พาราสาวะถี

ย้ำกันอย่างนี้ทำให้คนในพรรคสืบทอดอำนาจคงกระดี๊กระด๊าน่าดู ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจให้สัมภาษณ์ล่าสุดกล่าวเสียงดังหนักแน่นตอบคำถามของนักข่าวต่อการปรับครม.ที่จะเกิดขึ้นว่า "ไม่มีคนนอก จบ" พร้อมกับยืนยันว่าการปรับครั้งนี้เป็นการปรับไม่มากนัก ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็คงขยับกันแค่ 3 เก้าอี้ที่หลุดออกไป โดยอาจมีการสลับสับเปลี่ยนกันในบางตำแหน่งเพื่อความเหมาะสม ทั้งภายในพรรคแกนนำรัฐบาล และระหว่างสองพรรคร่วมอย่างประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย


อรชุน

ย้ำกันอย่างนี้ทำให้คนในพรรคสืบทอดอำนาจคงกระดี๊กระด๊าน่าดู ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจให้สัมภาษณ์ล่าสุดกล่าวเสียงดังหนักแน่นตอบคำถามของนักข่าวต่อการปรับครม.ที่จะเกิดขึ้นว่า “ไม่มีคนนอก จบ” พร้อมกับยืนยันว่าการปรับครั้งนี้เป็นการปรับไม่มากนัก ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็คงขยับกันแค่ 3 เก้าอี้ที่หลุดออกไป โดยอาจมีการสลับสับเปลี่ยนกันในบางตำแหน่งเพื่อความเหมาะสม ทั้งภายในพรรคแกนนำรัฐบาล และระหว่างสองพรรคร่วมอย่างประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย

กรณีของประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยนั้นเป็นที่รู้กันว่า ในส่วนของสองกระทรวงที่อยู่ตรงข้ามกันคือ คมนาคมกับเกษตรและสหกรณ์ อาจจะมีการวางคนไว้แบบผิดฝาผิดตัว จึงน่าจะมีการขยับแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้เกิดความสบายใจ จะได้ไม่ต้องไปเหยียบตาปลากันเอง สิ่งสำคัญต่างฝ่ายต่างก็รู้ดีว่า กระทรวงที่คนของตัวเองนั่งว่าการอยู่นั้น มีเป้าหมายเพื่อสร้างคะแนนนิยมตุนไว้สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ดังนั้น การที่จะมีคนของพรรคเข้าไปเติมในส่วนรัฐมนตรีช่วยจึงน่าจะเหมาะสมและสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย

ฟากพรรคสืบทอดเมื่อไฟเขียวให้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตัดสินใจได้แต่เพียงผู้เดียวแล้ว ก็คงจะขยับปรับตำแหน่งให้เข้าที่เข้าทางสอดรับกับสถานการณ์การเมืองที่เตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป เมื่อไม่มีสองรัฐมนตรีที่ถือว่าสร้างแรงกระเพื่อมภายในพรรคแล้ว การเกลี่ยตำแหน่งกันใหม่ จึงเท่ากับเป็นการผ่อนคลายบรรยากาศและลดความบาดหมางหรือไม่ไว้วางใจกันในกลุ่มก๊วนต่าง ๆ ภายในพรรคได้ระดับหนึ่ง

คนที่ยอมอดทนทั้งที่ควรจะได้ขึ้นชั้นนั่งว่าการตั้งแต่คราวปรับครม.หนก่อนอย่างเลขาธิการพรรค อนุชา นาคาศัย หนนี้น่าจะได้สมหวังเสียทีโดยมีแนวโน้มจะไปเป็นคุณครูนั่งว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีถ้าไม่มีอะไรพลิกผัน ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ คนที่เปิดหน้าท้าชนฝ่ายตรงข้ามมาโดยตลอดก็น่าจะได้รับการปูนบำเหน็จ ซึ่งถือว่าเป็นรัฐมนตรีที่เข้าได้กับทุกพวกทุกฝ่ายภายในพรรค

ส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอีเอสนั้น ตามข่าวยืนยันจากพรรคสืบทอดอำนาจมีแรงผลักดันจากอดีตบิ๊กทหารที่พี่ใหญ่และน้องเล็กเกรงใจขอให้ อิทธิพล คุณปลื้ม โยกจากว่าการวัฒนธรรมมากุมบังเหียนกระทรวงแห่งนี้แทน ซึ่งก็จะเข้าทางบิ๊กป้อมที่กำลังเล็งจะหนุนให้ ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้วหลานสาว เสนาะ เทียนทอง ที่ยอมแปรพักตร์จากเพื่อไทยมาเข้ามุ้ง และไม่เคยเรียกร้องอะไรให้มานั่งว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และดูเหมือนจะลงล็อกเหมาะเจาะทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การที่มีส.ส.จากภาคตะวันออกมานั่งว่าการกันถึงสองคน ผลกระทบก็จะไปเกิดกับ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่พบว่าโหวงเฮ้งช่วงนี้ไม่สู้ดีนัก หากคนในกลุ่มสามมิตรอย่างอนุชาได้นั่งว่าการตามโผจริง ก็มีความเป็นไปได้ที่เสี่ยเฮ้งจะต้องยอมเสียสละตัวเอง แต่ให้จับตาดูปฏิกิริยาจากกลุ่มก้อนของผู้นำองค์กรผู้ใช้แรงงานที่ชื่นชอบรัฐมนตรีรายนี้ เนื่องจากใจถึงพึ่งได้ แต่ถ้าคนที่จะมาใหม่เป็น ธรรมนัส พรหมเผ่า แรงต่อต้านอาจจะเบาบาง เพราะพูดถึงใจแล้วก็ไม่ต่างจากคนเดิมแต่อย่างใด

ถ้ายึดเอาคำพูดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ว่าปรับไม่มากนัก ก็น่าจะจบกันแต่เพียงเท่านี้ ส่วนที่มีความพยายามจะต่อสายตรงถึงท่านผู้นำเพื่อวิ่งเต้นผลักดันทั้งตัวเองและเด็กในคาถาให้ขึ้นลิฟต์ไปนั่งว่าการหรือได้เป็นรัฐมนตรีช่วยนั้น คงจะเป็นหมัน เพราะในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคสืบทอดอำนาจเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา บิ๊กป้อมพูดชัด อย่าไปวิ่งเต้นกับนายกฯ” เมื่อผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในพรรคชงมาแบบนี้ อยู่ที่ว่าน้องเล็กจะกล้าหักกับพี่ใหญ่หรือไม่

ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากที่มองกันว่ารัฐสภาจะสามารถประชุมเพื่อพิจารณาในวาระ 3 หรือไม่คงไม่ต้องไปลุ้นกันถึงตรงนั้นอีกแล้ว เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาญัตติที่ยื่นร้องว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขให้มีการตั้งส.ส.ร.หรือไม่ไปเมื่อวานนี้ ศาลเห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคมนี้ เวลา 09.30 น.

ถ้าศาลชี้ขาดว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจ การประชุมในวาระ 3 ก็คงต้องมีอันยกเลิกไปโดยปริยาย สิ่งที่พิจารณากันมาทั้งสองวาระก่อนหน้าจะกลายเป็นศูนย์ทันทีเหมือนที่ วิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ไปก่อนหน้า แต่ถ้าเห็นว่าสามารถทำได้ ก็น่าสนใจว่าในการพิจารณาวาระ 3 ส.ว.ลากตั้งจะลงมติคว่ำตามที่ได้มีคำขู่กันไว้หรือไม่ เมื่อเปิดหน้าเล่นกันแบบนี้ ก็เป็นอันรู้กันแล้วว่าเส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะจบลงแบบไหน ถ้าฝ่ายสืบทอดอำนาจกล้าที่จะท้าทายย่อมต้องพร้อมรับกับทุกแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้น

ดีเหมือนกันเราอาจจะได้เห็นการปราบปรามผู้ชุมนุมต่อการอำนาจเผด็จการทั้งที่เป็นเผด็จการเต็มรูปแบบและเผด็จการจำแลงในสองประเทศคู่ขนานกันไป เพราะในเมียนมาขณะนี้ถือว่าสถานการณ์หนักหน่วงรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง เมื่อฝ่ายกองทัพเลือกที่จะใช้กระสุนจริงในการปราบปรามประชาชนและกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน เกิดการตายกันรายวัน ส่วนที่ประเทศไทยภาพของการปะทะและเจ้าหน้าที่ตำรวจสาดกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ก็สะท้อนอะไรได้หลายอย่าง

สิ่งที่น่าจะประจานประเทศไทยในฐานะที่อดีตเคยถูกมองว่าเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตยในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี คงเป็นรายงานของรอยเตอร์ล่าสุด ที่พูดถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือเมียนมา หลังเกิดการรัฐประหาร เพื่อให้ประเทศเมียนมากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นคือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทางการเมือง

ที่น่าเจ็บปวดคือ ในรายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า 4 ประเทศเหล่านี้ ล้วนเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศอาเซียน แล้วเขาจัดประเทศไทยไปไว้ในกลุ่มประเทศแบบไหน เพราะในรายงานชิ้นนี้ระบุด้วยว่า อาเซียนซึ่งประกอบด้วยประเทศที่มีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ประเทศที่เป็นระบอบเผด็จการ ประเทศที่ปกครองแบบคอมมิวนิสต์ และประเทศที่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ได้แสดงจุดยืนร่วมกันในระหว่างการประชุม

Back to top button