หุ้นนิคมฯ ติดหล่มกำไร.!
ดูไม่จืดเลยทีเดียว..!! สำหรับ 2 หุ้นนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดงบปี 2563 ออกมา กำไรทรุดกันถ้วนหน้า โดยบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ทำกำไรหล่นหายไป 23.3% เหลือแค่ 1,103 ล้านบาท จากเดิมเคยทำได้ 1,742 ล้านบาท
สำนักข่าวรัชดา
ดูไม่จืดเลยทีเดียว..!! สำหรับ 2 หุ้นนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดงบปี 2563 ออกมา กำไรทรุดกันถ้วนหน้า โดยบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ทำกำไรหล่นหายไป 23.3% เหลือแค่ 1,103 ล้านบาท จากเดิมเคยทำได้ 1,742 ล้านบาท
ฟากบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA สถานการณ์ไม่ต่างกัน ทำกำไรหายไป 21.8% เหลือ 2,523 ล้านบาท จากเดิมเคยทำได้ 3,229 ล้านบาท…
ต้องยอมรับว่าตัวการหลักที่ทำให้ผลประกอบการของ 2 หุ้นนิคมฯ ออกมาเละเทะ เกิดจากไวรัสมรณะโควิดที่ออกอาละวาดหนัก จนทำให้ปี 2563 เป็นปีแห่งหายนะของเศรษฐกิจโลก หลายประเทศต้องประกาศชัตดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องหยุดชะงัก
แน่นอนว่าเมื่อไม่มีการลงทุน ก็ส่งผลกระทบต่อการขายที่ดินของ AMATA และ WHA ไปโดยปริยาย…
โดยในปี 2563 AMATA มียอดโอนที่ดินจำนวนทั้งสิ้น 333 ไร่ ลดลงจากยอดโอนในปี 2562 ที่มีการโอนที่ดิน 867 ไร่ (แบ่งเป็นในไทย 854 ไร่ และเวียดนาม 13 ไร่) สาเหตุมาจากลูกค้าต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาดำเนินการรับโอนโฉนดที่ดินในช่วงสถานการณ์โควิดได้ ส่งผลให้รายได้จากกการขายอสังหาริมทรัพย์ ลดลง 52% อยู่ที่ 1,540 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภค ลดลง 5.2% อยู่ที่ 1,841 ล้านบาท เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ ส่งผลให้การใช้น้ำของโรงงานต่าง ๆ ในนิคมฯ ลดลง
ด้านส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน ลดลง 23.3% เหลือแค่ 548 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดลงจากธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซและกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้า
นอกจากนี้ รายได้อื่น ๆ ซึ่งแบ่งเป็น รายได้ทางการเงิน ลดลง 43.5% อยู่ที่ 32 ล้านบาท กำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ลดลง 75.6% อยู่ที่ 29 ล้านบาท และรายได้อื่น ลดลง 18% อยู่ที่ 115 ล้านบาท
โอเค…แม้ในปี 2563 AMATA สามารถบริหารจัดการขาของต้นทุนได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการขายและจัดจำหน่ายที่ลดลง 48.8% อยู่ที่ 132 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ลดลง 10.3% อยู่ที่ 713 ล้านบาท รวมทั้งขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง 89.6% อยู่ที่ 15 ล้านบาท
แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะมาชดเชยรายได้ที่หายไปได้…
ฟาก WHA ในปี 2563 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร 9,406 ล้านบาท ลดลง 29.7% แบ่งเป็น รายได้จากธุรกิจที่ดินและการขายอสังหาริมทรัพย์ ลดลง 46.3% อยู่ที่ 1,883 ล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาดำเนินการรับโอนที่ดินได้
รายได้จากการขายและให้บริการระบบสาธารณูปโภค ลดลง 9.5% อยู่ที่ 2,043 ล้านบาท เป็นผลมาจากปริมาณการขายและบริการน้ำในประเทศลดลง 10% เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและโควิด
ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมในธุรกิจไฟฟ้า ลดลง 32% อยู่ที่ 940 ล้านบาท
นี่ดีนะว่ารายได้จากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ยังเติบโตดี โดยแบ่งเป็นรายได้ค่าเช่าและค่าบริการคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า โรงงาน และระบบโครงสร้าง เพิ่มขึ้น 16.7% อยู่ที่ 1,157 ล้านบาท และรายได้การขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนปกติ เพิ่มขึ้น 32.1% อยู่ที่ 2,048 ล้านบาท จากการขายสินทรัพย์เข้ากอง WHART และกอง HREIT
ส่วนขาของต้นทุนก็ลดลง…แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการขาย ลดลง 55.4% เท่ากับ 145 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบริหาร ลดลง 18.2% อยู่ที่ 1,150 ล้านบาท
ไม่งั้นคงดูไม่จืดกว่านี้แน่ ๆ…
เลยเป็นที่มาของ 2 หุ้นนิคมฯ ติดหล่มกำไร..!?
ขณะที่ในปีนี้ ยังต้องติดตามว่าทั้ง 2 นิคมฯ จะขึ้นจากหล่มได้หรือเปล่า..?
ปัจจัยชี้วัดอยู่ที่สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายหรือไม่..?
ยังไงก็เอาใจช่วยนะคะ…
…อิ อิ อิ…