เงินสดพัง & เครดิตพัง

ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกกำลังเผชิญบาดแผลทางเศรษฐกิจอย่างหนัก จนทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ทั้งอุปสงค์ (กำลังซื้อหายไปอย่างฉับพลัน) และอุปทาน (การผลิตหยุดชะงักฉับพลัน) อันเกิดจากมาตรการควบคุมโควิด-19 นั่นคือการปิดประเทศ (Lock Down) ถือเป็นการยกระดับมาตรการสกัดกั้นการระบาดของโควิด-19 แต่มาตรการสร้างความปลอดภัย ต้องแลกมาด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกกำลังเผชิญบาดแผลทางเศรษฐกิจอย่างหนัก จนทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ทั้งอุปสงค์ (กำลังซื้อหายไปอย่างฉับพลัน) และอุปทาน (การผลิตหยุดชะงักฉับพลัน) อันเกิดจากมาตรการควบคุมโควิด-19 นั่นคือการปิดประเทศ (Lock Down) ถือเป็นการยกระดับมาตรการสกัดกั้นการระบาดของโควิด-19 แต่มาตรการสร้างความปลอดภัย ต้องแลกมาด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ผลที่ตามมาคือการถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและรวดเร็ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงทุนทันที ทำให้กระแสเงินสดที่เสมือนดั่ง “กระดูกสันหลังระบบธุรกิจ” เกิดการตึงตัว ด้วยมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นมาตรการรุนแรงและเข้มงวดมาก

ทำให้คนต้องอยู่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่ กำลังซื้อหดหาย กำลังผลิตหดตัว ธุรกิจต่าง ๆ ขาดแคลนกระแสเงินสดอย่างหนัก..!!

สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “เงินสดพัง” (Cash Crunch) หรือเงินสดตึงตัวด้วยวิกฤตครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่สุดของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก จากอดีตเราได้รู้จักและคุ้นชินคำว่า “เครดิตพัง” (Credit Crunch) กันมาพอสมควรแล้ว

ภาวะ “เงินสดพัง” (Cash Crunch) นั่นคือ ภาคธุรกิจประชาชนจะประสบปัญหาเงินสดตึงตัว ภายใต้สถานการณ์ที่มีปริมาณเงินหมุนเวียนในท้องตลาดน้อยมาก ดั่งปรากฏให้เห็นในระบบเศรษฐกิจไทยอยู่ขณะนี้ ที่สำคัญไม่สามารถพยากรณ์หรือประเมินได้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกับสู่ภาวะปกติได้เมื่อใด..!!

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจเรื่องผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจเดือนก.พ. 64 พบว่า ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน หลังมีการผ่อนคลายมาตรการและปรับโซนพื้นที่ควบคุมใหม่ แต่ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ โดยภาคการผลิตกำลังซื้ออยู่ที่ระดับ 51.6% หรือติดลบ 9% เทียบจากเดือนก่อน เช่นเดียวกับนอกภาคการผลิตอยู่ที่ 56.9% หรือติดลบ 7% เทียบจากเดือนก่อน

จากตัวเลขกำลังซื้อที่หดตัวดังกล่าว ทำให้เกิด “เครดิตพัง” (Credit Crunch) นั่นคือการขาดแคลนเงินให้กู้ธนาคารและรูปแบบอื่น ๆ ของเงินกู้ ภาวะที่สถาบันการเงินปล่อยกู้สินเชื่อน้อยลงมากอย่างรวดเร็วหรือกู้จากธนาคารยากขึ้นต้องเสียค่าดอกเบี้ยมากขึ้น

จนกลายเป็น “วงจรย้อนกลับเชิงลบ” (Negative feedback loop) จากภาคธุรกิจและประชาชน วนกลับไปยังสถาบันการเงิน โดยแต่ละรอบที่ผลกระทบสะท้อนกลับไปมา ทำให้เศรษฐกิจทรุดหนักมากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมา..รัฐบาลมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ภาคประชาชนฐานรากเป็นหลัก แต่ภาคธุรกิจกลับไม่ถูกให้ความสำคัญมากนัก แม้รัฐมีนโยบายเกี่ยวกับ “สินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ” (ซอฟต์โลน) แต่ในทางปฏิบัติการณ์กลับมีข้อจำกัดการเข้าถึงซอฟต์โลน ส่งผลให้การเข้าถึงซอฟต์โลนของภาคเอกชนมีจำนวนน้อยมาก

ขณะที่สถาบันการเงินมีการลดวงเงินสินเชื่อและเรียกสินเชื่อคืน เพื่อมิให้หนี้เสียเพิ่มขึ้น และหลีกเลี่ยงการเพิ่มทุน จนซ้ำเติมให้เกิดภาวะ Credit Crunch มากขึ้น และหากวิกฤตโควิด-19 ไม่คลี่คลาย..นโยบายเศรษฐกิจของรัฐไม่ชัดเจนน่าเป็นห่วงภาวะ “เงินสดพัง” จะนำไปสู่ “เครดิตพัง” จนสุดท้าย “เศรษฐกิจพัง” ก็เป็นได้..!!

Back to top button