3 หุ้นเด่น ‘กลุ่มยานยนต์’

แม้ยอดผลิตรถยนต์จำหน่ายในประเทศไทยจะลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยอดการส่งออกยังปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน


เส้นทางนักลงทุน

สืบเนื่องจากทางนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผยถึงจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศในเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา

สำหรับการผลิตจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม 2564 มีทั้งสิ้น 148,118 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 5.21% แต่อย่างไรก็ดีมีการเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 2563 ร้อยละ 3.53%

ทั้งนี้ การผลิตลดลงเพราะผลิตขายในประเทศลดลงร้อยละ 12.38 แต่ผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.77 จากประเทศคู่ค้าเริ่มมียอดขายรถยนต์ดีขึ้น แบ่งเป็นรถยนต์นั่งเดือนมกราคม 2564 ผลิตได้ 53,609 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 9.81, รถยนต์โดยสารขนาดต่ำกว่า 10 ตัน และมากกว่า 10 ตันขึ้นไป ในเดือนมกราคม 2564 ผลิตได้ 23 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 15

รถยนต์บรรทุก เดือนมกราคม 2564 ผลิตได้ทั้งหมด 94,486 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 2.4, รถกระบะขนาด 1 ตัน เดือนมกราคม 2564 ผลิตได้ทั้งหมด 92,339 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 2.38 โดยแบ่งเป็นรถกระบะบรรทุก 23,352 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 2.94 รถกระบะดับเบิลแค็บ 56,908 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 2.78, รถกระบะ PPV 12,079 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 0.72 รถบรรทุกขนาดต่ำกว่า 5 ตัน-มากกว่า 10 ตัน เดือนมกราคม 2564 ผลิตได้ 2,147 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 3.24

สวนทางกับการผลิตเพื่อส่งออก เดือนมกราคม 2564 ผลิตได้ 85,797 คัน เท่ากับร้อยละ 57.92 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 0.77 รถยนต์นั่ง เดือนมกราคม 2564 ผลิตเพื่อการส่งออก 29,977 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 6.65 รถกระบะขนาด 1 ตัน เดือนมกราคม 2564 มียอดการผลิตเพื่อการส่งออก 55,820 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 2.13 โดยแบ่งเป็น รถกระบะบรรทุก 7,980 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 27.72 รถกระบะดับเบิลแค็บ 42,482 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 2.55 รถกระบะ PPV 5,358 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2562 ร้อยละ 42.77

สำหรับในเดือน ม.ค. มียอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 74,132 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.53% โดยการส่งออกเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากยอดการส่งออกไปยัง 3 ตลาด คือ ตลาดเอเชีย, ตลาดตะวันออกกลาง และตลาดแอฟริกา

ดังนั้น แม้ว่ายอดผลิตรถยนต์จำหน่ายในประเทศไทยจะลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ตามยอดการส่งออกรถยนต์ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ จากที่ยอดส่งออกรถยนต์ยังปรับตัวขึ้น อีกทั้งมีการประเมินแนวโน้มปี 2564 คาดตลาดรถยนต์ในประเทศจะมียอดขายรวม 880,000 คัน เติบโต 11% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ค่ายรถยนต์โตโยต้าประเมินตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้ 850,000-900,000 คัน เพิ่มขึ้น 7-14% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ผลตามมาคาดว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องอย่างบริษัทจดทะเบียน (บจ.) คาดจะรับอานิสงส์และช่วยหนุนให้ผลประกอบการของบริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH, บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT, บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY มีกำไรที่ฟื้นตัวเด่น

บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH แนวโน้มปี 2564 อุตสาหกรรมรถยนต์จะฟื้นตัวดีขึ้น 1.5-1.6 ล้านคัน เติบโต 10-15% ซึ่ง AH จะฟื้นตัวในทิศทางเดียวกันกับอุตสาหกรรมรถยนต์ และคงเป้าหมายจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้น 10% ทั้งนี้ในปี 2565 AH ได้รับคำสั่งซื้อใหม่ชิ้นส่วนรถกระบะ Global Model มูลค่า 1.5 พันล้านบาทต่อปี หรือจะช่วยเพิ่มยอดขายประมาณ 8%

ทางด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 22 บาท

บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT แนวโน้มปี 2564 คาดผลประกอบการอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เริ่มคลี่คลาย ลูกค้าค่ายรถยนต์กลับมาผลิตได้เหมือนเดิม โดยคาดการณ์ตัวเลขการผลิตรถยนต์ในปี 2564 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อยู่ที่ 1.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 4.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี คาดว่ายอดขายของบริษัทจะสามารถเติบโตได้ดีกว่าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 12% จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 6,600 ล้านบาท มาจากการรับรู้รายได้คำสั่งซื้อใหม่เต็มปีประมาณ 250-300 ล้านบาท และยอดขายชิ้นส่วนเครื่องจักรกลการเกษตรที่จะเพิ่มขึ้น 11% จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 8.3 หมื่นคัน ในกรณีที่ไม่เกิดปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับผลของการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของสายการผลิตในปีก่อน จะช่วยหนุนให้อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นอยู่ที่ 18.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 อยู่ที่ 15.2% ด้าน SG&A/Sale คาดยังคุมได้ที่ราว 10% แม้จะมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งชิ้นงานไปขายต่างประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิในปี 2564-2565 อยู่ที่ 687 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 85% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ 757 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ส่วนแนวโน้มระยะสั้นไตรมาส 1/2564 คาดดีต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนและจากงวดเดียวกันของปีก่อน

ทางด้าน บล.คิงส์ฟอร์ด ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 20.40 บาท

บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY แนวโน้มเป็นบวกเพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มฟื้นตัวรวมถึงการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ที่แทบจะไม่ส่งผลกระทบกับธุรกิจของ STANLY ที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ส่องสว่างยานยนต์จากที่ยานยนต์ทุกประเภทจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ดังกล่าว นอกจากนี้บริษัทยังมีจุดแข็งเรื่องฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง

ทางด้าน บล.ฟิลลิป ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 198 บาท

อย่างไรก็ดี เมื่อทิศทางอุตสาหกรรมรถยนต์มีการฟื้นตัวดีขึ้น มักจะเห็นหุ้น AH, SAT, STANLY เป็นดาวเด่นของกลุ่ม!!!

Back to top button