พาราสาวะถี
วันนี้ได้รู้กันการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างเติ่งอยู่ในสภาหลังร่างฉบับแก้ไขผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภาวาระ 2 ไปเมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่าน แต่ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่าสามารถแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่ หากไม่มีปัญหาก็สามารถเดินหน้าต่อได้ในวาระ 3 ซึ่งจะมีการประชุมสภาสมัยวิสามัญกันในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มบนความเชื่อของคนส่วนใหญ่ต่อผลของการตีความที่จะออกมา เป็นไปในเชิงลบเสียมากกว่า ประมาณว่าเขียนข่าวรอกันได้เลยผลจะเป็นอย่างไร
อรชุน
วันนี้ได้รู้กันการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างเติ่งอยู่ในสภาหลังร่างฉบับแก้ไขผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภาวาระ 2 ไปเมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่าน แต่ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่าสามารถแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่ หากไม่มีปัญหาก็สามารถเดินหน้าต่อได้ในวาระ 3 ซึ่งจะมีการประชุมสภาสมัยวิสามัญกันในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มบนความเชื่อของคนส่วนใหญ่ต่อผลของการตีความที่จะออกมา เป็นไปในเชิงลบเสียมากกว่า ประมาณว่าเขียนข่าวรอกันได้เลยผลจะเป็นอย่างไร
กระนั้นก็ตาม หากลองมองหาเหตุผลในเชิงวิชาการที่จะมารองรับว่าทำไมผลถึงจะต้องเป็นเช่นนั้น บทความของ ชำนาญ จันทร์เรือง ต่อกระบวนการพิจารณาที่เป็นอยู่ถือว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยชำนาญมองว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา ตนเห็นว่ามีปัญหาแล้วว่าศาลเป็นที่ปรึกษากฎหมายไปแล้วหรือ แต่เอาเมื่อรับคำร้องแล้วออกคำสั่งเรียก มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรธ. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขานุการกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540
สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และ อุดม รัฐอมฤต กรธ.ให้ทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนด สิ่งที่ชำนาญสงสัยและไม่ต่างจากคนจำนวนไม่น้อยก็คือ ในฐานะอะไรหรือ จะว่าเป็นฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ใช่ เพราะคู่กรณีหรือคู่ความก็ไม่ได้ร้องขอ จะว่าเป็นการถามปัญหาข้อกฎหมายก็เป็นสิ่งที่ศาลจะต้องรู้เอง ถ้าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงก็ว่าไปอย่าง ที่สำคัญเวลามีปัญหาการตีความรัฐธรรมนูญไม่มีที่ไหนในโลกที่ให้ผู้ร่างมาตีความหรือมาชี้แจง เพราะพ้นหน้าที่ไปแล้ว
อย่างมากก็แค่หาเจตนารมณ์ในการร่างจากรายงานการประชุมเท่านั้น แล้วหากคนเหล่านั้นไม่ทำคำชี้แจงมาจะว่าอย่างไร แน่นอนว่ามีชัยก็ต้องเห็นว่ารัฐธรรมนูญเพิ่งใช้มาไม่ควรร่างใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะต้องปกป้องงานของตัวเอง จึงเกิดการวางแผนให้มีการส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ และเรียกมีชัยกับพวกมาให้ข้อมูล เพื่อเอาเข้าสำนวน แล้ววินิจฉัยว่าการตั้งส.ส.ร.ร่างใหม่ทั้งฉบับทำไม่ได้ ให้แก้รายมาตราเท่านั้น โดยห้ามแตะหมวด 1 และ 2
บทสรุปจากความเห็นของชำนาญก็คือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ครั้งนี้ทำไม่ได้แน่นอน และโอกาสที่จะแก้ไขแม้จะเป็นรายมาตราก็ยังคงยากเข็ญอยู่ดี เพราะลำพังเสียงของฝ่ายรัฐบาลกับส.ว.อยากจะแก้ก็แก้ไม่ได้ ต้องได้เสียงจากฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบเห็นชอบอีกต่างหาก ความจริงผลที่จะออกมาจะไปบอกว่ารับกันได้หรือไม่ได้ก็คงไม่ใช่ เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าผลจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายการเมืองจะขับเคลื่อนกันอย่างไร
ในที่นี้ไม่ได้หมายความเฉพาะกรณีพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น หากแต่รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลจำเพาะเจาะจงไปที่ประชาธิปัตย์ จะแสดงออกอย่างไรต่อสิ่งที่ตัวเองตั้งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมรัฐบาลแล้วถูกล้มไม่เป็นท่า ฟังถ้อยแถลงของ ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคแล้ว ก็คงพอจะเดากันออกบอกกันแบบง่าย ๆ ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน พรรคเก่าแก่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อต้องน้อมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องตีหน้าเศร้ารับรองไม่มีใครเล่นได้สมบทบาทคนพรรคนี้
แน่นอนว่า คงจะไปหวังท่าทีหรือการสร้างแรงกดดันจากพรรคที่มีความกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะเข้าร่วมรัฐบาลได้ลำบาก เช่นเดียวกันกับท่วงทำนองของพรรคฝ่ายค้าน เมื่อตั้งธงไว้แล้วว่า การแก้ไขรายมาตราน่าจะเป็นไปได้ยาก ทุกอย่างก็เป็นคำตอบอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว จึงต้องเล็งไปยังตัวชี้วัดสำคัญคือ พลังเคลื่อนไหวในภาคประชาชน อันหมายถึงกลุ่มราษฎร ที่ดูตามหน้าเสื่อเวลานี้การเคลื่อนไหวก็ไหลไปตามเกมของฝ่ายกุมอำนาจ
นั่นก็คือ การเพ่งเล็งไปต่อกรกับกระบวนการยุติธรรมและหมายถึงศาลเสียด้วย ซึ่งก็รู้กันอยู่แล้วว่าไม่ว่าจะไปกดดันอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะประสบกับชัยชนะอยู่แล้ว เพราะองค์กรและบุคคลในองค์กรนี้มีเกราะกำบังอันวิเศษ ใครก็ห้ามแตะต้อง มิหนำซ้ำ ผู้ไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดยังจะถูกจัดการโดยข้อกฎหมายอีกต่างหาก เว้นเสียแต่ว่าจะมีคนในองค์กรแห่งนี้ไปร่วมเป่านกหวีด หรือแสดงออกทางการเมืองโดยอ้างว่าเป็นสิทธิ เสรีภาพส่วนตัวไม่เกี่ยวกับองค์กรนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง
จึงเหลือเพียงแค่ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ แต่การเดินเกมแจกสะบัด ซื้อคะแนนนิยมกันทุกเม็ดทุกดอก ก็น่าจะยากที่จะได้เห็นการออกมาเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ประเทศชาติจึงจะเดินกันไปในลักษณะแบบนี้ ปล่อยให้ขบวนการสืบทอดอำนาจอยู่กันไปตามแต่ใจต้องการ อยากทำอะไรแบบไหนก็เอาที่สบายใจ คนทั่วไปก็ได้แต่มองตาปริบ ๆ ไม่ต้องพูดถึงอนาคตเพราะมองไม่เห็น สิ่งเดียวที่จะทำให้ทุกคนลืมตาอ้าปากได้คือ “ฟลุค” เผื่อจะมีอะไรมาทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยดีขึ้นได้แบบไม่คาดฝัน
ทิศทางจากการบริหารประเทศและวิสัยทัศน์ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ มันเป็นไปได้แค่นั้นจริง ๆ ยิ่งเห็นการปรับครม.ที่จะเกิดขึ้น ยิ่งเด่นชัดว่าเป็นการปรับเพื่อแก้ปัญหาการเมืองภายในพรรคสืบทอดอำนาจ และให้พรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์ ได้จัดวางคนให้ถูกที่ถูกทางก็เท่านั้น เป้าหมายจึงไม่ใช่เพื่อความมั่นคง มั่งคั่งของประชาชน หากแต่เป็นการวางรากฐานเพื่อการได้มาซึ่งอำนาจของนักการเมืองและพรรคการเมืองต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าต่างหาก
พอพูดถึงการเลือกตั้งก็เกิดคำถามตามมาทันทีทันใด เลือกตั้งซ่อมเขต 3 นครศรีธรรมราช ทำไมกกต.จึงประกาศรับรอง อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ จากพรรคสืบทอดอำนาจรวดเร็วทันใจจัง ทั้งที่ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันเรื่องการซื้อเสียงอยู่ อะไรทำให้มั่นใจและมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ทุจริต โปร่งใส สมควรที่จะได้รับการรับรองโดยเร็ว ผิดกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา ถ้าไม่ห่วงเรื่องภาพลักษณ์เสียหาย ขาดความน่าเชื่อถือในสายตาของประชาชนก็ไม่เป็นไร หรือว่าได้ก้าวข้ามพ้นเรื่องเหล่านี้ไปแล้ว แต่ต้องเข้าใจยุคเผด็จการหน้าทนคนที่ได้ชื่อว่าเป็นลิ่วล้อพวกเดียวกันก็คงมีนิสัยไม่ต่างกัน