ม็อบยิ่งเกลียดตำรวจ

ม็อบ 13 ก.พ. “นับหนึ่งถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน” จบลงด้วยความรุนแรง ตำรวจระบุว่ามีคนขว้างระเบิดปิงปองใส่ตำรวจบาดเจ็บ 20 นาย แต่หลังแกนนำประกาศยุติ ตำรวจก็ใช้กำลังใช้แก๊สน้ำตาไล่จับคนตกค้าง ใช้กระบองรุมตีคนมือเปล่าทั้งที่ไม่ได้ต่อสู้ ทำร้ายแพทย์อาสาจนเป็น #ตำรวจกระทืบหมอ 714k ฉลองวาเลนไทน์


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ม็อบ 13 ก.พ. “นับหนึ่งถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน” จบลงด้วยความรุนแรง ตำรวจระบุว่ามีคนขว้างระเบิดปิงปองใส่ตำรวจบาดเจ็บ 20 นาย แต่หลังแกนนำประกาศยุติ ตำรวจก็ใช้กำลังใช้แก๊สน้ำตาไล่จับคนตกค้าง ใช้กระบองรุมตีคนมือเปล่าทั้งที่ไม่ได้ต่อสู้ ทำร้ายแพทย์อาสาจนเป็น #ตำรวจกระทืบหมอ 714k ฉลองวาเลนไทน์

ยิ่งกว่านั้นมีอันธพาลดักยิงการ์ดอาชีวะสาหัส คนร้ายจนมุมใน 7-11 เรียกตำรวจมาจับแต่เกิดเหตุชุลมุน มวลชนจะประชาทัณฑ์ เข้าใจผิดว่าตำรวจจับการ์ดไปด้วย จนล้อม สน.นางเลิ้ง

ถ้าลำดับเหตุการณ์จากสื่อต่าง ๆ ก็เป็นความจริงว่า ในม็อบมี “ฮาร์ดคอร์” คนกลุ่มน้อยอารมณ์แรง ปาพลุปาระเบิดปิงปองใส่ตำรวจ โดยแกนนำควบคุมไม่อยู่ เพราะเป็นม็อบ “กึ่งไม่มีแกนนำ” แกนนำแค่นัดหมาย นำขบวน ใครอยากเข้าร่วมก็ได้ แม้แต่การ์ด ก็ยังสับสนว่าใครเป็นใคร

นั่นเป็นปัญหาที่ม็อบจะต้องไปคุมเข้มกันเอง เพราะถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ก็เป็นผลเสียกับม็อบ จะทำให้คนไม่อยากเข้าร่วม

แต่ทำไมตำรวจจะต้องใช้กำลังเข้าสลาย ทั้งที่ม็อบเลิกแล้ว ใช้ความรุนแรงเหมือนต้องการระบายความโกรธแค้น จะอ้างว่าโกรธแทนเพื่อน ก็ใช้ความรุนแรงกับคนธรรมดา กับแพทย์อาสา ไม่ใช่ฮาร์ดคอร์ที่ไหนเลย (อันที่จริง ตำรวจ 20 นายก็บาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ตามระเบียบราชการ แผลถลอกต้องบันทึกไว้ว่าบาดเจ็บระหว่างปฏิบัติหน้าที่)

ในทางการเมือง พูดได้ว่าถ้าตำรวจอดทนอดกลั้น ปล่อยให้ม็อบแยกย้าย ปล่อยให้ประชาชนเห็นภาพม็อบขว้างปาตำรวจฝ่ายเดียว ม็อบก็เป็นฝ่ายเสียหาย ที่ไหนได้ ตำรวจกลับใช้กำลังรุมยำรุมกระทืบไม่ต่างจากอันธพาล จนเป็นภาพเป็นคลิปไวรัลแพร่ไปทั่วนับล้าน ๆ วิว

ถ้าย้อนเหตุการณ์ ม็อบช่วงแรก ๆ 16 สิงหาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตำรวจก็ดูแลดี กั้นแนวม็อบกับฝ่ายต่อต้าน ตั้งจุดตรวจค้น ประสานการ์ดอาสา ช่วงนั้นมีม็อบสาดสีใส่ตำรวจ ผู้สนับสนุนยังท้วงติงกัน เรี่ยไรเงินซื้อชุดใหม่ให้ (แต่ตำรวจเอาเงินเข้ากระเป๋าแล้วไม่ยักยอมความ)

จนตำรวจใช้ความรุนแรงอย่างไร้เหตุผล เช่นจับไผ่ ดาวดิน กับเพื่อน 21 คน เมื่อบ่ายวันที่ 13 ตุลา ซึ่งกลายเป็นชนวนปลุกม็อบ การใช้รถฉีดน้ำที่แยกปทุมวัน 16 ต.ค. ทั้งที่รู้ว่าเดี๋ยวม็อบก็เลิกแล้ว ตามด้วยหน้ารัฐสภา ซึ่งตราบใดที่ม็อบไม่ได้บุกรัฐสภาก็เป็นสิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ แต่ตำรวจใช้กำลังใช้รถฉีดน้ำไม่ให้เข้าไป

ยิ่งกว่านั้นยัง “ยัดข้อหา” รุนแรงเกินเหตุ เข้าข่ายบิดเบือนความยุติธรรม แค่จัดชุมนุมโดนทั้ง 116 เป็นภัยต่อความมั่นคง มั่วสุมใช้กำลังประทุษร้าย กวาดข้อหาใส่จนกระทั่งกีดขวางจราจร พ.ร.บ.รักษาความสะอาด สุดท้ายก็ใช้ 112 (แม้รู้กัน 112 เป็น “ใบสั่ง” ไม่ใช่ตำรวจทำเอง)

แต่การใช้กำลัง ใช้กฎหมายแบบตำรวจ (เรียกมอเตอร์ไซค์จอด เดินดูรอบคันยังไงก็ผิด) ทำให้ม็อบเกลียดชังตำรวจ อาจจะเกลียดกว่าทหารด้วยซ้ำ เพราะธรรมชาติคนไทยเกลียดตำรวจเป็นทุนอยู่แล้ว จากภาพลักษณ์อวดอำนาจ ข่มขู่ เหวี่ยงแห ยัดข้อหา รับส่วย

ระยะหลัง การใช้อำนาจตำรวจยิ่งไม่มีเหตุผลมากขึ้น ๆ เช่นยกกำลังตะลุมบอนจับ WeVo เก็บรั้วลวดหนาม ขายกุ้งที่สนามหลวง พ.ต.อ.ขึ้นมึงกูข่มขู่คนไปให้กำลังใจเพื่อนถูกจับ

ในสายตาม็อบ ตำรวจควบคุมฝูงชนที่ยืนประจันหน้า จึงไม่เหลือความเป็นมนุษย์อีกต่อไป กลายเป็นหุ่น “ขี้ข้าเผด็จการ” แม้พยายามบอกกันว่าตำรวจชั้นผู้น้อยต้องทำตามคำสั่ง แต่ผู้บังคับบัญชาก็สลายความเป็นมนุษย์ของตำรวจเอง

เหตุการณ์คืนวันที่ 13 อาจเข้าทางรัฐบาล ในแง่ที่คิดว่าจะทำให้คนมาร่วมม็อบน้อยลง เพราะกลัวความรุนแรง

แต่ด้านตรงข้ามก็ยิ่งจุดความเกลียดชังตำรวจ เกลียดชังรัฐ ยกระดับความขัดแย้งอย่างยากจะอยู่ร่วมกันได้กับคนรุ่นใหม่

Back to top button