AOT-สีเขียว..ความเหมือนที่ต่าง.!?
การประชุมครม.วันที่ 17 พ.ย. 2563 มีวาระพิจารณาสำคัญคือการพิจารณาเรื่อง “ผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ของกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกทม.คู่สัญญากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BTSC ในเครือบีทีเอส ที่กระทรวงมหาดไทย เห็นชอบให้กทม.ต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เดิม) อีก 30 ปี (สิ้นสุดสัมปทานปี พ.ศ. 2602)
เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง
การประชุมครม.วันที่ 17 พ.ย. 2563 มีวาระพิจารณาสำคัญคือการพิจารณาเรื่อง “ผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ของกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกทม.คู่สัญญากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BTSC ในเครือบีทีเอส ที่กระทรวงมหาดไทย เห็นชอบให้กทม.ต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เดิม) อีก 30 ปี (สิ้นสุดสัมปทานปี พ.ศ. 2602)
โดยแลกกับหนี้สินและดอกเบี้ย ที่เกิดจากการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ที่รับโอนมาจากรฟม.) กว่า 120,000 ล้านบาท และเงื่อนไขค่าโดยสารสายสีเขียวไม่เกิน 65 บาทตลอดเส้นทาง..!!
แต่ก่อนประชุมครม.เพียงแค่ 1 วัน “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแลนโยบายเรื่องการขนส่งมวลชน มีหนังสือด่วนที่สุด เลขที่คค (ปคร) 0202/401 ลงวันที่ 16 พ.ย. 2563 ส่งถึงครม.ให้ความเห็นทำนอง “โต้แย้ง” การต่อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “อัตราค่าโดยสาร” ที่แพงเกินไปและอัตราเหมาะสมควรต่ำกว่า 65 บาทตลอดสาย
นั่นจึงทำให้วาระ “การต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี” ต้องค้างอยู่หน้าห้องประชุมครม.มาจนถึงทุกวันนี้..!!
ตามมาด้วย “โสภณ ซารัมย์” ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม ออกมาระบุว่า ที่ประชุมกมธ.การคมนาคม มีมติไม่เห็นด้วยที่จะให้ต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยหยิบยกเหตุเรื่องความโปร่งใสการต่ออายุสัมปทาน มีการอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ยกเว้นตามกระบวนการพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ที่กมธ. เห็นว่าแม้ใช้มาตรา 44 ยกเว้นได้ แต่เงื่อนไขเวลายังเหลืออยู่ จึงไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะใช้มาตรา 44 เพื่อการยกเว้นตามพ.ร.บ.ร่วมทุนดังกล่าว
สรุปว่า “กระทรวงคมนาคม” แทคทีม “พลพรรคภูมิใจไทย” เปิดหน้าคัดค้านการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกลุ่ม “คีรี กาญจนพาสน์” อย่างเปิดเผยและชัดเจน..!!
ขณะที่การขนส่งทางอากาศยาน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ที่มี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เป็น รัฐมนตรีว่าการคนเดียวกัน โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 70% มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาสัมปทานร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และพื้นที่เชิงพาณิชย์กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (เดิมมีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นตั้งแต่ 28 ก.ย. 2563 และสิ้นสุด 31 มี.ค. 2574) ของตระกูลศรีวัฒนประภา..!!
โดย AOT มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาสัมปทานธุรกิจดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบิน ระหว่าง AOT กับ “คิง เพาเวอร์” ถึง 3 ครั้งในหลายประเด็น โดยอ้างเหตุผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
โดยวันที่ 19 ก.พ. 2563 บอร์ด AOT มีมติยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำให้ผู้ที่ประกอบกิจการในสนามบิน 6 แห่ง (ตั้งแต่ 1 ก.พ. 2563-31 มี.ค. 2565 โดยให้ AOT เรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือน เป็น “ร้อยละ” ของรายได้จากยอดขายสินค้าปลอดอากรก่อนหักค่าใช้จ่าย ค่าภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แทน
จากเงื่อนไขการประมูล AOT จะมีวิธีเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้รับสัมปทาน 2 รูปแบบ คือ 1) จัดเก็บผล ประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนและรายปี (Minimum Guarantee) ตามข้อเสนอของผู้รับสัมปทาน 2) เก็บจากค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนเป็น “ร้อยละ” ของรายได้ หากวิธีไหนเมื่อคำนวณออกมาแล้ว AOT ได้เงินรายได้มากกว่า ก็ให้ใช้วิธีนั้น
กรณีดังกล่าวกลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในแวดวงคมนาคม แวดวงธุรกิจ และแวดวงตลาดหุ้นว่า การเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญาสัมปทานดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์เอกชนมากเกินไปจนทำให้ AOT ที่เป็นหน่วยงานรัฐสังกัดกระทรวงคมนาคม ต้องสูญเสียรายได้อันพึงเกิดจากสัญญาดังกล่าวไป..?
แต่ปรากฏการณ์พึงให้พิศวงคือ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแลผลประโยชน์ AOT กลับไม่มีท่าทีใด ๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ AOT อันพึงจะเสียไปจากการเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว เช่นเดียวกับกมธ.คมนาคมและพรรคภูมิใจไทย ที่ต่างออกมาเรียกร้องผลประโยชน์ประชาชน ผ่านการคัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างชนิด “ไม่มีการลดราวาศอก” กันเลยทีเดียว
ด้วยเหตุ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” เป็นของ “คีรี กาญจนพาสน์” หรือว่า “คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี” เป็นของตระกูล “ศรีวัฒนประภา” หรือใครคือผู้สนับสนุนนายใหญ่พรรคการเมืองไหนหรือไม่..ไม่รู้..!?
ที่แน่ ๆ ที่เหมือนกันทั้ง “คิงเพาเวอร์-AOT” และ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ล้วนอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม แต่ในทางปฏิบัติมันแตกต่างกันหรือไม่.. เท่านั้นเอง.!?