจนเกิดดราม่าสะเทือนใจ แบบไล่ฟ้องทวงเบี้ยคนชรา
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
รัฐราชการไทยบังคับให้ทำทุกอย่างตามระเบียบ คิดเล็กคิดน้อย เคร่งครัด ต้องรอให้ผิดพลาดจนเกิดดราม่าสะเทือนใจ แบบไล่ฟ้องทวงเบี้ยคนชรา จึงตื่นขึ้นมาแก้ปัญหาให้ เสร็จแล้วยังเอาไปคุยว่า ถ้าไม่ใช่ประยุทธ์ ไม่แก้ปัญหาเร็วขนาดนี้นะ
เบี้ยคนชรา โดยเจตนารมณ์คือบำนาญประชาชน ให้ทุกคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ตอบแทนการทำงานให้ประเทศจนวัยเกษียณ เพราะไม่ใช่มีแต่ข้าราชการรัฐวิสาหกิจรับใช้ชาติ พ่อค้าแม่ค้ากรรมกรชาวนานักธุรกิจ ก็สร้างความเจริญให้ประเทศเหมือนกัน เสียภาษีทั้งทางตรงทางอ้อมตั้งแต่หัวดำจนหัวหงอก
เบี้ยคนชราจึงเป็นสิทธิของทุกคน ไม่ว่ารวยหรือจน ยกเว้นข้าราชการรัฐวิสาหกิจที่ได้บำเหน็จบำนาญสูงกว่าอยู่แล้ว การได้รับเงินอื่นใดจากทางราชการ จึงไม่ตัดสิทธิรับเบี้ยคนชรา โดยเฉพาะบำนาญตกทอด กรณีสามีภรรยาหรือบุตรเสียชีวิตในราชการ ซึ่งเป็นการจ่ายค่าขาดไร้อุปการะ ไม่ใช่บำนาญของตัวเอง ที่จะเอามาทับซ้อนเบี้ยคนชรา
เปรียบเหมือนคนแก่ที่ลูกตายเพราะความผิดพลาดของรัฐ สมมติศาลสั่งจ่ายเงินก้อน พร้อมค่าเลี้ยงดูเดือนละหมื่นจนวันตาย จะตัดสิทธิรับเบี้ยคนชราไม่ได้
แต่ราชการไทยไม่ใช้หัวคิด อบต.อาจมีหัวคิด แต่ไม่สามารถตัดสินใจ ไม่งั้นโดนกรมบัญชีกลาง สตง. เอาผิดต้องให้เป็นดราม่า เป็นข่าวดัง แล้วรัฐจะขมีขมันแก้ไข
ลึกลงไปในวิธีคิดของรัฐราชการ คือเห็นว่าเบี้ยคนชราเป็นเงินสงเคราะห์ เป็นความเมตตากรุณาของทางราชการ ไม่ใช่สิทธิ ใครที่ได้เงินอย่างอื่นอยู่แล้วจึงไม่ควรได้ คนมีเงินไม่ควรได้ เหมือนคนรวยไม่ควรใช้บัตรทอง
ประยุทธ์ก็บ่นอยู่เสมอ เบี้ยคนชรา บัตรทอง เป็นภาระ ไม่อยากให้ถ้วนหน้า คนรวยขอให้เสียสละ (แต่ข้าราชการรวย ๆ ไม่ยักสละสิทธิรักษาพยาบาลบำเหน็จบำนาญบ้านพัก)
เงินเยียวยา “เราชนะ” รัฐก็มองเป็นเงินสงเคราะห์เมตตา ไม่ใช่ตอบแทนความเสียหายจากโควิด ซึ่งรัฐทำฉิบหายเอง ประยุทธ์จึงอ้างบุญคุณ อวดผลงานทั้งที่เป็นเงินภาษี คนที่เดือดร้อนก็ไม่ได้ชดเชย เช่นหมอนวดนักดนตรีผับบาร์โรงแรม ฯลฯ ในเขตจังหวัดที่ถูกสั่งปิด ไม่มีการชดเชยเฉพาะ จ่ายกวาดจากแม่สายถึงเบตงทั้งที่เดือดร้อนไม่เท่ากัน
“เราชนะ” เมื่อเป็นเงินสงเคราะห์ก็เลือกจ่าย ไม่ให้คนมีรายได้เกิน 3 แสน เงินฝากเกิน 5 แสน เพราะถือว่ามีเงินแล้ว แต่ “เรารักกัน” ผู้ประกันตน ม.33 กลับประหลาด ไม่จำกัดรายได้ แต่มีเงินฝากเกิน 5 แสนไม่ได้
ไม่รู้เอาหลักเกณฑ์อะไร คนทำงานเงินเดือน 5 หมื่นเท่ากัน คนหนึ่งดาวน์รถใหม่ ดื่มกินเที่ยวถลุงจนไม่เหลือติดกระเป๋ารัฐให้ความช่วยเหลือ อีกคนพอเพียงประหยัดอดออม ยอมขับรถเก่า กลายเป็นพอเพียงแล้วซวย ถูกตัดสิทธิ
ไม่มีประเทศไหนจู้จี้จุกจิกเรื่องสงเคราะห์เยียวยาเท่ารัฐไทย ตั้งแต่บัตรคนจนมาถึงโควิด ใช้ข้าราชการจำนวนมากมาจำแนกแยกสิทธิ รายได้ ฐานะ แล้วไล่ตรวจ แต่ก็มีช่องโหว่ให้ทุจริตจนได้ แบบ “เราเที่ยวด้วยกัน”
รัฐราชการไม่ชอบสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องแบบบัตรทอง รัฐราชการชอบให้ความกรุณา ช่วยเหลือเป็นราย ๆ เพื่อจะได้มีทั้งบุญคุณและอำนาจ รวมทั้งมีงานด้านธุรการให้ทำ
ขณะเดียวกันก็เคร่งครัดกฎระเบียบแบบพิธีกรรม ทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง การอนุญาตอนุมัติต่าง ๆ แต่รู้กันว่ามีเส้นสายหยอดน้ำมันก็เหยียบคันเร่งได้
ตัวอย่างความเคร่งครัดบ้าจี้คือ เลือกซ่อม อบจ.18 จังหวัด ซึ่งไม่มีผลแพ้ชนะ ไม่มีปัญหาทุจริต แค่จำนวนผู้ใช้สิทธิกับจำนวนบัตรไม่ตรงกัน เพราะกรรมการหน่วยสับสนกติกาลักลั่น เลยต้องสั่งเลือกตั้งใหม่เพื่อซ่อมตัวเอง ทำให้ตัวเองถูก จะได้ปิดรายงานส่งนายตามระบบราชการ
แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมือง ก็ใช้ความเคร่งครัดกับฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายเดียวกันหยวนตีความ พ้นผิดอยู่เสมอ