KTC ปิดทางตัน เปิดทางโต
หลายปีที่ผ่านมา บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC จัดเป็นหุ้น Growth Stock (หุ้นเติบโต) โชว์ผลงานเติบโตทั้งรายได้และกำไรระดับสูง 40-50% ต่อปี มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีธุรกิจ 3 ขาหลัก ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หนุนการเติบโต...
สำนักข่าวรัชดา
หลายปีที่ผ่านมา บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC จัดเป็นหุ้น Growth Stock (หุ้นเติบโต) โชว์ผลงานเติบโตทั้งรายได้และกำไรระดับสูง 40-50% ต่อปี มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีธุรกิจ 3 ขาหลัก ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หนุนการเติบโต…
แต่ช่วงหลังมานี้ เริ่มเห็นอัตราการเติบโตของ KTC แคบลง..!?
เห็นได้จากธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งเป็นพอร์ตใหญ่ของ KTC การงอกเงยค่อนข้างจะยาก อาจเป็นเพราะฐานลูกค้าใหญ่ขึ้น จำนวนลูกค้าใหม่เริ่มน้อยลง ทำให้อัตราการเติบโตค่อนข้างต่ำ
ด้านสินเชื่อส่วนบุคคล ก็มีคู่แข่งเยอะ…แถมยังถูกมาตรการปรับลดเพดานดอกเบี้ยของแบงก์ชาติเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดกดดันกำไรอีก…จากเดิมเคยคิดดอกเบี้ยที่ 28% ก็เหลือแค่ 25%…
ส่วนธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ภายใต้ชื่อ “KTC พี่เบิ้ม” ก็เป็นตัวใหม่ เหมือนเป็นสตาร์ของ KTC แต่ก็ถูกท้าทายด้วยบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD กับธนาคารออมสิน ที่เพิ่งร่วมหอลงโรงกัน ได้เปรียบเรื่องดอกเบี้ยต่ำ
ไหนจะมีคู่แข่งเจ้าอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC, บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH, บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER, บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK
รวมทั้งบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ NTL (ลูกรักของแบงก์กรุงศรีฯ) ที่เตรียมแต่งตัวเข้าตลาดฯ อยู่ระหว่างการยื่นไฟลิ่งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อีกต่างหาก…
โอเค…แม้เป็นเค้กก้อนใหญ่ก็จริง (มูลค่าตลาดราว 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 21% จากสินเชื่อนอนแบงก์ที่มีมูลค่าตลาดรวม 4.81 แสนล้านบาท) แต่การแข่งขันสูง..!!
ล่าสุด KTC งอกขาใหม่ไปสู่ธุรกิจลีสซิ่ง ด้วยการทุ่มงบ 594 ล้านบาท ซื้อหุ้น 75.05% ของบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด จากบริษัทแม่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB
กลายเป็นขาที่ 4 ของ KTC..!?
แม้ขาที่ 4 สินเชื่อลีสซิ่งจะมีคู่แข่งเยอะ แต่เป็นพอร์ตใหม่ที่ KTC ไม่เคยมี…สิ่งที่น่าสนใจคือ อันดับแรก จะทำให้ KTC มีลูกค้าใหม่เข้ามาทันที ไม่ต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งให้เสียเวลา เป็นการโตแบบอินออร์แกนิค..!!
แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป ลูกค้าเช่าซื้อก็อาจผกผันมาเป็นลูกค้าประเภทอื่น ๆ ได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าบัตรเครดิต ลูกค้าสินเชื่อบุคคล รวมทั้งลูกค้าจำนำทะเบียนรถ ซึ่งอย่างน้อย ๆ ก็มีฐานข้อมูลของลูกค้าเหล่านั้นอยู่แล้ว…อันนี้เป็นมูลค่าเพิ่มที่ซ่อนอยู่…
ขณะที่ไปดูงบการเงินกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง ก็ไม่เลว…ช่วง 3 ปีที่ผ่านมากำไรโตต่อเนื่อง จากปี 2560 กำไร 68 ล้านบาท จากรายได้รวม 2,138 ล้านบาท ปี 2561 กำไรกระโดดไป 273 ล้านบาท จากรายได้รวม 1,246 ล้านบาท และปี 2562 กำไรแตะ 316 ล้านบาท จากรายได้รวม 842 ล้านบาท
ถ้าดูกำไรสุทธิที่ระดับ 316 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิของ KTC ที่ระดับ 5,000 ล้านบาท เท่ากับ 6% ก็ไม่น้อยนะ…
นั่นแปลว่า ซื้อปุ๊บบุ๊กได้ทันที…ซึ่งถ้าคิดแบบคอนเซอร์เวทีฟ ก็ครึ่งหนึ่งของเงินที่เสียไป (594 ล้านบาท) แต่ปีแรกก็รับรู้กำไรเข้ามาแล้วครึ่งหนึ่ง ไม่นับรวมมูลค่าเพิ่มของลูกค้าแต่ละรายในอนาคตอีกนะ
ดีลนี้จึงเป็นการตอบโจทย์ขยายไลน์ธุรกิจ และปิดทางตันที่เคยเฟื่องฟู (ธุรกิจบัตรเครดิต) มาสู่ทางโต (ธุรกิจลีสซิ่ง) นั่นเอง…
ใช่ปะคะ “เฮียระเฑียร ศรีมงคล” ขาาา…
…อิ อิ อิ…