ลด ‘ขยะอาหาร’ ด้วยเทคโนโลยี
ในขณะที่ประชากรในบางประเทศกินทิ้งกินขว้างเพราะมีอาหารให้บริโภคเหลือเฟือ แต่อีกหลายส่วนของโลกยังมีประชากรขาดแคลนอาหารเป็นจำนวนมาก วิกฤติโควิดได้ทำให้ปัญหานี้ฉายชัดยิ่งขึ้น จึงมีความพยายามที่จะนำเทคโนโลยี มาช่วยลด “ขยะอาหาร”
กระแสโลก : ฐปนี แก้วแดง
ในขณะที่ประชากรในบางประเทศกินทิ้งกินขว้างเพราะมีอาหารให้บริโภคเหลือเฟือ แต่อีกหลายส่วนของโลกยังมีประชากรขาดแคลนอาหารเป็นจำนวนมาก วิกฤติโควิดได้ทำให้ปัญหานี้ฉายชัดยิ่งขึ้น จึงมีความพยายามที่จะนำเทคโนโลยี มาช่วยลด “ขยะอาหาร”
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) 5 ปีที่ผ่านมาประชากรที่ขาดแคลนอาหารเพิ่มขึ้นเกือบ 60 ล้านคน และองค์การอาหารโลก (FAO) ชี้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
จากข้อมูลของกรีนพีซ คำว่า “ขยะอาหาร” หมายถึง เศษอาหารที่เหลือจากมื้ออาหารของเรา รวมถึงอาหารที่หลุดออกจากห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ผลผลิตที่หลุดจากเกษตรกรรม จากโรงงาน ระหว่างขนส่ง ไปจนถึงในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ การสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ไม่มีตัวเลขที่แน่นอน แต่มีรายงานว่า กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
มีความพยายามล่าสุดจากบริษัทญี่ปุ่นที่จะแก้ปัญหานี้โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วยเพื่อลดขยะอาหารและต้นทุน
ข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่นชี้ว่า การกำจัดขยะอาหารมากกว่า 6 ล้านตันของญี่ปุ่น ใช้เงินประมาณ 2 ล้านล้านเยน หรือ 19,000 ล้านดอลลาร์ ต่อปี และเนื่องจากญี่ปุ่นมีปริมาณขยะอาหารต่อหัวสูงสุดในเอเชีย รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายใหม่เพื่อลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2573 จึงทำให้บริษัทญี่ปุ่นต้องหาทางแก้ไขปัญหานี้ไปด้วย
เชนคอนวีเนียนสโตร์ อย่าง ลอว์สัน อิงซ์ ได้เริ่มใช้เอไอจากบริษัท ดาต้าโรบอตในสหรัฐฯ เพื่อประเมินว่าอาหารที่วางจำหน่ายบนชั้น อาจจะขายไม่ออกหรือไม่เพียงพอต่อความต้องการเป็นจำนวนเท่าไหร่ ลอว์สันตั้งเป้าที่จะลดการสต๊อกสินค้าเกินให้ได้ประมาณ 30% และต้องการลดขยะอาหารตามสาขาทั้งหมดให้เหลือครึ่งหนึ่งในปี 2573 โดยเทียบจาก 2561 ในขณะนี้การกำจัดขยะอาหารเป็นต้นทุนที่สูงเป็นอันดับสองของลอว์สัน รองจากต้นทุนแรงงาน
ในขณะเดียวกัน บริษัท ซันตอรี่ เบฟเวอเรจ แอนด์ ฟู้ดก็กำลังทดลองใช้ผลิตภัณฑ์เอไอของบริษัท ฟูจิตสึเพื่อพยายามประเมินว่า สินค้าอย่างชาอู่หลงและน้ำแร่ได้รับความเสียหายจากการขนส่งอย่างไร ด้วยเทคโนโลยีเอไอใหม่นี้ ซันตอรี่หวังว่าจะวัดได้ว่าเมื่อไหร่ที่กล่องสินค้าได้รับความเสียหาย หรือเมื่อไหร่ที่สินค้าเสียหายเองและจำเป็นต้องเรียกคืน
ซันตอรี่ตั้งเป้าที่จะลดการคืนสินค้าให้ได้ประมาณ 30-50% และลดต้นทุนขยะอาหารและพัฒนาระบบมาตรฐานโดยทั่วไปที่สามารถแบ่งปันกับผู้ผลิตอาหารและบริษัทชิปปิ้งรายอื่น ๆ ได้
บรรดานักช้อปของญี่ปุ่นก็กำลังให้ความสนใจกับปัญหานี้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบรายได้
บริษัทอี-คอมเมิร์ซ “คูระดาชิ” ซึ่งเป็นบริษัทที่จำหน่ายอาหารที่ขายไม่ออกในราคาถูก เปิดเผยว่า ในขณะนี้ธุรกิจกำลังเฟื่องฟูส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีดีมานด์อาหารที่ขายไม่ออกที่มีราคาถูก มากขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคเริ่มระวังเรื่องค่าใช้จ่ายมากขึ้น หลังการระบาดของโควิด-19
ยอดขายของบริษัทโตจากหนึ่งปีก่อน 2.5 เท่า ขณะที่ขยะอาหารได้เพิ่มเป็นสองเท่านับตั้งแต่ไวรัสโคโรนาตัดซัพพลายเชนอาหาร ขณะนี้บริษัทมีเครือข่ายราว 800 บริษัท เช่น บริษัท เมจิ โฮลดิ้งส์ บริษัท คาโกเมะ โค และลอตเต้ ฟู้ดส์ โค บริษัทเหล่านี้จำหน่ายสินค้าทั้งหมด 50,000 รายการ เช่น แกงสำเร็จรูป สมูทตี้ สาหร่ายโนริคุณภาพสูง นอกจากนี้จำนวนสมาชิกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 80,000 คนในปี 2562 เป็น 180,000 คนในปี 2564
ยังมีบริษัทอื่น ๆ อีกที่ได้จับมือกับบริษัทอาหารเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดขยะอาหารตามส่วนหนึ่งของความพยายามทั่วโลกที่จะบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)
ตัวอย่างเช่น บริษัทเอ็นอีซี คอร์ป กำลังใช้เอไอที่ไม่เพียงแต่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเช่นสภาวะอากาศ ปฏิทิน และเทรนด์ของลูกค้า เพื่อประเมินดีมานด์เท่านั้น แต่ยังสามารถให้เหตุผลเบื้องหลังการวิเคราะห์ได้ด้วย
เอ็นอีซีได้ติดตั้งเทคโนโลยีนี้ให้กับบริษัทค้าปลีกและผู้ผลิตอาหารรายใหญ่เพื่อช่วยให้บริษัทเหล่านี้ลดต้นทุนได้ประมาณ 15-75% และตั้งความหวังไว้ว่าจะแชร์และประมวลผลข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มร่วมในหมู่ผู้ผลิต บริษัทค้าปลีก และบริษัทโลจิสติกส์เพื่อลดความไม่พอดีในซัพพลายเชนได้
การลดขยะอาหารไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของเอ็นอีซี แต่บริษัทหวังว่า มันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอื่น ๆ ของธุรกิจได้ เช่น ลดต้นทุน แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปรับปรุงสินค้าคงคลัง คำสั่งซื้อและโลจิสติกส์ได้
อาหารจากการผลิตที่ถูกทิ้งทั่วโลกละปีมากกว่า 30% แสดงให้เห็นว่า มีอาหารเพียงพอต่อคนทั้งโลก แต่อาหารเหล่านี้ไม่สามารถแจกจ่ายให้คนทั้งโลกที่ต้องการได้
ไม่เพียงแต่บริษัทจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ คนทั่วไป อย่างเรา ๆ ก็สามารถช่วยลดปริมาณ “ขยะอาหาร” ได้ เพียงแค่ “คิดก่อนซื้อ” ให้มาก ๆ และควรเลิกพฤติกรรม “ตุนไว้ก่อน” เสียแต่บัดนี้