พาราสาวะถีอรชุน
โผล่แพลมกันมาบ้างแล้วทั้งรายชื่อของประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือกรธ.ที่คาดว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นผู้เลือกและรายชื่อของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหรือสปท.จำนวน 200 คนที่หัวหน้าคสช.จะเป็นผู้เคาะเช่นเดียวกัน ดูกันที่สปท.ก่อนมีโควต้าสำหรับอดีตสมาชิกสปช.ชัดเจนออกมาแล้ว
โผล่แพลมกันมาบ้างแล้วทั้งรายชื่อของประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือกรธ.ที่คาดว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นผู้เลือกและรายชื่อของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหรือสปท.จำนวน 200 คนที่หัวหน้าคสช.จะเป็นผู้เคาะเช่นเดียวกัน ดูกันที่สปท.ก่อนมีโควต้าสำหรับอดีตสมาชิกสปช.ชัดเจนออกมาแล้ว
ฝ่ายคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ด จะได้รับตำแหน่ง 44 ที่นั่ง ส่วนฝ่ายสนับสนุนจะได้ 5-10 เก้าอี้ ถ้าเป็นไปตามสูตรนี้จริงคงเป็นหลักฐานชั้นดีว่าเหตุผลที่สปช.ไม่รับร่างของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณและชาวคณะนั้น เป็นเพราะดวงตาเห็นธรรม มองเห็นหัวประชาชนหรือว่ามีใบสั่งลงมา โดยรายชื่อว่าที่สปท.ที่นอนมาในส่วนของฝ่ายคว่ำคือ พลโทฐิติวัจน์ กำลังเอก ที่กำลังจะครองยศพลเอกในเร็วๆ นี้
ในฐานะที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการรวบรวมเสียงฝ่ายคว่ำร่างรัฐธรรมนูญสายนายทหารและตำรวจ ส่วนตัวบุคคลหากจะให้เดาทั้ง สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เสรี สุวรรณภานนท์ และ วันชัย สอนศิริ ไม่น่าจะหลุดโผ เว้นเสียแต่สองรายแรกจะถูกหวยให้ไปนั่งเป็นกรธ.นั่นก็อีกเรื่อง ขณะที่ฝ่ายรับร่างชื่อของ คำนูณ สิทธิสมาน นอนมาเช่นเดียวกัน
ทันทีที่มีข่าวว่าจะมีกลุ่ม 40 ส.ว.ได้รับการปูนบำเหน็จด้วยถ้าเช่นนั้นรายชื่ออย่าง สมชาย แสวงการ หรือ ประสาน มฤคพิทักษ์ ก็ไม่น่าพลาดเช่นกัน ส่วนอีกกว่าร้อยรายชื่อที่เหลือนั้นบิ๊กตู่สั่งให้ทุกกระทรวงเสนอตัวขึ้นมาแห่งละ 5 คน หลายที่มีการส่งถึงมือหัวหน้าคสช.เรียบร้อยแล้ว หนีไม่พ้นกลุ่มคนดี ฝ่ายที่ไม่เอาระบอบทักษิณและคนที่กำลังจะกลายเป็นอดีตปลัดหลังวันที่ 30 กันยายนนี้
อย่างไรก็ดี มีเสียงท้วงติงดังๆ มาจากเวทีสัมมนาสาธารณะหัวข้อพลเมืองร่วมปฏิรูปประเทศ ที่จัดโดยหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้นหรือกสต.รุ่นที่ 5 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดย จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.ที่ไปร่วมวงเสวนาบอกว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ จะต้องลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่แค่วาทกรรมการพูด หรือแสดงความเห็น
เพราะสุดท้ายอาจกลายเป็นเหมือนคำพูดที่ไม่สามารถทำได้จริง และเห็นว่าการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ ประชาชนต้องพร้อมใจกันปฏิรูปและให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะปฏิรูปในเรื่องใดบ้าง ไม่ใช่รัฐบาลใช้อำนาจในมาตรา 44 สั่งให้ปฏิรูปหรือคิดแทนประชาชน แต่เสียงสะท้อนดังว่าไม่น่าจะเกิดผล อันจะเห็นได้จากการเรียกตัวบุคคลไปปรับทัศนคติในช่วงนี้ที่เริ่มเข้มข้นขึ้น
ถือเป็นสูตรสำเร็จของบิ๊กตู่และคสช. ถ้าการปฏิรูปยึดแนวนี้ คงจะคาดเดาในส่วนเก้าอี้ของประธานกรธ.ได้ไม่ยาก 5 รายชื่อที่ปรากฏ เมื่อ วิษณุ เครืองาม มีชัย ฤชุพันธุ์ ปฏิเสธด้วยเหตุผลพี่น้องต้องไม่แย่งชิงเมืองกัน อมร จันทรสมบูรณ์ บอกปัดด้วยเรื่องสุขภาพ จึงเหลือเพียง ลิขิต ธีรเวคิน นักวิชาการอิสระที่เรียกได้ว่าเดินคนละเส้นทางกับผู้มีอำนาจจากรัฐประหาร
เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเหลือแค่ตัวเลือกเดียวก็คือ พลเอกจิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ โดยที่เจ้าตัวก็ไม่ปฏิเสธหลังถูกนักข่าวสัมภาษณ์ประกาศพร้อมที่จะทำหน้าที่ ซึ่งหากเลือกคนนี้ จะถือว่าบิ๊กตู่นั้นใจเด็ดมากไม่สนใจเสียงวิจารณ์ที่จะตามมา เพราะการที่มีอดีตนายทหารมานั่งเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในห้วงระยะเวลาเช่นนี้ ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อรัฐบาลแน่นอน
การลงทุนมาถึงขนาดนี้หากมัวแต่ฟังเสียงนกเสียงกาหรือจะว่าไปแล้วก็คือ เสียงของคนที่ไม่ใช่พวกเดียวกัน จึงไม่มีความจำเป็น มีกฎหมายพิเศษที่เด็ดขาดอยู่ในมือไยจะต้องแคร์ ด้วยเหตุนี้ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็แสดงความห่วงใยว่า หากการร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นคนกลุ่มเดิม เนื้อหาสาระก็ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก
โดยคาดการณ์ว่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะรับรองผลพวงของคสช.ให้ไม่มีความผิด ประกาศหรือคำสั่งชอบด้วยกฎหมาย ในส่วนของส.ว.ที่มาก็จะเป็นไปในลักษณะเดิมนั่นก็คือลากตั้งมากกว่าเลือกตั้ง อำนาจศาลก็น่าจะเหมือนเดิม และส่วนที่มีปัญหาอย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองหรือคปป. ก็น่าจะทำอีก แต่คงต้องทำให้แนบเนียนขึ้น
สอดรับกับความเห็นของ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่มองว่า หากจะร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ คสช.ไม่ควรจะเป็นผู้กำกับหรือตั้งความคิดที่ว่าบุคคลที่จะเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญต้องมีความคิดที่สอดคล้องกับคสช. ในส่วนนี้มองว่าไม่ควรจะยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไข ซึ่งคงจะเป็นเรื่องยาก อย่างที่รู้กัน ชนชั้นใดร่างกฎหมายย่อมเป็นไปเพื่อชนชั้นนั้น
คงไม่ต้องไปหวังถึงว่า ผู้มีอำนาจจะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่าง เพราะฟังจากน้ำเสียงของหัวหน้าคสช.ที่ตีกันนักการเมืองและนักกฎหมายกลุ่มนิติราษฎร์ด้วยท่วงทำนองกวนๆ ว่าอยากเป็นให้มาสมัคร ซึ่งไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายทั้งหมดให้อำนาจองค์รัฏฐาธิปัตย์ล้วนๆ รวมไปถึงหากไม่มีส่วนร่วมก็ห้ามวิจารณ์
โอกาสที่จะได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างเป็นประชาธิปไตยจึงเป็นไปไม่ได้ การร่างรัฐธรรมนูญด้วยประชาชนที่มองกันว่าจะเป็นทางออกของวิกฤติในครั้งนี้ จึงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ดังนั้น การที่จะมีรัฐธรรมนูญที่ให้ทุกคนอยู่ภายใต้อย่างเสมอภาคกัน การไม่จำกัดการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ จึงน่าจะเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันเท่านั้นในบริบทปัจจุบัน
บทสัมภาษณ์ล่าสุดของ สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีสำนักนายกฯที่บอกว่า ฝ่ายความมั่นคงมีการติดตามดูการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ ทั้งในเว็บไซต์ รวมถึงสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อยากให้ฝ่ายการเมืองช่วยทำตามข้อตกลง ที่เคยตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ พร้อมกับอ้างว่ารัฐบาลพยายามที่จะเดินหน้าตามโรดแมปอยู่
ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจึงเหนียวแน่นอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะหากถามย้อนกลับไปว่าโรดแมปที่กล่าวอ้างมานั้น ถ้าทำตามสัญญาจริงประเทศไทยจะต้องมีการเลือกตั้งในเดือนตุลาคมนี้แล้ว แต่นี่ลากยาวออกไปอีกอย่างน้อย 20 เดือน จนเวลานี้ทำให้หลายคนเริ่มคิดแล้วว่า ท้ายที่สุดผู้มีอำนาจอาจจะนั่งอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปีตามที่มีการส่งสัญญาณกันมาก่อนหน้านี้ คงไม่มีใครว่าถ้าสถานการณ์ต่างๆ มันทำให้อยู่ได้นานเช่นนั้นจริง