‘ฟรีโฟลต’ ยิ่งแก้ยิ่งมัด ยิ่งรัดยิ่งหลวม.!?

เงียบหายไปกว่า 2 เดือน เรื่อง “ฟรีโฟลต” ถูกหยิบขึ้นมาสู่วงประชาพิจารณ์อีกครั้ง หลังปรากฏการณ์ “หุ้นโฟลตต่ำชี้นำดัชนี” กรณีบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA (หุ้นขวัญใจผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์) ที่บิดเบือนดัชนีหุ้นไทยช่วงปลายปีที่ผ่านมา


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

เงียบหายไปกว่า 2 เดือน เรื่อง “ฟรีโฟลต” ถูกหยิบขึ้นมาสู่วงประชาพิจารณ์อีกครั้ง หลังปรากฏการณ์ “หุ้นโฟลตต่ำชี้นำดัชนี” กรณีบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA (หุ้นขวัญใจผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์) ที่บิดเบือนดัชนีหุ้นไทยช่วงปลายปีที่ผ่านมา

สรุปโดยภาพรวมคือราคาหุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำ (สภาพคล่องต่ำ) จึงผันผวนกว่าหุ้นที่มีฟรีโฟลตสูง (สภาพคล่องสูง) เมื่อผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนรายใหญ่เข้าทำการซื้อ-ขายในแต่ละครั้ง

หนึ่งในไอเดียตลาดหลักทรัพย์ ที่ส่งสัญญาณออกมา คือแนวคิดปรับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการคำนวณดัชนี จากเดิมที่ใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวณ (Full Market Capitalization) มาเป็นการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วย Free Float (Free Float Adjusted Market Capitalization) เพื่อให้ดัชนีสามารถสะท้อนสภาพการณ์ตลาดได้ดีมากขึ้นและเป็นไปตามแนวทางเดียวกับสากล

นั่นหมายถึง “ฟรีโฟลตต่ำ” จะเป็นตัวลดทอนมูลค่าตลาด (Market Cap) ตัวนั้น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.!!

ปัจจุบันเกณฑ์ “ฟรีโฟลต” กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่น้อยกว่า 150 รายและถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 15% หากสัดส่วนฟรีโฟลตต่ำกว่าเกณฑ์ดังกล่าว ปีแรกจะได้รับการแจ้งเตือนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้มีการแก้ไข แต่หากยังต่ำกว่าเกณฑ์เป็นปีที่ 2 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศชื่อให้นักลงทุนได้รับรู้เป็นการทั่วไป และบริษัทต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีส่วนเพิ่ม พร้อมต้องส่งรายงานความคืบหน้าการแก้ไขฟรีโฟลตทุก 6 เดือน

ปัจจุบันมีการเตือนนักลงทุนด้วยเครื่องหมายต่าง ๆ ท้ายชื่อหุ้นแต่ละตัว หุ้นที่เข้าข่ายมาตรการกำกับมีเครื่องหมาย T แสดงถึงการติดแคชบาลานซ์ (Cash Balance) ของหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติ โดยไล่ระดับตามความเข้มงวด ตั้งแต่ T1 T2 และ T3 และตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งสัญญาณว่า หลังมีการปรับทบทวนมาตรการกำกับหุ้นที่มีสัดส่วนรายย่อยต่ำแล้ว อาจมีการเตือนเรื่องนี้กับนักลงทุนเพิ่มเติมจากการติดแคชบาลานซ์ด้วยเช่นกัน

ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่เคยมีการเพิกถอนหุ้น จากกรณี “ฟรีโฟลตต่ำกว่าเกณฑ์” แต่อย่างใด

สิ่งที่ท้าทายไอเดียตลาดหลักทรัพย์ฯ หากทุบโต๊ะเอาแบบ “มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยฟรีโฟลต” เห็นทีต้องมาจัดเรียงหุ้นใน SET50 และ SET100 กันใหม่ เพราะ “หุ้นขนาดใหญ่” หลายหุ้นที่เป็นแม่เหล็กตลาดหุ้นไทย จะถูกย่อส่วน “มาร์เก็ตแคป” ลงทันที ในทางกลับกัน “หุ้นขนาดกลาง” ที่ฟรีโฟลตสูงได้ทีเบ่งกล้ามผงาด แต่ไร้รสชาติแรงดึงดูดการลงทุน จนไม่รู้ว่าสุดท้ายกลายเป็นการ “แก้ปัญหาเก่า..เพื่อเจอปัญหาใหม่” หรือไม่

ประเด็นอยู่ที่ว่าก่อนจะไปถึง “มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยฟรีโฟลต” อาจต้องหันกลับมาดูนิยามคำว่า “ฟรีโฟลตที่แท้จริง” ก่อนหรือไม่ เนื่องจากหลายบริษัทที่แม้มี “ฟรีโฟลต” ตามเกณฑ์ตลาดก็จริง แต่กลายเป็น “ฟรีโฟลตซ่อนรูป” ที่อำพรางตัวมาในรูปนักลงทุนสถาบัน, กองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวทฟันด์) ที่แบ่งทีมเข้ามาถือหุ้นต่ำกว่า 5% แฝงตัวเป็นนักลงทุนรายย่อย เพื่อใช้หลบเลี่ยงเงื่อนไข “นักลงทุนรายใหญ่” นั่นเอง..

ต้องจับตาว่าการแก้ปัญหา “หุ้นฟรีโฟลตต่ำ” สุดท้ายจะกลายเป็น “ยิ่งแก้ยิ่งมัด ยิ่งรัดยิ่งหลวม” ไปหรือไม่..แต่ก็เชื่อว่าด้วยความรู้และความสามารถของคนในแวดวงตลาดหุ้น…คงไม่ปล่อยให้เป็นเช่นนั้นกระมัง..!!?

Back to top button