จากเพลย์เวิร์คสู่สรรหากสทช.
การไล่ล่าทวงค่าเยียวยาความเสียหาย 1.7 หมื่นล้านบาทต่อกสทช.ของบริษัทเพลย์เวิร์ค กับการสรรหาคณะกรรมการกสทช.ชุดใหม่ กลายเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” อย่างน่าประหลาด
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
การไล่ล่าทวงค่าเยียวยาความเสียหาย 1.7 หมื่นล้านบาทต่อกสทช.ของบริษัทเพลย์เวิร์ค กับการสรรหาคณะกรรมการกสทช.ชุดใหม่ กลายเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” อย่างน่าประหลาด
ความเดิมคือ กสทช.เวนคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ จากบมจ.อสมท เพื่อเอาไปประมูลคลื่นความถี่ 5จี จึงต้องมีโครงการเยียวยาให้อสมท แต่อสมท มีคู่สัญญาที่จะทำโครงการเคเบิลทีวีร่วมกันกับบริษัทเพลย์เวิร์ค เพลย์เวิร์คจึงขอแบ่งเอี่ยวค่าเยียวยาด้วยในอัตราเท่า ๆ กับที่อสมท ได้รับ
มติบอร์ดกสทช.ต่อมาให้เยียวยาไปที่อสมท ซึ่งเป็นคู่สัญญาที่เดียวเป็นจำนวนเงิน 3,235 ล้านบาท แบ่งจ่ายในระยะเวลา 10 ปี จ่ายงวดแรกไปแล้วเมื่อ 2 ก.ย. 63 จำนวน 146 ล้านบาท อสมท รับเงินจากกสทช.มาก็เอาไปจ่ายแบ่งครึ่งให้เพลย์เวิร์คคนละ 73 ล้านบาท
ก่อนหน้าการลงมติบอร์ด กสทช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าเยียวยา โดยมีนายจิตรนรา นวรัตน์ เป็นประธานอนุกรรมการฯ และได้ว่าจ้างสถาบันทางวิชาการ 3 แห่งเข้ามาศึกษา
TDRI ตีค่าเยียวยาแค่ 200 ล้านบาท แถมความเห็นว่าไม่ต้องจ่ายก็ยังได้, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ 200 ล้านบาทเหมือนกัน ส่วนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำเป็นขั้นบันไดขึ้นมาเป็น 200-400-900 ล้านบาท
ประธานอนุฯ บอกว่า ผลการศึกษาทั้ง 3 สถาบันไม่สมบูรณ์ โดยอ้างผลการศึกษาจากต่างประเทศ ซึ่งเอามูลค่าคลื่นเป็นตัวตั้ง คิดราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่นที่ 35,738 ล้านบาท และให้แบ่งเยียวยาอสมท และเพลย์เวิร์คฝ่ายละ 13.75%
คิดเป็นตัวเงินออกมาได้ฝ่ายละ 4,913.97 ล้านบาท รวม 2 ฝ่ายก็คือ 9,827.94 ล้านบาท แต่ตอนไปเสนอบอร์ดกสทช. เสนอเป็นตัวเลขกลม ๆ ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท
“ตาตั้ง” สิครับ! คณะกรรมการกสทช.ขืนให้การอนุมัติไป ก็มีหวังเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางกันเป็นแถว ในที่สุดก็เคาะราคาเยียวยาออกมาด้วยความเกรงใจ๊เกรงใจที่ 900 ล้านบาท และคิดมูลค่าอนาคตที่ผ่อนจ่าย 10 ปีให้ที่ราคา 3.2 พันล้านบาท
บอร์ดอสมท ไม่น้อยกว่า 3 คนก็ยื่นใบลาออก เพราะไม่แน่ใจว่าบริษัททคู่สัญญาอสมท จะมีความเสียหายจริงขนาดนี้หรือไม่
คุณจิตรนรา นวรัตน์ อดีตผู้ตรวจอัยการ และประธานอนุเยียวยาฯ ที่เสนอค่าเยียวยา 1.3 หมื่นล้านบาทในวันนั้น ก็ได้รับการสรรหา เป็น 1 ใน 2 ว่าที่กสทช.ด้านกฎหมายไปให้วุฒิสภาเลือก
วันนี้ บริษัทเพลย์เวิร์ค ไม่เพียงแต่จะพอใจค่าเยียวยาแค่ 3.2 พันล้านบาทแล้ว แต่ได้เพิ่มมูลค่าเรียกร้องความเสียหายเป็น 1.75 หมื่นล้านบาท แต่ผู้เดียว
โดยอ้างประมาณการรายได้รวม “เคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิก” ในเวลา 15 ปี จะเป็นเงิน 226,830 ล้านบาท (ปีละ 15,122 ล้านบาท) และมีกำไรประมาณ 50,480 ล้านบาท (ปีละ 3,365 ล้านบาท) บริษัทฯ จะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากอสมท 66.91% จึงเท่ากับว่าบริษัทจะมีกำไรสุทธิ 33,776.17 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 15 ปี
ถ้าทอนออกมาเป็นรายปี เพลย์เวิร์คเขาคำนวณความเสียหายจากผลกำไรถึงปีละ 2,251 ล้านบาท
อุ๊แม่เจ้า! ใครเคยได้ยินชื่อบริษัทเคเบิลทีวีชื่อ “เพลย์เวิร์ค” นี้บ้าง ลงทุนไปเท่าไหร่ก็ไม่มีการสืบค้นว่าจะสักเท่าไหร่กันเชียว ถึงขนาดทีดีอาร์ไอบอกว่าเยียวยาให้ทั้งอสมท ซึ่งได้คลื่นมาฟรี และบริษัทร่วมทุนรายนี้แค่ 200 ล้านบาท หรือจะไม่จ่ายสักแดงเดียวเลยก็ยังได้
ผมขอนำเอาไปเปรียบเทียบราคาเคลมที่บอกว่าบริษัทร่วมทุนที่จะมีรายได้ปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท และกำไรปีละ 3.3 พันล้านบาท กับบริษัททรู วิชั่นส์ กรุ๊ป เคเบิลทีวีของจริงที่ใหญ่ที่สุดของไทย และมีคอนเทนต์จากต่างประเทศในเวลานี้…
ปรากฏว่า รายได้รวมของทรู วิชั่นส์ อยู่ในระดับแค่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทเอง ปี 2560 รายได้รวม 10,088 ล้านบาท, ปี 2561 รายได้รวม 10,756 ล้านบาท และปี 2562 รายได้รวม 10,141 ล้านบาท ส่วนกำไรแต่ละปีติดลบ 861,157 และ 664 ล้านบาท ตามลำดับครับ
หากผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกระทำการโดยสุจริตเป็นที่ตั้ง ก็คงไม่ได้เห็นบริษัทเอกชนอะไร ที่เสมือน “จับเสือมือเปล่า” มาเหิมเกริม เรียกร้องค่าเสียหายเอากับรัฐเป็นจำนวนเงินมากมายมหาศาลขนาดนี้
มันเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” หรือเปล่า ที่ว่ากันว่า “ก๊วน 2ป.พี่และน้อง” เป็นผู้ให้การหนุนหลังและฝากฝังบริษัทเอกชนรายนี้ให้เข้ามาสวาปาม “ลาภอันมิควรได้” ก้อนใหญ่ชิ้นนี้
ผู้ตัดสินให้มีการเยียวยาถึง 1.3 หมื่นล้านบาทในวันนั้น ก็เผอิญได้เข้ารอบคัดเลือกเป็นกสทช.เสียด้วย เอวัง! อนาคตโทรคมนาคมประเทศไทย