ซุปเปอร์(บอร์ด)เพ้อเจ้อขี่พายุ ทะลุฟ้า

ร่างรัฐธรรมนูญที่ล้มเหลว โดนสภาปฏิรูปฯพวกเดียวกันเองคว่ำ ถ้าเป็นบริษัท ก็ต้องถือว่าขาดทุนยับเยิน แม้ปิดกิจการแล้วก็ยังต้องตามชดใช้หนี้กันหูตูบอยู่อีก


ร่างรัฐธรรมนูญที่ล้มเหลว โดนสภาปฏิรูปฯพวกเดียวกันเองคว่ำ ถ้าเป็นบริษัท ก็ต้องถือว่าขาดทุนยับเยิน แม้ปิดกิจการแล้วก็ยังต้องตามชดใช้หนี้กันหูตูบอยู่อีก

สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่สิ้นสุดอายุขัยตนเองลงไปแล้ว ก็อีกเช่นกัน บอกว่าจะปฏิรูปประเทศชาติทั้งหมด 11 ด้าน เรียกว่าครอบคลุมรากเหง้าปัญหาทั้งปวงในประเทศนี้ทีเดียว

แต่ผ่านไปแล้วกว่า 1 ปี หาได้มีผลงานใดปรากฏไม่

เรื่องที่บอกว่า จะต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง มันก็แค่วาทกรรมเสกสรรปั้นแต่งกันขึ้นมาเองเท่านั้น เวลาผ่านมากว่า 1 ปี อย่าว่าแต่จะได้เห็นการลงมือปฏิรูปเลย

แม้แต่พิมพ์เขียวปฏิรูป ก็ยังไม่เห็นจะมีใครได้ยลโฉม

“การปฏิรูป” มันจึงเป็นแค่วาทกรรม เพื่อการโค่นล้มรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย และเพื่อนำเอาระบอบอำนาจนิยมมาแทนที่เท่านั้น

เร็วๆ นี้ คงจะมีการปฏิรูปครั้งใหญ่กันเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยการนำเอา 12 รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ มาจัดตั้งเป็น “บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ” ขึ้นมา

มีคณะกรรมการบรรษัท ที่เรียกว่า “ซุปเปอร์บอร์ด” และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่เป็นเอกเทศโดยเฉพาะ ตามผลของกฎหมายที่กำลังอยู่ในระหว่างการร่างจัดทำขึ้นมา

มันก็เป็นแนวคิดสุดโต่งเรื่องหนึ่ง ที่ต้องการจะขจัดนักการเมือง ไม่ให้เข้ามา “ล้วงลูก” หรือเข้ามาหาผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจ

แต่ผมก็อยากจะให้ดู ผลข้างเคียงจากแนวคิดสุดโต่งเช่นนี้เหมือนกันว่า จะก่อให้เกิดผลเสียหาย หรือทำให้รัฐวิสาหกิจที่ผ่านการแปรรูปจนมีความทันสมัยขึ้นมาบ้างแล้ว ต้องกลับไปสู่การถอยหลังเข้าคลองอย่างไรบ้าง

รัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง ที่จะนำมาจัดตั้งเป็น“บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ” ในชั้นต้นนี้ ล้วนเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯล้วน

อันประกอบไปด้วย ปตท., ปตท.สผ., บางจากปิโตรเลียม, ไออาร์พีซี, ไทยออยล์, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, การบินไทย, อสมท, บริษัทท่าอากาศยานไทย, ธนาคารกรุงไทย, บริษัทผลิตไฟฟ้า และบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี

ทำไมเอาเฉพาะบริษัทรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เอาบริษัทรัฐวิสาหกิจนอกตลาด ก็ไม่รู้สินะ

ในชั้นต้นเลย พิจารณาจากบริษัทรัฐวิสาหกิจที่จะเข้าสังกัดซุปเปอร์บอร์ด ก็จะเห็นได้ว่า กิจการของแต่ละรัฐวิสาหกิจมีความหลากหลายมาก และต้องใช้ความรู้ความชำนาญเป็นการเฉพาะ

ปตท.นี่ก็เป็นบริษัทแม่ของบริษัทลูกทั้งหลายล่ะนะ ปตท.สผ.นี่ก็ต้องถนัดในการสำรวจและขุดเจาะ บางจาก-ไทยออยล์เป็นเรื่องของโรงกลั่นน้ำมัน

ไออาร์พีซี เป็นเรื่องของโรงกลั่นและปิโตรเคมีสายอะไรเมติกส์ พีทีที โกลบอลฯนี่ก็ยิ่งซับซ้อนไปใหญ่คือ มีทั้งโรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์และสายโอลีฟินส์

นอกจากนั้นก็มีทั้งอาชีพผลิตไฟฟ้า สายการบิน การให้บริการงานท่าอากาศยาน สื่อสารมวลชน และธนาคาร

โอ้! พระเจ้าจอร์จ จะมีบรรษัทอะไร ทำกิจการได้หลากหลายและซับซ้อนได้ขนาดนี้

มันจะต้องใช้ความชำนาญของพนักงาน ความเชี่ยวชาญของผู้บริหารให้พรักพร้อมและครอบคุลมได้อย่างไรในองค์กรมหึมาแห่งนี้ และคนที่จะมาเป็นกัปตันคุมทีม จะสรรหากันมาอย่างไร ให้ได้คุณสมบัติวิเศษ รอบรู้ไปกว่า 10 กิจการเช่นนี้

แว่วว่า อาจะมีการล็อกตัวดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล มานั่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ภายหลังพ้นหน้าที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติ

ส่วนข้อน่าพิจารณาอีกประการหนึ่งก็คือ บริษัทรัฐวิสาหกิจเหล่านี้  ได้มีการแปรรูปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯไปแล้วนะ

การเป็นรัฐวิสาหกิจแปรรูปและมีฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียน ก็หมายความว่าอยู่ภายใต้กฎกติกาภายใต้ระบบธรรมาภิบาล ที่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลและฐานะบริษัทอย่างโปร่งใสและต่อเนื่อง

การปรับปรุงประสิทธิภาพ ก็คงมีการดำเนินการไปแล้วอย่างแน่นอน ซึ่งผิดกับรัฐวิสาหกิจนอกตลาดที่ยังคงความล้าหลัง

คำถามก็คือ นี่เราจะเอารัฐวิสาหกิจที่ผ่านการแปรรูปแล้ว กลับไปสู่การถอยหลังเข้าคลองอีกหรือเนี่ย

นอกจากนั้น ก็ยังมีปัญหาการขัดกันของข้อกฎหมายอีกหลายฉบับเลยทีเดียว ทั้งพ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

หากจะดึงดัน “บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ” กันจริงๆ คงต้องมีการแก้ไขกฎหมายกันเป็นหลายสิบมาตราแน่

คนที่รู้จักรัฐวิสาหกิจดี รวมทั้งเป็นผู้มีบทบาทการให้บริการเป็นที่ปรึกษารัฐวิสาหกิจพลังงานเป็นอย่างดีและนมนานอย่างคุณบรรยง พงษ์พานิช น่าจะตระหนักถึงผลเสียในการรวมศูนย์รัฐวิสาหกิจมากกว่าใคร

แต่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ทำไมถึงกระเหี้ยนกระหือรือในบทบาทซุปเปอร์บอร์ดนัก

 

 

Back to top button