OR ย่อแล้วค่อยดีด
วันนี้ยังคงเขียนเกี่ยวกับหุ้น OR
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
วันนี้ยังคงเขียนเกี่ยวกับหุ้น OR
ล่าสุด เมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) มีนักลงทุนมาถามว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งขึ้น
แล้วทำไมราคาหุ้น OR ไม่วิ่งตาม
คำตอบคือ หุ้นที่จะวิ่งตามราคาน้ำมันดิบคือ PTTEP มากกว่า และ PTT ในฐานะที่เป็นโฮลดิ้งฯ ถือหุ้นใหญ่ใน PTTEP จะได้รับประโยชน์ไปด้วย
เราจึงเห็นราคาหุ้น PTT และ PTTEP วิ่งบวกแรงเกือบทั้งวัน
ส่วน OR อาจได้รับผลเชิงบวกแค่ “ปลายน้ำ” บ้าง จากค่าการตลาด (ค้าปลีกน้ำมัน) ที่จะขยับขึ้นเล็กน้อย
อีกมุมหนึ่ง ต้องยอมรับว่า ราคาหุ้น OR มี Valuation เริ่มตึงตัวแล้วล่ะ
การขยับขึ้นไปอีกจะค่อนข้างลำบาก
อย่างราคาที่ดีดเมื่อวันศุกร์ที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา
ขึ้นไปสูงสุด 31.25 บาท ถือเป็นแนวต้านสำคัญ แล้วไม่ผ่านจึงเกิดการย่อตัวลง
และส่งผลต่อเนื่องมาถึงวานนี้
ราคาลงมาปิด 29.75 บาท เท่ากับเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มี.ค. 64 พอดี
การที่ราคาหุ้น OR เริ่มนิ่ง ๆ และไม่ได้วิ่งตามดัชนีที่พุ่งขึ้นแรงในช่วงเปิดตลาดภาคเช้า (+18.45 จุด) ทำให้อาจจะเห็นราคาหุ้นค่อย ๆ ขยับลง
แนวรับสำคัญ จะอยู่บริเวณ 28.50 – 28.75 บาท
ประเด็นเรื่อง P/E ของหุ้น OR อยู่ที่ระดับ 39.29 เท่า (ณ ราคาปิดวานนี้)
เป็นอีกประเด็นที่เป็นแรงกดดันต่อราคาหุ้นไม่ให้วิ่งขึ้นไปมาก
คือ หากหุ้น OR มีราคาปิด 30.25 บาท จะมี P/E เท่ากับ 39.95 เท่า แต่หากราคาปิดเกินระดับนี้ จะทำให้ P/E พุ่งเกิน 40 เท่า และเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นหุ้นติดแคชบาลานซ์
แม้ว่าความเสี่ยงต่อการติดแคชฯ อาจจะไม่มาก
เพราะยังต้องดูวอลุ่มเทรด หรือมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันด้วย หรือไม่เกิน 6 – 6.5 พันล้านบาท (ต่อวัน)
แต่หากรักษาระดับ P/E ไม่ให้เกิน 40 เท่า ก็น่าจะปลอดภัยสุดสำหรับการรักษาวอลุ่มเทรดของหุ้นตัวนี้ไว้
ราคาหุ้น OR แม้จะวิ่งขึ้นไม่ได้ ด้วยปัจจัยบวกที่มีอยู่จำกัด
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ราคาจะร่วงลงแบบง่าย ๆ
เพราะ “ความมั่นใจ” ของนักลงทุน (รายย่อย) ที่มีต่อหุ้น OR ยังอยู่ระดับสูงมาก และจะเห็นได้จาก เมื่อราคาย่อตัวลงมาแถว ๆ 28.75 – 29.00 บาท จะเกิดแรงรับซื้อเข้ามาจำนวนมาก
นักลงทุนรายใหญ่ที่โดดเข้ามาเล่นหุ้นตัวนี้ถึงกับเกาหัว เล่นบท “ตบจูบ” ค่อนข้างยาก
ในระยะสั้นราคาหุ้น OR จึงน่าจะแกว่งในกรอบ 28.00 – 31.50 บาท
ต้องหาจังหวะดักเก็บเล่นรอบกันไป
เว้นแต่บางช่วงที่นักลงทุนรายใหญ่จะลากขึ้น หรือทุบลง ราคาอาจจะเหวี่ยง ๆ บ้าง แต่เชื่อว่าต้นทุนเจ้ามือหรือรายใหญ่ที่เข้ามาเล่นสั้น ต้นทุนก็น่าจะอยู่แถว 27.00-28.00 บาทนี่แหล่ะ
ส่วนวันพฤหัสที่ 11 มี.ค. นี้ หมดเวลาของ “กรีนชู”
ไม่มีนัยสำคัญต่อราคาหุ้นแน่นอน มองข้ามไปได้เลย
อาจจะมีคำถามว่า แล้วราคาหุ้น OR จะวิ่งขึ้นไปได้อีกเมื่อไหร่
เรื่องนี้คงต้องดูปัจจัยบวกใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา เช่น การเข้าซื้อกิจการเพิ่ม และมีโอกาสที่จะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำกับ OR
หรือผลประกอบการไตรมาส 1/2564 ออกมาสวยงาม (กด P/E ลงมาได้อีก) ก็น่าจะช่วยให้ราคาหุ้นเปลี่ยนเป็นไซด์เวย์อัพได้อีกบ้าง
หลังหุ้นเข้าเทรดซัก 3 เดือน เริ่มเห็นสัญญาณเทคนิคชัดเจน
น่าจะเริ่มมีนักลงทุนสาย Technical เข้ามาร่วมวงด้วยมากขึ้น
ปกติแล้วหุ้นไอพีโอ เมื่อเข้าซื้อขายวันแรก ราคาหุ้นจะออกมาอยู่ 2-3 ทาง คือ
1. วิ่งไม่แรง หรืออาจจะลงไปต่ำกว่าจอง หลังจากนั้น จะค่อย ๆ วิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ
2. ราคาลงต่ำกว่าจอง แล้วก็ต่ำกว่าจองอยู่อย่างนั้นแหล่ะนานนับเดือน นับปี หรือวนเวียนแถวราคาจอง
และ 3. เปิดกระโดดในช่วง 1-2 วันแรก แล้วค่อย ๆ ย่อตัวลงมาระดับหนึ่ง
หลังจากนั้น ก็จะค่อย ๆ ดีดกลับขึ้นไปตามพื้นฐานหรือปัจจัยบวกที่เข้ามาเรื่อย ๆ กับหุ้นตัวนั้น ๆ (ใช้เวลาหลายเดือนหรืออาจมากกว่า 1 ปี)
และ OR น่าจะอยู่ในทางที่สาม