2 หุ้นเทิร์นอะราวด์แห่งปีนี้
หุ้นที่ผลประกอบการทรุดโทรมมายาวนาน และมีกำไรแย่ จนกระทั่งถูกนักวิเคราะห์และนักลงทุนเมิน ทั้งที่ผู้บริหารมีความสามารถในการปรับทิศทางของกิจการ ที่กลายเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์โดดเด่น แถมมีราคาต่ำเกินจริง น่าจะเป็นเป้าหมายของการซื้อสะสมที่ดีเด่นแห่งปี ที่จะขอแนะนำต่อไปนี้ ถือว่าของเขาดีจริงไม่มีหลอก
พลวัตปี 2021 : วิษณุ โชลิตกุล
หุ้นที่ผลประกอบการทรุดโทรมมายาวนาน และมีกำไรแย่ จนกระทั่งถูกนักวิเคราะห์และนักลงทุนเมิน ทั้งที่ผู้บริหารมีความสามารถในการปรับทิศทางของกิจการ ที่กลายเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์โดดเด่น แถมมีราคาต่ำเกินจริง น่าจะเป็นเป้าหมายของการซื้อสะสมที่ดีเด่นแห่งปี ที่จะขอแนะนำต่อไปนี้ ถือว่าของเขาดีจริงไม่มีหลอก
ใครจะบอกว่าเชียร์แบบมีอคติก็ว่ากันไป
หุ้นทั้งสองรายคือหุ้นบริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) หรือชื่อย่อว่า SELIC ผู้ผลิตกาวอุตสาหกรรมรายใหญ่ของไทย กับหุ้นบริษัท ธีระมงคล อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TMI ผู้ผลิตหลอดและอุปกรณ์ไฟฟ้ารายเล็กที่พยายามต่อสู้สร้างแบรนด์เองบนสงครามการแข่งขันอันดุเดือด
ทั้งสองรายนี้มีชะตากรรมที่ผ่านมาต่างกัน แต่มีลักษณะร่วมกันคือมีผู้บริหารที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่อดทนต่อสู้ชนิดกลืนเลือดเอาชนะอุปสรรคได้ดี จนพบทางสว่างให้ธุรกิจ
รายแรกเป็นผู้ผลิตกาวอุตสาหกรรมที่มีฐานลูกค้าแบบ B2B เหนียวแน่นเสมือนปิดทองหลังพระมายาวนาน ธุรกิจมีกำไรตลอด แต่ไม่มากพอจะดันราคาหุ้นที่หลุดจองไปต่ำใต้ 2.60 บาทมายาวนานนับแต่เข้าตลาดกันเลยทีเดียว แต่ด้วยความใจสู้ของผู้บริหารที่เข้าใจและอดทน เดินเกมเทคโอเวอร์กิจการเพื่อทำธุรกิจแบบ B2C ซึ่งมาทันผลิดอกออกผลในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาดพอดี
ผลลัพธ์จึงปรากฎเป็นยอดขายที่เติบโตสวยงามและกำไรเติบโตชนิดก้าวกระโดด จนถึงล่าสุด กล้าหาญออกหุ้นปันผล บวกเงินสดและเงินชดเชยสำหรับนักลงทุนที่ได้หุ้นเพิ่มทุนไม่ครบบอร์ดล็อต อีกต่างหาก รวมความแล้วจ่ายปันผลเฉลี่ยมากกว่า 15% ถือว่าจ่ายปันผลมากระดับหัวแถวของตลาดหุ้นไทยเลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการตั้งเป้าเติบโตอย่างมั่นใจยุคหลังโควิด-19 อีกด้วย ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นผลดียิ่งสำหรับนักลงทุนและผู้บริหาร
ความโดดเด่นทางผลการดำเนินงานของ SELIC ในปี 2563 ถือว่ายอดเยี่ยมมาก จากข้อมูลของนายเอก สุวัฒนพิมพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SELIC ระบุผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4/2563 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 22.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และงวดผลการดำเนินงานในปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 89.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% จากปีก่อน มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 85.81 ล้านบาท สร้างสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,260.33 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานมาจากทั้งสองธุรกิจ คือ รายได้จากธุรกิจกาวอุตสาหกรรมแบบเดิม B2B มีสัดส่วน 43% และรายได้จากธุรกิจสติ๊กเกอร์แบบ B2C อัตราส่วน 57%
ผลการดำเนินงานในปี 2563 นั้นถือเป็นจุดเริ่มของยุคใหม่ เพราะผู้บริหารยังมั่นใจว่า คาดว่าภาพรวมในปี 2564 น่าจะมีแนวโน้มที่ดีกว่าปีก่อน เนื่องจากสัญญาณบ่งชี้ต่าง ๆ เช่น การเริ่มมีการฉีดวัคซีนในบางประเทศ การปรับตัวของประชาชนในวิถีชีวิตและการป้องกันตนจากการติดเชื้อที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวด้านกลยุทธ์ เพื่อดำเนินธุรกิจให้ต่อเนื่อง รวมทั้งการด้านดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นจากเดิมทั้งในส่วนบุคคลและภาคธุรกิจ
กำไรสุทธิที่งดงามเป็นประวัติการณ์และกำไรสะสมที่มีพอสมควรแต่ยังไม่มากนักแค่ 173 ล้านบาท ทำให้วิศวกรรมการเงินที่ชาญฉลาดจ่ายปันผลแบบประหยัด โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดผลการดำเนินงานปี 2563 โดยจ่ายปันผลเป็นหุ้น ในอัตรา 3.299987 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล และจ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.0454547200 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 29 เม.ย. 2564 กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) ในวันที่ 30 เม.ย. 2564 ซึ่งจะมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 22 เม.ย. 2564
การจ่ายปันผลในรูปผสมทั้งเงินสด + เงินชดเชย-หุ้น ในอัตราเฉลี่ยประมาณ มากกว่า 0.50 บาทต่อหุ้น หรือมากกว่า 30% อาจจะถือเป็น dividend yield ที่โดดเด่นยิ่ง ยิ่งกว่าการจ่ายปันผลของหุ้นอย่าง ZIGA เสียด้วยซ้ำ
ใครที่คำนวณไม่เป็น ก็ไม่ควรซื้อหุ้นตัวนี้เอาเสียเลย เพราะต่อให้ซื้อหุ้นในราคาไหนก็ไม่ถือว่าแพงอย่างนี้ แล้วยังทำบื้ออีกก็ไม่รู้จะพูดอะไรแล้ว …ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่า หรือเก็งกำไร
อีกหุ้นหนึ่งที่ถือว่าน่าจะโดดเด่นในปี 2564 นี้ เพราะในปี 2563 แม้จะมีกำไรสุทธิในรอบหลายปี แต่ก็มาค่อนข้างช้าต้องรอถึงไตรมาสสุดท้ายของปี จึงโดดเด่นขึ้นมา หุ้นอย่าง TMI ที่ราคาต่ำเตี้ยใต้ 1.00 บาท จึงพรวดพราดขึ้นมา เพราะจากนี้ไป การขาดทุนเรื้อรังจะกลายเป็นอดีตเสียแล้ว
หลายปีมานี้ TMI เผชิญมรสุมจากภาวะ techno disruption ของธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เคยทำกันมายาวนาน เพราะถูกสินค้าจากจีนตีตลาดแหลกลาญ จนต้องปรับกลยุทธ์ใหม่อุตลุด มีตัวเลขขาดทุนสุทธิ 3 ปีต่อเนื่อง จนกำไรสะสมติดลบร้ายแรง แต่ด้วยความอดทนของทีมงานนำโดยคนหนุ่ม นายธีระชัย หัวเรือใหญ่ ดำเนินการเปลี่ยนกลยุทธ์จากการผลิตสินค้าแบบเดิม มาเป็นด้านหนึ่งการค้านำเข้า เพื่อความยืดหยุ่นเพื่อรักษาสภาพคล่องของกิจการ และอีกด้านหนึ่งลงทุนทำธุรกิจไฟฟ้าแบบ B2B ด้วยยุทธศาสตร์ long tail ที่ไม่ต้องแข่งกับใครด้วยการหันไปผลิตไฟฟ้าจากน้ำเสีย ซึ่งมีมาร์จิ้นสูงและไม่มีคู่แข่งในตลาด
ผลจากการปรับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจใหม่นี้ ทำให้การันตีว่าจากนี้ไปอีกยาวนาน รายได้และกำไรจากธุรกิจทั้งสองของ TMI จะยั่งยืนไปไม่ต่ำกว่า 15-20 ปีเลยทีเดียว
สำหรับผลการดำเนินงาน ในปี 2563 มีผลกำไรสุทธิ 14.09 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 264.25 มาจากรายได้จากการขายรวม ในปี 2563 เท่ากับ 447.86 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.25 อาจจะเป็นรายงานที่มองไม่เห็นการปรับเปลี่ยนทางจิตสำนึกและกลยุทธ์แห่งความสำเร็จครั้งใหม่ที่เปลี่ยนยุคสมัยมากนัก แต่ยืนยันได้ว่าเป็นของจริงแท้
การงดจ่ายปันผลเพราะงบการเงินปี 2563 ยังมีตัวเลขขาดทุนสะสมคงค้างอยู่ น่าจะเป็นปีสุดท้ายของอดีตที่ผ่านเลยไปพร้อมกันกับอนาคตสดใสที่รออยู่ข้างหน้า
ราคาหุ้น TMI ที่พุ่งพรวดขึ้นมาเหนือ 1.25 บาทจึงไม่น่าจะเป็นฝีมือประชาสัมพันธ์อันยิ่งใหญ่ของ เดอะ เวย์ คอมมูนิเคชั่นเป็นแน่ แต่มาจากนักลงทุนประเภท “นกมีหู ประตูมีช่อง” มากกว่า ว่า ไตรมาสที่สองของปีนี้ อาจจะสามารถล้างขาดทุนสะสมได้หมดจด
ข้อเท็จจริงในอนาคตเช่นนี้ อาจจะจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่คาดเดาได้ ถ้าดวงตาเห็นและบรรลุธรรม
หุ้นสองรายการนี้ อย่าได้ถามนักวิเคราะห์ก่อนซื้อเพราะอยู่นอกสายตาของนักวิเคราะห์มายาวนานจนแทบจะลืมไปเลยนานแล้ว