หลุมอากาศ ‘การบินไทย’
แผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ด้วยมูลหนี้ 410,014 ล้านบาท (เงินต้น 404,151 ล้านบาท พ่วงดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 5,989 ล้านบาท) จำนวนเจ้าหนี้ทั้งสิ้น 13,133 ราย ถูกยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์วันสุดท้ายของเส้นตายวันที่ 2 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ถือหุ้นพอได้หายใจกันทั่วท้องมากขึ้น หลังคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ ขอเลื่อนส่งแผนมาถึง 2 ครั้ง
เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง
แผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ด้วยมูลหนี้ 410,014 ล้านบาท (เงินต้น 404,151 ล้านบาท พ่วงดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 5,989 ล้านบาท) จำนวนเจ้าหนี้ทั้งสิ้น 13,133 ราย ถูกยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์วันสุดท้ายของเส้นตายวันที่ 2 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ถือหุ้นพอได้หายใจกันทั่วท้องมากขึ้น หลังคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ ขอเลื่อนส่งแผนมาถึง 2 ครั้ง
นี่ยังไม่ใช่ความสำเร็จ..แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นสู่กระบวนฟื้นฟูกิจการเท่านั้น เพราะตัวบ่งชี้แผนฟื้นฟูฯ การบินไทย อยู่ที่เนื้อหาของแผนฟื้นฟูกิจการว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้หรือไม่..!?
องค์ประกอบสำคัญของแผนฟื้นฟูฯ จะต้องมี 3 โครงสร้างใหญ่ด้วยกัน..เริ่มจากการปรับโครงสร้างหนี้และทุน-การปรับโครงสร้างการเงินและการปรับโครงสร้างธุรกิจ
จากแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้และทุน พบว่า ไม่มีการแฮร์คัทหนี้ (ตัดหนี้) และการลดทุนแต่อย่างใด..นั่นหมายถึง การบินไทยต้องชำระหนี้เต็มทั้งจำนวน 410,014 ล้านบาท เช่นเดียวกันตัวเลขขาดทุนสะสม ยังอยู่เต็มจำนวน 161,898 ล้านบาท
กรณีนี้บรรดาเจ้าหนี้บางส่วนอาจพึงพอใจ เพราะถือว่าได้ชำระหนี้เต็มจำนวนแม้ต้องใช้เวลานานขึ้นก็ตาม แต่ผู้ถือหุ้นการบินไทย อาจไม่พอใจนักเหตุที่ว่าแผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้ ไม่ได้ทำให้หนี้ลดลงเลย ที่สำคัญโอกาสจะได้รับเงินปันผลแทบจะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่รู้อนาคตเลยว่าต้องใช้เวลานานเท่าใด กว่าการบินไทยจะฟื้นกลับมามีกำไรเพื่อล้างขาดทุนสะสมกว่า 161,898 ล้านบาทได้
นั่นจึงทำให้มีผลต่อเนื่องถึง การปรับโครงสร้างทางการเงิน เนื่องจากตามแผนฟื้นฟูการบินไทย มีความต้องการใช้เงินระยะสั้น 50,000 ล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องแบบเร่งด่วน ด้วยการขายหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมหรือผู้ถือหุ้นรายใหม่จำนวน 25,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี (นับจากวันศาลฯ เห็นชอบแผน)
พร้อมด้วยการขอรับสนับสนุนสินเชื่อใหม่ จากสถาบันการเงิน-เจ้าหนี้การบินไทยและอื่น ๆ จำนวน 25,000 ล้านบาท ทั้งรูปแบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (Revolving Loan) หรือตราสารใดที่ผู้บริหารแผนจะมีกำลังความสามารถในการเจรจากับผู้สนับสนุนทางการเงินดังกล่าว
ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ว่า “ใครจะยอมใส่เงินเพิ่มทุนให้การบินไทย” ท่ามกลางสถานการณ์ธุรกิจการบิน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนักทั่วโลก ดั่งที่ได้ประจักษ์กันอยู่ขณะนี้ ที่สำคัญแม้แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง 47.86% อย่างกระทรวงการคลัง ก็อยู่ในสถานการณ์ “กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก” ว่าจะเพิ่มทุนด้วยหรือไม่ ส่วนผู้ถือหุ้นเดิมอื่น ๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงไม่มีใครอยาก “ขนทรายเพื่อถมทะเล” อย่างแน่นอน.!!?
ส่วนแผนขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือออกตราสารการเงินรูปแบบต่าง ๆ ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ประสบความสำเร็จ หรือหากจะสำเร็จต้องแลกกับภาระต้นทุนทางการเงินที่สูงมากเป็นพิเศษ นี่จึงเป็นสิ่งตอกย้ำความอ่อนแอ “ฐานะการเงินการบินไทย” และกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการฟื้นฟูกิจการการบินไทย..!!
นี่ยังไม่รวม “การปรับโครงสร้างธุรกิจ” ที่ผู้บริหารแผนฯ อาจปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ทั้งการแยกหน่วยธุรกิจ การปรับปรุงฝูงบิน และการตัดขายสินทรัพย์หรือเงินลงทุนต่าง ๆ จึงถือเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของการบินไทย ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฉบับดังกล่าว
สถานการณ์เช่นนี้เสมือนดั่งการบินไทยกำลัง “ตกหลุมอากาศ” ที่สำคัญต้องมาลุ้นกันต่อว่า การบินไทยจะสามารถประคองลำตัวและผ่านพ้นไปได้อย่างไร..!?